วันนี้ (24 สิงหาคม 2565) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ภายหลังจากฝ่ายค้านยื่นให้ตีความกรณีวาระดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ว่าขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ โดยศาลมีมติ ‘รับเรื่อง’ และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา และทำให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 ขึ้นเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาอาจใช้เวลานานถึง 1 เดือน

สำหรับประเด็นที่ฝ่ายค้านยื่นตีความเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 82 โดยระบุคำร้องไว้ 2 ประการ คือ

1. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรค 2 และมาตรา 158 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่

2. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

สำหรับแนวทางการตัดสิน มีความเป็นไปได้ทั้งหมด 3 แนวทางด้วยกัน

1. ควรนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ดังนั้น วันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งควรจะเป็นวันที่ 24 สิงหาคม 2565

2. ควรนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เท่านั้น เนื่องจากผู้สนับสนุนแนวคิดนี้มองว่า หลังการรัฐประหาร 2557 พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 และตามหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมทั่วไป จะบังคับใช้กฎหมายในทางเป็นโทษกับบุคคลย้อนหลังไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 158 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงช่วงรัฐประหารได้ หากพิจารณาตามแนวทางนี้ วันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งคือวันที่ 8 มิถุนายน 2570 หรือหมายความว่าพลเอกประยุทธ์สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งวาระหน้าได้อีก

3. ควรนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันแรกที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ และเป็นวันแรกที่มาตรา 158 มีผลบังคับใช้เช่นกัน หากพิจารณาตามแนวทางนี้ วันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งคือวันที่ 5 เมษายน 2568

Tags: