วันนี้ (26 กรกฎาคม 2565) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ที่คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี บนที่ดินพระราชทาน 300 ไร่ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 10,974 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2566-2570 และเห็นชอบการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 จำนวน 1,109 ล้านบาท โดยการสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่บนที่ดินพระราชทานแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 จำนวน 5,388 ล้านบาท ครม.เห็นชอบไปแล้วเมื่อต้นปี และระยะที่ 2 จำนวน 4,330 ล้านบาท

พื้นที่โครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่จะแบ่งเป็นส่วนจัดแสดงสัตว์และนิทรรศการ 171 ไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วมและถนน 42 ไร่ พื้นที่ส่วนบริหารและวิจัย 33 ไร่ สวนเฉลิมพระเกียรติ 21 ไร่ พื้นที่ส่วนกลางและเชิงพาณิชย์ 18 ไร่ และพื้นที่จอดรถ 15 ไร่ คาดว่าจะเปิดบริการระยะแรกปี 2569 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2571

สำหรับสวนสัตว์ดังกล่าวเป็นสวนสัตว์ที่สร้างขึ้นทดแทนสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา สวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2441 และปิดให้บริการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรับพระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 300 ไร่ ส่วนสาเหตุการย้ายไปยังที่ใหม่เนื่องจากที่เก่านั้นมีพื้นที่คับแคบและไม่เพียงพอกับจำนวนสัตว์และนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน

ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีตอนหนึ่งด้วยว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์ EV ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เป็นการลดภาษีรถที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2568 ลง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศ ทั้งนี้ คาดว่ามีรถใช้พลังงานไฟฟ้า 1.23 แสนคัน ซึ่งการลดภาษีดังกล่าว จะทำให้รัฐเสียรายได้ภาษีประมาณ 19 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เว้นอากรศุลกากร สำหรับยนต์ EV ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผลิตในปี 2565-2568 โดยมีสาระสำคัญว่า การยกเว้นภาษีอากรสำหรับรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีคนนั่งไม่เกิน 10 คน และรถยนต์กระบะ EV ที่ผลิตในเขตประกอบการตามกฎหมายศุลกากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2568 ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนด

ธนกรยังระบุด้วยว่า การยกเว้นภาษียานยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท และการสูญเสียรายได้อาจสูงขึ้นตามความต้องการในประเทศ แต่จะเพิ่มแรงจูงใจสำคัญในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

Tags: ,