ปัญหา ‘หมูแพง’ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ หลักฐานสำคัญค่อยๆ ผุดขึ้นมาทีละนิดว่า แท้จริงแล้ว หมูแพงนั้นมาจากต้นตอที่สำคัญคือการ ‘ตาย’ จำนวนมากของหมู และการล่มสลายของฟาร์มหมูหลายแห่งตลอดปี 2564 ด้วยสาเหตุสำคัญคือการระบาดของโรค ซึ่งอาจหมายรวมถึงโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African Swine Fever Virus: ASF) โรคที่ระบาดไปยัง 35 ประเทศทั่วโลก โรคที่ไม่มียาและวัคซีนในการรักษา และโรคที่รัฐบาลไทย รวมถึงกรมปศุสัตว์ปฏิเสธมาตลอดว่า ‘ไม่มีการระบาด’
แต่ข้อมูลดังกล่าวกลับถูกหักล้างโดยสิ้นเชิง ทั้งจากข้อมูลที่รัฐบาลอนุมัติจ่ายค่าชดเชยกรณีที่ต้องฆ่าหมู ตั้งแต่กลางปี 2564 หรือกรณีที่กลุ่มคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จากหลายมหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 ว่ามีการระบาดของโรค ASF จริงในหมูแคระ ท่ามกลางกระแสข่าวลืออย่างหนาหู ให้ ‘เกษตรกร’ และ ‘ฟาร์มหมู’ ทั่วประเทศร่วมกัน ‘เหยียบ’ ข่าว ASF ให้เป็นความลับ เพราะหากยอมรับว่ามีการระบาด อาจทำให้หมูที่เหลือน้อยอยู่แล้ว ต้องถูกฆ่าทิ้งทั้งหมด และจะยิ่งทำให้หมูไทยมีปัญหาเรื่องการส่งออก
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ The Momentum ชวน ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และอดีตนายสัตวแพทย์ ว่าเขาเห็นอย่างไรเกี่ยวกับโรค ASF และวงจรของการ ‘ปิดข่าว’ จากรัฐไทย
‘ปดิพัทธ์’ เริ่มอธิบายถึงจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของ ‘โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู’ โดยคาดว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2562 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
“ผมเริ่มติดตามปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูตั้งแต่ปี 2562 โดยคาดว่ามีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดเชียงราย ผมเคยนำปัญหาดังกล่าวมาอภิปรายในสภาเมื่อปี 2564 เพราะหากประเมินสถานการณ์ ณ ขณะนั้น เชื้อโรคเริ่มระบาดลามไปในฟาร์มหมูขนาดใหญ่หลายแห่ง
“ถ้าถามว่ารัฐมีส่วนตั้งใจให้ฟาร์มหมูปกปิดข่าวการแพร่ระบาดจริงหรือไม่ ผมอาจตอบไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการที่จะยืนยันได้ว่ามีการแพร่ระบาดจริง จำเป็นต้องใช้ผลแล็บชันสูตรของกรมปศุสัตว์ เนื่องจากหลักฐานชันสูตรรอยโรคในหมูที่ตายมีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคเพิร์ส PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ”
ทว่าปดิพัทธ์สังเกตเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2562 ในช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาด ผู้ประกอบการฟาร์มหมูรายย่อยไม่ได้คำตอบว่าหมูตายเพราะอะไร แล้วทำไมต้องทำลายหมูด้วยการฝัง สิ่งเดียวที่รู้คือกรมปศุสัตว์อ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และจะชดเชยค่าเสียหายให้ 75% เท่านั้น
“เมื่อสัตวแพทย์ในพื้นที่ระบาดเห็นอาการและรอยโรค ก็สามารถสันนิษฐานได้ชัดเจนว่ามีการแพร่ระบาดของอหิวาต์แอฟริกาจริง แต่ผลตรวจเลือดที่ส่งไปให้กับกรมปศุสัตว์กลับไม่ได้รับผลยืนยันตรงกัน จนเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏผลตรวจยืนยันจากแล็บมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่ามีหมูตายด้วยโรคอหิวาต์แอฟริกาจริงๆ
“เรื่องนี้ พอหมูของผู้ประกอบการตายแบบไม่ทราบสาเหตุ เขาก็ต้องหาทางลักลอบฆ่าหมูและชำแหละเนื้อขายในราคาที่ถูกลง โดยไม่รอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ และเมื่อเนื้อหมูถูกขายตามท้องตลาดในราคาต่ำกว่าปกติ บรรดาโบรกเกอร์ก็หาลู่ทางกระจายเนื้อหมูไปในตลาดอื่นๆ เพื่อทำกำไร ผลลัพธ์คือเพิ่มโอกาสให้เชื้ออหิวาต์แอฟริกากระจายปนเปื้อนจากฟาร์มหนึ่งสู่อีกฟาร์มหนึ่ง หรือจากตลาดหนึ่งไปอีกตลาดหนึ่งทั่วประเทศ พอถึงปี 2564 เชื้อเริ่มแพร่กระจายไปในฟาร์มหมูขนาดใหญ่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ซึ่งสองภาคหลังมีฟาร์มหมูอยู่หลายแห่ง ทำให้ปริมาณเนื้อหมูขาดตลาดอย่างรวดเร็ว”
ทั้งหมดนี้คือวงจรของการปิดข่าว และการกระจายของโรค ASF แบบเงียบๆ ซึ่งทำให้หมูไทยมาถึงจุดนี้ จุดที่หมูล้มตายกว่า 30% ในปี 2564 เพียงปีเดียว จุดที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ในปี 2565 หมูจะเหลือในระบบเพียง 13 ล้านตัว ทั้งที่ความต้องการบริโภคหมูในประเทศอยู่ที่ 18 ล้านตัว และหากยังจัดการกับ ASF ไม่ได้ ก็คาดว่าหมูจะตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ความจริงเราน่าจะต้องเห็นข่าวนี้ผ่านตาตั้งแต่ปี 2562 มีการฆ่าหมูราว 2,000 ตัว และทิ้งลงแม่น้ำฝั่งท่าขี้เหล็ก หรือข่าวลือฆ่าฝังกลบหมูยกเล้า แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เลือกที่จะนิ่งเฉย และหากเรามองประเทศอื่นที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้เหมือนกันอย่างจีนหรือเวียดนาม จะเห็นว่ามีการประกาศให้ประชาชนทราบอย่างตรงไปตรงมา มีการจัดสรรงบประมาณแก้ไขแบบเป็นเอกภาพ แต่พอเราไม่ประกาศเลยกลายเป็นการเอาตัวรอดแบบฟาร์มใครฟาร์มมันจนเละเทะไปหมด”
ส่วนคำถามถึงข่าวลือที่ว่า หากผู้ประกอบการฟาร์มหมูออกมาให้ข้อมูลว่ามีการเกิดโรคติดต่อจริง จะถูกทางกรมปศุสัตว์ยึดใบอนุญาต ปดิพัทธ์มองว่าอาจเป็นไปได้ และสาเหตุสำคัญที่ภาครัฐจงใจปิดข่าวเพราะเผชิญกับปัญหาการส่งออกเนื้อหมูไปต่างประเทศ
“ต้องขอแยกคำตอบเป็น 2 ข้อ คือ
1. หากฟาร์มไหนมีการแพร่ระบาด ถ้าเจ้าของไร้ความรับผิดชอบก็อาจเลือกปิดข่าวไว้ เพราะกลัวถูกสั่งฆ่าหมูยกเล้าเพื่อป้องกัน ทว่าคำถามสำคัญคือ เมื่อฟาร์มปกปิด เจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นกับการปกปิดนี้ด้วยหรือไม่
2. ผมอาจไม่ได้คุยกับเจ้าของฟาร์มเยอะ แต่ผมได้คุยกับสัตวแพทย์ในพื้นที่ที่เกิดการระบาด เขาให้เหตุผลว่าเจ้าของฟาร์มหรือเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ไม่กล้าให้ข้อมูลเพราะมีแรงกดดันบางอย่างบีบบังคับ ถ้ามองตามความจริง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่ามีการระบาดมาเกือบ 3 ปี เพิ่งจะมีรายงานผลบวกเป็นครั้งแรกไม่กี่วันมานี้ นี่คือความล้มเหลวในระบบราชการ
“ผมไม่ทราบว่าทำไมรัฐถึงไม่กล้าออกมาพูดเรื่องนี้ อาจเพราะกลัวว่าต้องรับผิดชอบก็เป็นได้ แต่ปัจจัยหลักน่าจะเป็นเพราะเหตุผลเรื่องธุรกิจการส่งออก ด้วยตามข้อกำหนดของ OIE องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties) ที่ดูแลเรื่องโรคระบาดระหว่างประเทศ โรค ASF อยู่ในรายชื่อที่ห้ามส่งออก เพราะโรคดังกล่าวสามารถปนเปื้อน และกลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่อาหารแปรรูปต่างๆ เช่น แฮม ไส้กรอก ลูกชิ้น ยิ่งถ้ารัฐบาลประกาศออกไปว่ามีการแพร่ระบาดของโรคจริง ผลคือต้องถูกตัดสิทธิห้ามส่งออกอย่างน้อย 5-7 ปี และจะไปกระทบต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้จำหน่ายส่งออกเนื้อหมู”
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ว่ารัฐกำลังแลกผลประโยชน์ธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ กับชีวิตผู้ประกอบการรายย่อยที่เจ๊งไปแล้วกว่า 5 แสนราย
“ถ้าเป็นรัฐบาลที่ฟังเสียงข้างมาก ย่อมต้องหันมามองผู้ประกอบการรายย่อยก่อน แต่ถ้ารัฐเลือกคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของบริษัทรายใหญ่หรือบริษัทส่งออกข้ามชาติ ในส่วนของอธิบดีกรมปศุสัตว์ที่เป็นสัตวแพทย์ ผมมองว่าถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้นแต่ยังไม่กล้าออกมาประกาศ คุณก็แทบจะหมดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และมีค่าแค่เป็นเครื่องมือให้กับรัฐ”
เมื่อถามถึงมาตรการแก้ไขปัญหา ปดิพัทธ์เสนอว่า รัฐบาลควรรีบประกาศว่ามีการแพร่ระบาดจริง ควรรีบระดมสมองจากนักวิชาการและผู้ประกอบการฟาร์มหมู มาร่วมช่วยแก้ปัญหาก่อนสถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
“ประตูโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยที่โดนโรคอหิวาต์แอฟริกาเล่นงานแทบจะเป็นศูนย์ ถ้าจะกลับมาทำใหม่ก็ต้องทำในลักษณะอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ มีระบบ Biosecurity หรือความปลอดภัยทางชีวภาพที่สูงมากพอเพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำ รวมถึงต้องหาทางแก้ปัญหาภาวะหนี้สินติดตัวของบรรดาผู้ประกอบการปศุสัตว์”
นอกจากนี้ ปดิพัทธ์ยังเสนอให้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยตรง เพราะแน่นอนว่าปัญหาระยะสั้นจะทยอยมาเรื่อยๆ คนในประเทศจะไม่มีหมูให้บริโภค ประชาชนจะหันไปบริโภคเนื้อไก่ ไข่ และอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้ราคาสูงขึ้นตามมา อีกทั้งงบประมาณอาหารกลางวันเด็กของกระทรวงศึกษาธิการ หรือค่าอาหารผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเหล่านี้ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น สวนทางกับงบประมาณที่มีอยู่เท่าเดิม เป็นผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่
“ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐบาลต้องวางทิศทางปศุสัตว์ใหม่ จะทำอย่างไรให้ Supply เนื้อหมูกลับมาเท่าเดิม ในช่วงเวลาที่รับรู้แล้วว่ามีการแพร่ระบาดของโรค ตรงนี้มีแบบแผนหรือตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศอื่น เพียงแค่ยังไม่ได้นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย เพราะถ้าทำตามต่างประเทศหมด จะเหลือผู้ประกอบการไม่กี่เจ้าที่สามารถทำตามได้ ซึ่งทั้งหมด ต้องมองถึงปัจจัยและต้นทุนของผู้ประกอบการรายเล็กกับรายกลางด้วย โดยรัฐบาลควรรีบขอวิสัยทัศน์จากนักวิชาการ พร้อมให้ทุกฟาร์มมีส่วนร่วมวางแผนแก้ไขปัญหาโดยด่วน
“สุดท้าย ถ้าถามว่าราคาเนื้อหมูจะทะลุเพดานแตะถึงกิโลกรัมละ 300 บาทไหม ถึงแน่นอนครับ ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ และผมเชื่อว่าทั้งนักวิชาการหรือผู้ประกอบการรายย่อยจะออกมาเปิดหน้าชนจนกว่ารัฐจะเอ่ยปากยอมรับปัญหา”
Tags: อหิวาต์หมู, หมูแพง, โรคระบาดหมู