วันนี้ (9 มิถุนายน 2565) เฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือการจัดแสดงดนตรีและสร้างเศรษฐกิจชุมชน บริเวณสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ เขตพระนคร โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องเอราวัณ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
หลังจากการประชุม เฉลิมพล เผยว่ากิจกรรมที่เตรียมจัดขึ้น เป็น 1 ในนโยบาย ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่มุ่งสร้างเมืองกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง ให้ทุกคนมีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงศิลปินได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงานของตนเอง
โดยการจัดแสดงดนตรีในสวน ณ บริเวณสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ จะมีกำหนดทุกวันเสาร์เวลาประมาณ 16.00–19.00 น. ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2565 เป็นการแสดงดนตรีในรูปแจ๊สและคลาสสิค หลังจากนั้นจะมีการหมุนเวียนแนวดนตรีในสัปดาห์ต่อไป เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการฟังดนตรี
นอกจากนี้พื้นที่บริเวณสวนสาธารณะป้อมมหากาฬจะเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าเข้ามาจำหน่ายสินค้าในขณะที่มีการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนด้วย เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่วนบริเวณอาคารพระยาญาณประกาศซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่จะจัดสถานที่คล้ายร้านจำหน่ายกาแฟ ให้ประชาชนที่เข้ามาพักผ่อนได้นั่งจิบกาแฟพร้อมกับฟังเพลงไปพร้อมๆ กันได้
ในอนาคตข้างหน้า เฉลิมพล กล่าวว่าจะเพิ่มกิจกรรมให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การจัดฝึกอาชีพให้กับผู้ที่มาชมดนตรีในสวนด้วย รวมไปถึงการเปิดเวทีให้กับผู้พิการและเด็กพิเศษ ได้มาแสดงความสามารถทางดนตรี ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนประชาชนชาวกรุงเทพฯ มาร่วมกิจกรรมดนตรีในสวนที่สวนสาธารณะป้อมมหากาฬกันเยอะๆ อีกทั้งยังเน้นย้ำกว่าจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะดำเนิยภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 จึงขอให้ผู้ที่จะมาร่วมกิจกรรมดนตรีในสวนได้สวมหน้ากากอนามัยในการร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปในปี 2559 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ในขณะนั้นเคยได้ทำการบุกรื้อบ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนอายุกว่า 50 ปี ขนาด 4 ไร่ 300 ตารางวา ออกนอกพื้นที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์แสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาและวิถีชีวิตของพื้นที่บริเวณรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน 2535 ส่งผลให้คนในชุมชนที่เหลือกว่า 56 หลังคาเรือนต้องทยอยย้ายไปออกไปจากพื้นที่
ในขณะเดียวกัน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม Trawell ในขณะนั้น ไม่เห็นด้วยต้องมาตรการรื้อถอนบ้านเรือนในป้อมมหากาฬ และพยายามเสนอทางออกต่อกรุงเทพมหานครทั้งในข้อกฏหมายและรูปแบบการดำรงอยู่ของชุมชนป้อมมหากาฬร่วมกับการดำเนินงานของภาครัฐที่ยั่งยืน แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ในการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ง ชัชชาติได้พาศานนท์เดินมายังบริเวณสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ ซึ่งชัชชาติพูดในไลฟ์ว่าน่าเสียดายพื้นที่นี้ ที่ดูเหงา และไม่มีชีวิตชีวา
ขณะที่ ศานนท์ ระบุตอนหนึ่งว่า ไม่ค่อยอยากเข้ามาพื้นที่นี้ เพราะมีความหลัง แต่ชัชชาติ ระบุว่า อดีตเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เป็นบทเรียนมองถึงอนาคตว่าจะทำพื้นที่อย่างไรให้มีคุณค่า ทำอย่างไรให้เป็นแหล่งวัฒนธรรม แหล่งการเรียนรู้ ต่อไป
ภาพ: สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร
Tags: ป้อมมหากาฬ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ดนตรีในสวน, Report, อัศวิน ขวัญเมือง