วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2565) ที่สถานีตำรวจภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ทัศนัย เศรษฐเสรี และศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหากรณี อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ได้แจ้งความกล่าวหาว่าทั้ง 3 คนบุกเข้าไปอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นฯ ในคดีตัดโซ่ บุกรุกหอนิทรรศการศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ฯ มช.)
เวลาประมาณ 13.00 น. ตามเวลานัดหมาย ทั้ง 3 คนมารายงานตัวพร้อมนำป้ายข้อความต่างๆ มาแสดงจุดยืนเช่น “หากไร้ซึ่งเสรีภาพจะมีศิลปะไว้ทำไม” และ “ศิลปะสั้น คดียืดยาว” ต่อมาตำรวจได้เข้ายึดและทำลายป้ายข้อความทั้งหมดจนทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนจนผู้อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวต้องตะโกนบอกว่า “ตำรวจใจเย็นๆ ควบคุมอารมณ์หน่อย” ส่งผลให้นักศึกษาได้รับบาดเจ็บ 1 ราย
นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาให้กำลังใจในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้ด้วย เช่น ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ทั้งนี้ ปิ่นแก้วได้ให้สัมภาษณ์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “กรณีนี้ คณะผู้บริหารถ้ายังมีสติอยู่ก็ขอให้ถอนฟ้องคดี มันเป็นคดีที่ไร้สาระ และอย่างที่ดิฉันบอกคือ อยากให้สอบสวนเรื่องนี้ว่าเหตุเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ชุดที่แล้วใช้อำนาจเกินกว่าเหตุหรือไม่?”
วันเดียวกันนี้ กรรมาธิการสามัญคุ้มครองนักศึกษาจากการถูกคุกคามโดยรัฐในกรณีทางการเมือง สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องและตั้งคำถามต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 ข้อ ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะต้องแสดงจุดยืนเพื่อรักษาเสรีภาพทางวิชาการไว้โดยต้องมีคำสั่งถอนฟ้อง
2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะต้องเรียกสอบวินัย อัศวิณีย์ หวานจริง ในฐานะบุคลากรในปกครองของมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีเหตุให้เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยต่อการศึกษาแต่เป็นไปด้วยความอาฆาตมาดร้ายต่อนักศึกษาที่เป็นคู่กรณีในหลายกรรมหลายวาระ
3. มหาวิทยาลัยต้องออกมาชี้แจงสื่อสารต่อสาธารณะว่าการแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้เป็นความประสงค์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือไม่? และมหาวิทยาลัยมีจุดยืนอย่างไรต่อเสรีภาพทางวิชาการและบริการที่เป็นคุณต่อนักศึกษาในการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการศึกษา และมหาวิทยาลัยจะรับประกันอย่างไรเพื่อไม่ให้บุคลากรฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยกระทำการคุกคาม หรือใช้คดีความเป็นเครื่องมือเพื่อข่มขู่นักศึกษา,บุคลากร และประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก
คดีบุกรุกหอศิลป์ตัดโซ่ คืออะไร?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับคณะอาจารย์ที่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของนักศึกษา นำโดย ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ายึดพื้นที่บริเวณ หอศิลป์ฯ มช. โดยนักศึกษา ได้ใช้เครื่องมือตัดโซ่คล้องกุญแจ หลังจากทางมหาวิทยาลัยล็อกประตูหอศิลป์ฯ มช. และไม่อนุญาตให้ผลงานของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าจัดแสดงในพื้นที่
ทั้งนี้ เนื่องจากงาน Whiplash นิทรรศการแสดงรวมธีสิสของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิจิตรศิลป์ มีกำหนดการแสดงในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564 และนักศึกษาต้องนำงานผลงานเข้าติดตั้งจัดแสดงในพื้นที่ภายในวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564 ตามกำหนดการเดิมที่เคยขออนุญาตใช้พื้นที่ และทางหอศิลป์ฯ แจ้งกลับมาว่า ตารางการจัดกิจกรรมว่างตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมถึง 25 ตุลาคม 2564 แต่ทางผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์กลับยังไม่อนุมัติการใช้พื้นที่ โดยอ้างว่าผลงานของนักศึกษามีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมถึงพยายามยื้อเวลาด้วยการขอเอกสารชี้แจงรายละเอียดงาน และการประชุมหารือภายใน โดยวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ กลับมา
เมื่อถึงกำหนดการการจัดเตรียมพื้นที่ แต่ยังไร้คำตอบจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางนักศึกษาจึงเข้ายึดพื้นที่หอศิลป์ฯ เพื่อเข้าจัดเตรียมงานนิทรรศการตามตารางงานที่วางไว้ แต่ทั้งนี้นักศึกษาไม่สามารถจัดเตรียมงานได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถใช้น้ำและไฟจากอาคารได้ สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด ทางนักศึกษาจึงต้องหาทางออกโดยการหาเครื่องปั่นไฟเพื่อใช้ในการจัดตั้งผลงานให้เป็นไปตามกำหนดการ
ด้านนักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้เน้นย้ำ 4 ข้อเรียกร้องต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้
1. ขอใช้พื้นที่ตามเวลาที่จับจองเอาไว้
2. จะไม่มีการปรับแก้งานที่ทางคณะบอกว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง
3. ให้มหาวิทยาลัยพิจารณาเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารวิจิตรศิลป์ชุดนี้
4.ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกมารับรองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
ก่อนหน้านี้นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับคณะอาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยต่อมาตรการของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยถูกกลุ่มผู้บริหารคณะ เก็บผลงานศิลปะลงถุงขยะดำ เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้องกับเรื่องการเมือง จนทัศนัย ต้องออกมาปกป้อง และกลายเป็นกระแสร้อนแรงในสังคมจนเป็นที่มาของวลีเช่น “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร”
Tags: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิจิตรศิลป์