หลักสูตร ‘กอส.’ หรือหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเปิดอบรมทุกปี กลายเป็นที่จับตามองในช่วงหลายวันที่ผ่านมา หลังจาก ‘เพจเพื่อนตำรวจ’ เปิดเผยการเลื่อนยศ 8 ชั้นของตำรวจหญิง ‘แคท-อาทิติยา เบ็ญจะปัก’ จากสิบตำรวจตรี (ส.ต.ต.) สู่ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.) ภายในเวลา 4 ปี เพียงเพราะเข้าฝึกอบรมหลักสูตร ‘กอส.’

“จาก ส.ต.ต.หญิง สู่ ร.ต.อ.หญิง ใช้เวลาไม่ถึง 3-4 ปี  ผมที่เป็นตำรวจมา 9 ปีจะติดจ่าปีหน้า เปิดสอบมีแต่สายอำนวยการ กว่าจะเปิดแต่ละปี เปิดเเต่ละทีก็รับน้อย สายปราบปรามก็มีแต่ให้ลง 3 จังหวัดชายแดนใต้ สาย กอส. กอป. ก็รู้ๆ กันในตำรวจเรา นามสกุลดังๆ ทั้งนั้นมาบรรจุ ส.ต.ต. ปีเดียวก็ขึ้นสัญญาบัตรกันหมดแล้ว งานการสายตำรวจไม่รู้ทำกันเป็นรึเปล่า แอ็คเท่ สวยหล่อ เอาเวลาไปอัปสตอรี่ไอจี อัปติ๊กต็อก โพสต์เฟซอวดตัวเอง ผู้บังคับบัญชาก็ชื่นชมว่าเป็นหน้าเป็นตาของสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ” ข้อความจากเพจเพื่อนตำรวจ

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวว่า หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอส.) เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งบรรจุจากบุคคลภายนอก เช่น ทายาทตำรวจ ผู้มีวุฒิปริญญาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน และนายแพทย์ 

กรณีของ ร.ต.อ.แคท-อาทิติยา มีวุฒิปริญญา ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ และผ่านการอบรมฯ หลักสูตร กอส. ตามที่กำหนด จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ได้รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ โดยการเลื่อนยศดังกล่าว เป็นไปตามกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งยศ พ.ศ. 2554 ข้อ 8.2.8 ที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับยศสูงขึ้น ต้องครองยศตามจำนวนปีที่รับราชการ ยกเว้นผู้ที่บรรจุในคุณวุฒิปริญญาโท ให้รับราชการในชั้นยศร้อยตำรวจตรี 1 ปี และร้อยตำรวจโท 1 ปี

ต่อมาเมื่อวานนี้ (9 มิถุนายน 2566) หลังผู้กองแคท-อาทิติยาโพสต์ขอโทษผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่มีเจตนาอวดอ้าง หรือกระทำการสิ่งใดที่ไปกระทบจิตใจเพื่อนๆ พี่ๆ ข้าราชการตำรวจ และสัญญาจะตั้งใจทำงาน ด้านเพจเพื่อนตำรวจออกมาโต้กลับว่า ไม่ได้สนใจเรื่องการโอ้อวด แต่ต้องการทราบว่าเข้ามารับราชการตำรวจได้ด้วยวิธีการใด พร้อมตั้งคำถามถึงหลักเกณฑ์ของหลักสูตร กอส. ว่า บางตำแหน่งเป็นตำแหน่งที่ขาดแคลนจริงหรือ นอกจากนี้ยังโพสต์อีกว่า “อยากเห็นประกาศรับสมัครกับคะแนนสอบหลักสูตร กอส. จาก กองการสอบ”

ด้านโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวในประเด็นผู้กองแคท-อาทิติยา อีกครั้งว่า เนื่องจากสำนักเลขานุการตำรวจแห่งชาติมีตำแหน่ง ‘พิธีกรในงานสำคัญ’ ที่ว่างอยู่จึงเปิดรับสมัคร โดยให้ผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์มาบรรจุเป็นยศสิบตำรวจตรีก่อน และไปอบรมหลักสูตร กอส. มีการเลื่อนยศตามระเบียบของ ก.ตร. ในรุ่นเดียวกับผู้กองแคท-อาทิตยาประมาณ 300 คน ย้ำไม่มีใครขึ้นยศเร็วหรือช้ากว่าใคร ทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์

หลักสูตร ‘กอส.’ หรือตั๋วลัดความสำเร็จบนเส้นทางสีกากี

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล เปิดเผยเงื่อนไขของหลักสูตร กอส. โดยระบุว่า “หลักสูตร กอส. ที่ให้บุคคลภายนอกมาเป็นตำรวจ จะมีที่มาคือ 1. เป็นทายาทของตำรวจที่เสียชีวิตในหน้าที่ 2. มีคุณวุฒิที่ขาดแคลน และ 3. เป็นนามสกุลดังที่ขาดแคลน” 

ทั้งยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ว่ากอส. เป็นหลักสูตรที่เข้าใจว่าเดิมทีวางไว้สำหรับการเปิดรับคนที่มีวุฒิการศึกษาบางอย่างที่ทางตำรวจเล็งเห็นว่าจะช่วยให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไปๆ มาๆ อาจจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะพบว่าคนที่ผ่านหลักสูตรนี้หลายคนมีนามสกุลดัง เบื้องต้นได้รายชื่อของปี 2566 มาแล้ว คงต้องไปดูปีอื่นๆ ก่อนหน้าด้วย เพื่อตรวจสอบว่า หลักสูตรนี้ยังคงเป็นตามจุดประสงค์เดิมหรือไม่ หรือกลายเป็นเรื่องการใช้เส้นสาย หรือตั๋วชนิดหนึ่งที่มีการจ่ายเงิน รับสินบน ทุจริตคอร์รัปชัน หากเป็นเช่นนั้นก็จะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งกว่าตั๋วช้าง เปิดทางให้อาชญากรมาเป็นตำรวจ

รังสิมันต์ โรม ชี้ว่าเรื่องนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของตั๋วช้าง ตั๋วช้างคือคนที่เป็นตำรวจอยู่แล้ว และมีจำนวนไม่เยอะ แต่หลักสูตรนี้คือตั๋วชนิดหนึ่งสำหรับการเข้ามาเป็นตำรวจ และทำกันแพร่หลาย จำนวนเยอะ ผมได้ยินแว่วๆ ว่าหลักสูตรแบบนี้ไม่ได้มีแค่พ่อค้า เจ้าสัวที่เราคุ้นเคยเห็นหน้าค่าตากันในสังคม แต่บางทีอาจจะเป็นพวกเว็บพนันก็ได้ พวกทำผิดกฎหมายก็ได้ โดยส่งคนของตัวเองมาเป็นตำรวจ สุดท้ายก็เป็นสายตำรวจ ทำให้ไม่สามารถปราบปรามอาชญากรรม สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรังในวงการตำรวจมาช้านาน ตั๋วตำรวจที่ทำให้คนดังๆ คนมีชื่อเสียง ไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อาชญากรสำคัญๆ ใช้ช่องทางนี้ในการให้ลูกหลานของตนเองมาเป็นตำรวจได้

ส่อง กอส. แหล่งรวมตระกูลดัง

พบนามสกุลตระกูลดังในบัญชีรายชื่อนักเรียนอบรมหลักสูตร กอส. อาทิ แสงสิงแก้ว, เมฆหมอก, เตชะอุบล, สุขวิมล, สายันประเสริฐ, วงษ์ปิ่น, วรรณภักตร์, วัฒนะ, ธารีฉัตร, เปลี่ยนสี, กุลดิลก, ลิ้มสังกาศ, เหรียญราชา, ขลิบเงิน, ภุมมา, ธาตุศาสตร์, ทรวดทรง, สุวรรณจรัส, ชิงดวง, เมธาวัธน์, โกมลวรรธนะ และเตชะณรงค์ อีกทั้งรุ่นที่ 45 ยังมีคนดังหรือคนในวงการบันเทิงร่วมฝึกอบรมหลายคน จนได้ขนานนามว่า ‘รุ่นเทพ’ เช่น สงกรานต์ เตชะณรงค์ และพัตเตอร์-เตชธร จามิกรณ์ น้องชายของ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ 

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้จบหลักสูตร กอส. บางคนข้องเกี่ยวกับธุรกิจสีเทา เช่น สารวัตรไบร์ท ร.ต.อ.คุณากร ขจรบุญถาวร (รุ่นที่ 40) ปมเว็บพนันออนไลน์ มาเก๊า 888 และร.ต.อ.อัครวินทร์ เตชะอุบล ก่อเหตุขับรถชนแล้วหนี ทำคนขายลูกชิ้นเสียชีวิต (รุ่น 41) รวมถึง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยังออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รูบี้ (รุ่น 42) เป็นคนสนิทของสารวัตรซัว และถูกเพจดังออกมาแฉว่า ฟอกเงินจากเว็บพนันออนไลน์

หลักสูตร กอส. เปิดปีละ 4 รุ่น อบรมเพียง 17 สัปดาห์

หลักสูตร กอส. เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ในสมัยที่พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จนถึงปัจจุบัน โดยเปิดรับสมัครทุกปี ปีละ 4 ครั้ง หลักสูตรนี้มีระยะเวลาฝึกอบรม 17 สัปดาห์ 4 วัน รวมทั้งสิ้น 500 ชั่วโมง 400 คะแนน โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะถือว่าเป็นผู้สำเร็จการฝึกอบรม จะต้องฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด ไม่ถูกตัดคะแนนความประพฤติเกิน 40 คะแนน และสอบได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ส่วนโครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วยภาควิชาการและการฝึก 16 สัปดาห์ และภาคสนาม 1 สัปดาห์ 4 วัน

ไทม์ไลน์ผู้กองแคท-อาทิตยา 4 ปี 8 ชั้นยศ โฆษก ตร. ย้ำเป็นไปตามกฎ

ปี 2563 – สิบตำรวจตรี ตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ฯ

ปี 2564 – เข้าฝึกอบรมหลักสูตร กอส. เป็นระยะเวลา 3 เดือน

วันที่ 1 กันยายน 2564 ร้อยตำรวจตรี (รองสารวัตร) อยู่ในตำแหน่ง 8 เดือน (คุณวุฒิที่ใช้คือ ปริญญาโทนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต)

ปี 2565 – ร้อยตำรวจโท อยู่ในตำแหน่ง 1 ปี

ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน – ร้อยตำรวจเอก

การเลื่อนยศ นรต. VS กอส.

สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจผ่านการศึกษา 4 ปี ครองยศร้อยตำรวจตรี 6 เดือน ครองยศร้อยตำรวจโท 2 ปี 8 เดือน และครองยศร้อยตำรวจเอกอีก 7 ปี ก่อนจะเลื่อนยศเป็นพันตำรวจตรี ส่วนหลักสูตร กอส. จะเริ่มต้นที่ยศสิบตำรวจตรี ซึ่งต้องฝึกอบรม 3 เดือน จึงเลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจตรี ระยะเวลา 8 เดือน ครองยศร้อยตำรวจโท 2 ปี 8 เดือน และครองยศร้อยตำรวจเอกอีก 7 ปี ก่อนจะเลื่อนยศเป็นพันตำรวจตรี

โอกาสที่ไม่เท่ากันของ นรต. และ กอส.

นอกจากประเด็นฝึกอบรมหลักสูตร กอส. 3 เดือน ได้ยศ ‘ร้อยตำรวจตรี’ เทียบเท่าการเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 4 ปีแล้ว ประเด็นจำนวนการเปิดรับสมัครก็ยังมีความแตกต่างและเหลื่อมล้ำเช่นกัน โดย ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ออกมาเปิดเผยทางเฟซบุ๊กว่า ในยุคนายกฯ ประยุทธ์ เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาบรรจุเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ภายใน 5 ปี ถึง 820 คน เฉพาะปี 2562-2563 มีถึง 400 คน ขณะที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามารถเข้าได้ปีละ 200 คน

บัญชีรายชื่อนักเรียนอบรมหลักสูตร กอส. รุ่น 45-48 ปีงบประมาณ 2563-2565 มีจำนวน 1,240 คน ได้แก่ รุ่นที่ 45 มีผู้เข้าอบรมหลักสูตร 310 คน รุ่นที่ 46 มีผู้เข้าอบรมหลักสูตร 300 คน รุ่นที่ 47 มีผู้เข้าอบรมหลักสูตร 353 คน และรุ่นที่ 48 มีผู้เข้าอบรมหลักสูตร 277 คน 

จากการค้นหารายชื่อนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) ในเว็บไซต์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ พบว่า รุ่น 74 มีรายชื่อ 286 คน และรุ่น 75 มีรายชื่อ 273 คน รวมถึงข้อมูลจากกองบัญชาสันติบาลซึ่งระบุว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 76 ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 121 คน จึงสรุปได้ว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจที่สมัครในปีการศึกษา 2563-2565 มีจำนวนประมาณ 680 คน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตร กอส. เกือบครึ่งหนึ่ง

นอกจาก ‘ความโปร่งใส’ ของการเลื่อนยศของร้อยตำรวจเอก แคท-อาทิติยา แล้ว ประชาชนยังเริ่มถกเถียงถึงความเหมาะสมของ ‘กฎระเบียบตำรวจ’ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนชนชั้นสูงในสังคม รวมถึงสร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันในสายอาชีพราชการอย่างชัดเจน จึงกลายเป็นคำถามของสังคมไทยว่า หลักสูตร กอส. นั้นควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่?

Tags: , , , ,