‘แก้รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นวาระใหม่ของรัฐบาลที่มี ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นแกนนำ หลังจากสลับขั้ว-ย้ายข้างท่ามกลางคำสัญญาว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก วาระสำคัญจะเริ่มต้นด้วยการมีมติให้จัดทำ ‘ประชามติ’ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที เป็นการรื้อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และคืนอำนาจสู่ประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่ท่ามกลางการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วอันมีพรรคการเมืองเดิมเข้าร่วมอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ที่มีมุมมอง แนวคิด หรือจุดยืนทางการเมืองต่างกันหลายอย่าง คำถามก็คือ โอกาสในการ ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ มีจริงไหม? ทั้งยังไม่รวมคำถามที่ว่า แล้วรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะถูกแก้อย่างไรบ้าง
The Momentum ชวน ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาและโอกาสในการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้
แนวโน้มการแก้รัฐธรรมนูญมีโอกาสเป็นไปได้มากแค่ไหน ท่ามกลางการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว?
อันดับแรก ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างก็รณรงค์หาเสียงเป็นหนึ่งในนโยบายว่า หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาลจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติทันที การจัดออกเสียงประชามติจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หากให้สรุปง่ายๆ ถึงขั้นตอนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือประชาชนต้องเข้าคูหาถึง 4 ครั้ง เพื่อให้มี สสร. แล้วก็เดินตามโรดแมปว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ
แต่ปัญหาจะเกิดขึ้น คือคุณทำประชามติครั้งที่หนึ่ง สมมติประชามติผ่าน แต่จะมั่นใจได้แค่ไหนว่าวุฒิสภา (ส.ว.) จะเอาด้วย เดี๋ยวก็บอกว่าไม่เอาอีก เพราะเดี๋ยว ส.ว.ชุดใหม่ก็จะมาแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ส.ว.ชุดใหม่จะยอมไหม หรือเลวร้ายไปกว่านั้น เกิดประชามติด่านแรกแพ้ หากแพ้ก็ยุ่งเลย พลิกล็อกเหมือนปี 2559 ก็เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ยันต์กันผีแน่นสุดๆ และคุณจะแตะก็เหนื่อยทันที แต่ในข้อนี้ ผมยังมองในแง่ดีว่าคง ‘ไม่แพ้’
อาจจะต้องคิดอีกทีว่า เนื้อหาที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้คืออะไร ทิศทางของ ส.ว. โดยเฉพาะ ส.ส.มักจะใช้วิธีเตะไปให้ไป สสร.ทำ ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองแทบจะไม่พูดเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเลย พูดง่ายๆ ว่า เดี๋ยวพวกฉันทำคลอดให้มี สสร. ส่วนร่างรัฐธรรมนูญหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ให้ สสร.ไปทำ และให้เหตุผลว่า พวก ส.ส.มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็กลายเป็นว่าให้ สสร.พูดแทนทั้งหมด
การปัดทุกอย่างไปให้ สสร.รับไม้ต่อ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญ มีปัญหาไหม?
คำถามคือ สสร.จะร่างรัฐธรรมนูญหน้าตาอย่างไร เรายังไม่รู้เลย เหมือนการเซ็นเช็คเปล่า แต่ไม่รู้ว่าเขาจะร่างอะไร ผมไม่รู้ว่าถ้ามี สสร. เขาจะเปิดโอกาสให้มีการหาเสียงหรือไม่ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะเขียนอย่างไร ไม่รู้จะเกิดการพูดคุยเรื่องนี้หรือเปล่า
แต่ถ้าผมเป็น สสร. ผมจะเอาสภาเดี่ยว ไม่เอาวุฒิสภา ผมจะเปลี่ยนที่มาของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ แต่สุดท้าย ถ้าให้ทุกอย่างไปอยู่ในมือของ สสร.อย่างเดียว เขาคิดต่างอย่างไร เราก็ไม่รู้ นี่คือความกังวลข้อหนึ่ง
อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน ผมอยากชวนมองให้ลึกลงกว่านั้น คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีปัญหาหลายประเด็น ที่เห็นชัดตรงกันคือ 1. อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี 2. องค์กรอิสระ และ 3. ระบบการเลือกตั้ง ซึ่งเราเห็นตรงกันว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ แต่ปรากฏว่า ในปี 2560 ปัญหาเหล่านี้ลดไปหลายเปราะ เช่น ระบบการเลือกตั้ง ก็ถูกแก้ไปแล้วตามที่นักการเมืองต้องการ ส่วนอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ รอจนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า (2567) ก็หมดอำนาจแล้ว ปัญหายังเหลือหลักๆ ก็คือองค์กรอิสระและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ หากปล่อยให้ผ่านไปอีกระยะ เมื่อดูสภาพแล้วก็ไม่ค่อยไม่ฟังก์ชัน เพราะฉะนั้น นักการเมืองต้องพูดด้วยว่าสิ่งที่อยากแก้ไขหรือทำใหม่ทั้งระบบนั้นคืออะไร ไม่ใช่สุดท้ายเหมือนเดิม รัฐธรรมนูญ หมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) เว้นไว้ห้ามแตะ ส่วน ส.ว.เดี๋ยวก็หมดอำนาจแล้ว ถ้าองค์กรอิสระยังให้เป็นไปแบบนี้
ต้องถามว่าถ้าแก้ได้แค่นี้ ทำใหม่ทั้งฉบับได้แค่นี้ จะต่างอะไรกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ครับ
สิ่งที่คุณกังวลขณะนี้คืออะไร
สิ่งที่ผมกังวล คือกระบวนการการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมเห็นด้วย 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ว่า ต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่ฉบับปัจจุบัน แต่ด้วยอุปสรรคที่วางไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ทำประชามติก่อน ซึ่งไม่รู้ว่าจะชนะไหม ถ้าชนะ ส.ว.จะยอมไหม ก็ต้องกลับมาสู่คำถามว่า สสร.จะมาจากไหน ระบบเลือกตั้งจะให้เป็นอย่างไร ก็ยังไม่ได้คุยกัน
คำถามต่อมา คือจะแก้ทั้งฉบับหรือล็อกหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ แล้วสุดท้ายจะกล้าแตะองค์กรอิสระไหม แตะศาลรัฐธรรมนูญไหม หรือเป็น ‘สภาเดี่ยว’ จะเป็นไปได้ไหม ทั้งหมดนี้ ผมเลยกังวลว่า หากไม่ยอมลงรายละเอียด กลับไปเตะให้ สสร.หมด จะกลายเป็นปัญหา เป็นเครื่องไม้เครื่องมือยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ และสุดท้ายจะทำอะไรไม่ได้จริงๆ
ผมจึงอยากเชิญชวนให้พรรคการเมือง นอกจากจะพูดว่าให้มี สสร. คุณต้องพูดด้วยว่า สสร.มาอย่างไร และในความเห็นพรรคการเมือง คุณคิดว่ารัฐธรรมนูญใหม่ต้องแก้อะไรบ้าง ลดอำนาจองค์กรอิสระไหม
แต่ดูเหมือนไม่มีใครยอมพูดเลย พูดเพียงอย่างเดียวว่ามี สสร. พูดอย่างกับว่า สสร.คือยาวิเศษจะเขียนรัฐธรรมนูญให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยขึ้นทันตาเห็น ผมเชื่อว่าถ้าพรรคการเมืองไม่พูดเรื่องเนื้อหากันเลย ไม่พูดถึงรูปแบบ สสร.กันเลย สุดท้ายกระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะกลายเป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือในการยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ
ในการประชุม ครม.นัดแรก พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า จะเสนอที่ประชุมทำประชามติ แต่ขณะนี้ ยังไม่มีใครทราบว่า คำถามประชามติหน้าตาเป็นแบบไหน คุณคิดว่าควรเป็นคำถามอย่างไร?
ถ้าให้ผมตั้งคำถามเลยคือ ‘คุณเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดย สสร.’ แต่ให้ผมเดานะ มติของคณะรัฐมนตรี อาจจะเว้นหมวด 1 และ หมวด 2 ด้วยข้อกังวลต่างๆ นานา ฉะนั้น ปัญหาของผมคือ ขอความชัดเจนในเรื่องนี้ว่า 1. คำถามประชามติจะถามคำถามอะไร 2. สสร.ต้องคุยกันว่ามาจากการเลือกตั้งใช่หรือไม่และเลือกตั้งระบบใด 3. โรดแมปในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเวลาเท่าไร วาดออกมาให้ดูหน่อย
สุดท้ายผมขอเรียกร้องให้พรรคการเมือง และ ส.ส.กล้าพูดเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่าไปคิดว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง การเตะไปให้ สสร.เลย สุดท้ายอาจไปจบที่กระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกยื้อไปเรื่อยๆ และหน้าตาที่ออกมาจะไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพราะไม่กล้าแตะองค์กรอิสระ ไม่กล้าแตะหมวด 1 และหมวด 2 สุดท้าย คุณก็แฮปปี้พอใจกันหมดแล้ว ดังนั้น อยากชวนคิดเรื่องนี้ด้วย
การเป็นรัฐบาลผสม มีขั้วอำนาจรัฐบาลเดิมเข้ามาจำนวนมาก จะเป็นอุปสรรคสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่?
รัฐธรรมนูญเป็นเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือการเมือง อีกด้านคือกฎหมาย เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ กับการเขียนกติกาจนทำให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย ดังนั้น รัฐธรรมนูญหน้าตาเป็นอย่างไร จะอยู่ที่พลังทางการเมืองในเวลานั้นด้วย
แต่ตอนนี้คุณไปตั้งรัฐบาลแบบ โอ้โห ข้ามขั้วกันไปมา ให้ผมเดานะ ทำสำเร็จ แต่จะทำได้เพียงมี สสร.ขึ้นมา ซึ่งไม่รู้มาจากอะไรบ้าง และจะบอกให้ไปทำใหม่ทั้งฉบับเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ถ้าเขาจะทำกันนะ ผมเชื่อว่าเขาจะทำกัน
ไม่กี่วันก่อน คุณเขียนในเฟซบุ๊ก อยากให้พรรคก้าวไกลพูดถึงปัญหาและคนอยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ความหมายระหว่างบรรทัดที่คุณเลือกเขียนเรื่องนี้คืออะไร?
ปัญหาสำคัญคือไม่ยอมพูดกันตรงๆ ว่า ทำไมพรรคก้าวไกลถึงเป็นรัฐบาลไม่ได้ มันสะท้อนสิ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมรัฐบาล มันสะท้อนให้เห็นว่า โครงสร้างอำนาจมันกลับไปสู่ดุลยภาพที่ยังคงต่อสู้กันอยู่ แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะชนะมาได้บางส่วน แต่ไม่ได้ชนะแบบเบ็ดเสร็จ มันเป็นธรรมดาว่าจะโดนรุมสกรัม แต่ก็ต้องเดินหน้าสู้ แสวงหาแนวร่วม แสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนให้มากขึ้นกว่าเดิม
ในการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ถ้าเป็นทฤษฎีของ อันโตนีโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) เรียกว่าการปฏิวัติแบบ Passive (Passive Revolution) คือการปฏิวัติจากข้างบน กลุ่มผู้ปกครอง-พวกชนชั้นปกครองตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเอง เพื่อรักษาสถานะของตัวเองให้ไปต่อได้ แต่ต้องมีการปรับนิดหน่อยเพื่อให้ตัวเองยังสามารถดำรงสถานะเป็นชนชั้นปกครอง ไม่ให้ข้างล่างขึ้นมายึดได้
แต่ผมไม่รู้ว่ากลุ่มชนชั้นปกครองในสังคมไทยยุคปัจจุบันเคยมีความคิดว่าตัวเองจะทำ Passive Revolution ไหม หรือจะอยู่แบบเดิมไปเรื่อยๆ จริงๆ ก็เคยเกิดหลายครั้งในประเทศไทย เช่น ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ที่ตัดสินใจปฏิรูปข้าราชการครั้งใหญ่ต่อเนื่องตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5
อย่างไรก็ตาม ชนชั้นนำยังเป็นคนกลุ่มเดิมอยู่ เขารักษาสถานะได้อีกรอบคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เราชอบบอกกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นความเชื่อลวงตา จริงๆ มันเป็นฉันทามติของชนชั้นนำแต่ละกลุ่มที่บอกว่า “เฮ้ย พอแล้วมั้งกับวงจรรัฐประหาร วงจรประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่เลือกตั้งเสร็จเอาทหารมา มันควรกลับไปสู่ระบบการเลือกตั้งเพื่อให้ปกติได้แล้ว” เพราะฉะนั้น ผมยังหวังว่ากลุ่มชนชั้นนำจะมองเห็นในเรื่องนี้
Tags: สภาร่างรัฐธรรมนูญ, รัฐธรรมนูญ, รัฐบาล, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, นายก, ปิยบุตร, สสร.