วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2565) ที่รัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต ฉบับที่.. พ.ศ. …. เพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 ซึ่ง เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ เพื่อปลดล็อกให้ประชาชนสามารถทำสุราพื้นบ้าน สุราชุมชน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ได้ โดยเปรียบเทียบด้วยการยกมูลค่าตลาดสุราในประเทศไทยเทียบกับประเทศญี่ปุ่น

“ผมสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ด้วยเหตุผลง่ายๆ ไทยกับญี่ปุ่นมีตลาดมูลค่าสุราเท่ากัน สองแสนล้านกับสองแสนล้าน ทั้งประเทศไทยสุรามีสิบยี่ห้อ ญี่ปุ่นมีห้าหมื่นยี่ห้อ ขนาดเท่ากัน ประเทศหนึ่งมูมมามกินกันแค่สิบคน อีกประเทศหนึ่ง กระจาย กินกันห้าหมื่นคน ถ้าตัวเลขนี้ เพื่อนสมาชิกหรือประชาชนฟังอยู่แล้วไม่รู้สึกตงิด ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว

“ตลาด 2 ประเทศ 2 แสนล้าน ใหญ่มหาศาลเท่ากัน ประเทศหนึ่งมีสิบยี่ห้อ อีกประเทศหนึ่งมีห้าหมื่นยี่ห้อ ประเทศที่มีห้าหมื่นยี่ห้อนั้นส่งออก 93% ข้อเท็จจริงมันโกหกกันไม่ได้ สถิติโกหกกันไม่ได้ เขาทำเพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรของเขา นี่คือตลกร้ายของประเทศไทย”

นอกจากนี้ ที่ตลกร้ายกว่าคือวันนี้ หากเลิกประชุมสภา เพื่อน ส.ส. ไปกินร้านอาหารญี่ปุ่นแถวย่านทองหล่อ และกินเหล้าอาโอโมริ จากโอกินาวา ขวดละ 2,500 บาทต่อลิตร จะพบว่าเหล้านั้นนำเข้าจากประเทศไทย และนำเข้าสิบปีที่ผ่านมา 2 แสนกว่าตัน มูลค่า 3,000 กว่าล้านบาท ซึ่งโดยสรุปก็คือ ส่งออกได้ นำเข้าได้ แต่ผลิตในประเทศนี้ไม่ได้ นี่คือตลกร้ายยิ่งกว่า

พิธาระบุอีกว่า หากปลดล็อก พ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วหาวิธีเล่าเรื่องในเรื่องเหล้า คิดเสียว่านี่คือประวัติศาสตร์ที่ดื่มได้ ก็จะเป็นได้ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการเกษตร นโยบายการท่องเที่ยว นโยบายการคลัง ที่โดนที่สุดในปีนี้ มากกว่านโยบายทุกอย่างของรัฐบาล 

“ถ้าปลดล็อกเรื่องนี้ได้ มันคือการเปลี่ยนง่ายๆ เปลี่ยนโภคภัณฑ์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ เปลี่ยนจากทำมากได้น้อย ให้เป็นทำน้อยได้มาก เปลี่ยนจากเก็บในโกดังที่ราคามีแต่ลง ไปเก็บในขวดที่ราคามีแต่ขึ้น แล้วหลากหลาย ถ้าเป็นภาคเหนือ เป็นภาคกลาง ภาคอีสาน ก็จะมีข้าว ข้าวโพด มัน ข้าวฟ่าง ภาคกลาง ก็จะมีต้นตาล มะพร้าว ถ้าเป็นภาคตะวันออก ก็จะมีผลไม้มหาศาล ปลดล็อกแค่ประโยคเดียว เอา 5 แรงม้า กับแรงงาน 7 คนออกไป จะลุกขึ้นทั้งประเทศ ราคาสินค้าเกษตรที่แก้ไขไม่ได้ ลุกขึ้นทั้งประเทศ สินค้าเกษตรที่เน่าเสียต้องเอามาถมทิ้งหน้าทำเนียบรัฐบาล ก็ลุกขึ้นทั้งประเทศ”

หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังอภิปรายด้วยว่า การปลดล็อกเรื่องสุราชุมชนยังสามารถเป็นนโยบายการท่องเที่ยว ก็ไม่ต่างอะไรกับ ส.ส. เวลาไปเที่ยว ต้องไปแคว้นบอร์โดซ์ ฝรั่งเศส ซึ่งแต่ละคนไม่ได้ไปเที่ยวเพื่อเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้องการไปชมการทำการเกษตรและการทำไวน์ 

“ไม่ต่างกับที่ไปเมืองแอดิเลด ออสเตรเลีย เพื่อไปดูเพนโฟลด์ ไม่ต่างกับที่เราไปวากายามะ เพื่อไปดื่มเหล้าบ๊วยของเขา หรือไปโอกินาวา แล้วไปดูสวนสับปะรด ว่าเขาเอาสับปะรดไปทำบรั่นดีได้อย่างไร คิดง่ายๆ แค่นี้ว่า ถ้าเราเปลี่ยนการท่องเที่ยวของไทย จากเอาจุดหมายปลายทางเป็นที่ตั้งเหนือเรื่องเล่า แต่เราเอาเรื่องเล่าขึ้นมาตั้งก่อนจุดหมาย คือเอา Story ขึ้นมาก่อน Destination มากกว่าเอา Destination ขึ้นมาก่อน Story ทั้งหมด จะเปลี่ยนวิธีคิด มโนทัศน์ ในนโยบายการท่องเที่ยวของไทยเลย ไม่ใช่ว่าผมไปเที่ยวลำปางเพราะอะไร แต่ผมต้องไปดื่มเหล้าดาวลอยที่พี่น้องชาติพันธุ์ลำปางทำ”

พิธาบอกอีกว่า ในช่วงนี้ ช่วงที่รัฐบาลถังแตก หาภาษีไม่ได้ จนต้องรีดเลือดจากปู อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจบอกว่าเศรษฐกิจดีแล้ว จนต้องไปเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซี แต่อยากให้ดูว่า ที่ตำบลสะเอียบ จังหวัดแพร่นั้น มีประชากรแค่ 5,000 คน แต่สามารถเก็บภาษีได้ 500 ล้านบาทต่อปี จากการผลิตเหล้าสะเอียบ เพราะฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนทั้งประเทศ ปลดล็อกกฎหมายแบบนี้ ลุกพร้อมกันทั้งประเทศ เปลี่ยนกฎหมายจากบนลงล่าง เป็นล่างขึ้นบน เปลี่ยนจากข้างนอกเข้ามาข้างใน เป็นข้างในเข้ามาข้างนอก เศรษฐกิจจะไปได้ไกลขนาดไหน การท่องเที่ยวไทยจะไปได้ขนาดไหน รัฐบาลที่ถังแตก หาภาษีไม่ได้ จะไปได้ไกลเพียงใด 

“ฉะนั้นนี่คือน้ำจิ้มของนโยบายพรรคก้าวไกล เป็นแค่นโยบายเรือธง เพื่อทำลายทุนผูกขาดของประเทศนี้ให้ได้ และนี่คือทางออกเดียว ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า ไม่ใช่แค่มีแอพฯ เดียวมาวางไว้ ไม่ใช่แค่บีบให้จน แล้วก็ขนมาแจกอย่างทำที่ แล้วคิดว่าไทยจะไปต่อได้ เราต้องทลายทุนผูกขาดเท่านั้น และต้องเริ่มทลายทุนผูกขาดด้วยอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ที่มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท แต่มีคนกินอยู่แค่ 10 คน เทียบกับประเทศอื่นที่มีคนกินอยู่ 5 หมื่นคน นี่คือทางออกของประเทศไทยจริงๆ และจะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤต อย่างที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นมาก่อน” 

สำหรับกฎหมายดังกล่าว พบว่า การทำเบียร์มีกำหนดไม่เกิน 10 ล้านลิตรต่อปี ส่วนการทำสุราพื้นบ้านจำกัดกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า 7 กำลังคน ซึ่งเท่าพิภพ ผู้เสนอกฎหมาย เห็นว่าเป็นการจำกัดไม่ให้ชาวบ้านสามารถผลิตสุราชุมชน สุราพื้นบ้าน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นสู้กับทุนใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ส.ส. แสดงความคิดเห็น สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้กล่าวปิดประชุม เนื่องจากองก์ประชุมเข้าร่วมไม่ครบ ทำให้กฎหมายดังกล่าวต้องถูกเลื่อนไปลงมติในสัปดาห์หน้า

 

ภาพ รัฐสภา 

Tags: , , , , ,