วันนี้ (31 พฤษภาคม 2565) ที่รัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (พ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ. 2566) ว่างบประมาณจำนวน 3.185 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลเสนอสามารถใช้ได้จริงเพียง 30% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 1.1 ล้านล้านบาทเท่านั้น จึงแทบไม่เหลือเงินสำหรับพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจหลังซบเซาจากวิกฤติโควิด-19 มากว่า 3 ปี นอกจากนี้ยังเบิกงบไม่ตรงปกอีกด้วย
พิธาได้แสดงกราฟโครงสร้างงบประมาณย้อนหลังตั้งแต่ปี 2563 จนถึงงบประมาณปี 2566 อ้างอิงจากสำนักงบประมาณของรัฐสภาที่มีข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2557 ที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าประเทศชาติจะอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด-19 หรือช่วงเวลาฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติการณ์ต่างๆ แต่โครงสร้างงบประมาณของประเทศยังเหมือนเดิม ซึ่งพิธามองว่าการจัดงบประจำปีแบบนี้ไม่สามารถที่จะตอบสนองต่อวิกฤติหรือโอกาสที่จะเจอในอนาคตได้
นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างการใช้งบประมาณปี 2566 ของรัฐบาลให้เห็นภาพผ่านการเปรียบเทียบกับเงินจำนวน 100 บาทว่า 40 บาทแรก หรือ 40% หมดไปกับรายจ่ายบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ นี่ถือเป็นปัญหาเพราะเงินบำนาญได้พุ่งสูงขึ้น 2 เท่าตัวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2557 เงินบำนาญข้าราชการอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท แต่ปี 2564 เงินบำนาญอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ส่วนปี 2566 รัฐบาลของบประมาณไว้ที่ 3.22 แสนล้านบาท
นอกจากนี้พิธายังได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) พบว่างบประมาณของข้าราชการจะขึ้นถึง 7 แสนล้านบาทภายในปี 2580 เขาตั้งคำถามว่าประเทศชาติจะเอาเงินมาจากไหน เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีข้าราชการเกษียณอายุราชการอยู่ที่ 8 แสนคน แต่ในปี 2580 สำนักงาน ก.พ. กล่าวว่าจะมีข้าราชการเกษียณอายุมากถึง 1-2 ล้านคน
“เงินบำนาญ เงินบุคลากรเป็นงบประมาณที่เราใช้ไปเยอะมาก นี่จึงเป็นยาขมที่เราต้องกลืน เราต้องส่งสัญญาณดังๆ ไปยังพี่น้องข้าราชการที่เคารพรักทุกท่านว่าต้องมาช่วยกันคิดว่า กระบวนการรัฐราชการอุ้ยอ้าย ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะหากเรายังปล่อยให้ประเทศชาติเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 10 ปี จะกลายเป็นว่างบประมาณดังกล่าวจะเป็นอันดับ 1 จากงบประมาณปี 2566 อยู่ที่ 3 แสนกว่าล้าน จะกลายเป็น 8 แสนกว่าล้าน แล้วลูกหลานเราจะพัฒนาอย่างไร เพราะแค่ 40% แรกของงบประมาณก็ติดเรื่องแบบนี้แล้ว”
ขณะที่อีก 10 บาทต่อมา หมดไปกับการชำระหนี้และดอกเบี้ยเก่า ซึ่งพิธากล่าวว่าเขาไม่มีปัญหากับเรื่องกู้เงินแต่ปัญหาคือใครเป็นผู้กู้ต่างหาก เมื่อกู้แล้วสามารถทำเป็นทรัพย์สินได้หรือไม่ เปลี่ยนจากหนี้สินเป็นรายได้ของประเทศได้หรือไม่ และอีกสิ่งที่ต้องระวังสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาคือดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ การกู้จะยากขึ้นเรื่อยๆ และภาระการเงินของประเทศก็จะยากขึ้น
ส่วนอีก 7 บาท ต่อมาคือเงินสนับสนุนสวัสดิการประชาชน ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก เพราะถูกเบียดจากงบประมาณอื่นๆ สวัสดิการของประชาชนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเพิ่มอีกมาก อีก 5 บาทหมดไปกับภาวะผูกพันในอดีต รวมทั้งหมดแล้วจะเหลือเงินอยู่ 29 บาท ที่สามารถใช้เป็นพื้นที่การคลังเพื่อพัฒนาประเทศได้
พิธาสรุปว่างบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท เหลือใช้พัฒนาประเทศ ฟื้นฟูประเทศ สร้างความหวังให้ประชาชนไม่ถึง 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่เหมาะกับการฟื้นฟูประเทศและสร้างความหวังให้ประชาชน ส่วนเรื่องของเกษตรกรที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าใช้เงินในด้านเกษตรกรสูงถึง 7.9 หมื่นล้านบาทนั้น แต่เมื่อไปดูที่รายละเอียดพบว่า จำนวนเงิน 7 พันล้านบาทเป็นการชำระหนี้ให้กับนโยบายจำนำย้อนหลังไปถึงปี 2551 และเงินอีกจำนวน 2.7 หมื่นล้านบาทเป็นการชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ย้อนหลังไปถึงปี 2551 รวมทั้งหมดเป็นเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าแผนยุทธศาสตร์การเกษตรเสียอีก นี่จึงเป็นงบประมาณที่ไม่ตรงปก
นอกจากนี้งบอุดหนุนเครื่องจักรการเกษตรจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรให้สูงขึ้น แต่เมื่อมาดูรายละเอียดพบว่า เงินจำนวนนี้ ใช้กับครอบครัวจำนวน 4.6 ล้านครอบครัว เมื่อนำมาหารจะพบว่าแต่ละครอบครัวได้รับเงินอุดหนุนเครื่องจักรครอบครัวละ 3 พันบาท
“ผมไม่แน่ใจว่าให้ซื้อเครื่องจักรแบบไหนในราคา 3,000 บาท เพราะแค่ซื้อปุ๋ย 2 ลูกเงินก็หมดแล้ว ซึ่งไม่สามารถจะพัฒนาประเทศออกไปได้อย่างที่นายกฯ โฆษณาเอาไว้เบื้องต้น”
ทั้งนี้พิธาชี้ให้เห็นอีกว่าในโครงสร้างงบประมาณด้านเศรษฐกิจพบว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน หากนำโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาเทียบกันระหว่าง โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะพบว่า EEC ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ SMEs ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท เมื่อมาเทียบผลประโยชน์แล้วกลุ่ม EEC ประกอบด้วย นักลงทุนต่างชาติ นายทุนใหญ่ มีทั้งหมด 26 นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในขณะที่ SME มีจำนวน 3 ล้านราย เมื่อนำงบประมาณ 7,000 ล้านบาทมาหาร จะพบว่า SME ได้รับเงินสนับสนุนเพียงคนละประมาณ 900 บาทเท่านั้น
“สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการใช้งบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การตั้ง KPI ละเลยไม่ยุติธรรมต่อคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเห็นได้ชัด แทนที่จะทำให้ประชาชนมีความหวังจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่กลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะไม่มีความยุติธรรม ไม่สร้างสรรค์ และไร้ประสิทธิภาพ
“งบประมาณที่มีความหวัง มันควรเป็นงบประมาณที่กระจายไม่กระจุก เป็นงบประมาณที่มาจากข้างล่างไม่ได้มาจากข้างบน เป็นงบที่มาจากข้างนอกที่เข้ามาหาเรา ไม่ใช่เป็นงบที่เอาตัวเราออกไปขายข้างนอก ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่สามารถรับหลักการวาระเเรกของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 ในวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทได้” พิธาทิ้งท้าย
Tags: Report, งบประมาณ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ประชุมสภา, พรรคก้าวไกล