วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2565) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ โดยพิธา ระบุตอนหนึ่งว่า ขอพูดแทน ส.ส. ธัญญ์วารินทร์ ที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ พูดกับผมเสมอว่าสิทธิในการสมรส สิทธิการสร้างครอบครัวทุกคนตั้งแต่เกิด ไม่ควรมีอะไรปิดกั้นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคนได้

“หลายครั้งหลายหน ที่สภาแห่งนี้ เป็นเหมือนสถานที่ที่พวกเราปรึกษาหารือกัน มีหน้าที่ผ่านกฎหมาย สกัดกั้นกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย เป็นหน้าที่ของ ส.ส. อย่างผม แต่ก็มีหลายครั้งหลายหนที่สภาเหมือนเป็นกระจกสะท้อนสังคม ว่าเราอยู่กันในประเทศแบบไหน สังคมแบบไหน และเรามีวิธีคิดแบบไหน การที่ผมได้มามีส่วนร่วมในนาทีประวัติศาสตร์ของสภาแห่งนี้ เป็นการส่งสัญญาณไปยังพี่น้องประชาชน ว่าสังคมไทยยังเป็นไปได้ในความก้าวหน้า เป็นการยืนยันกับประชาชนว่าว่าความหลากหลาย คือจุดแข็งของประเทศไทย และไม่ใช่จุดอ่อนของประเทศไทย

“เป็นการยืนยันกับประชาชนไทยที่หมดหวัง ว่าในความหลากหลายนั้นยังมีความมีเอกภาพในความหลากหลายนั้น และเราเข้าใจว่าในความหลากหลายนั้นคือหายนะ หากไม่มีความเท่าเทียม หรือมีการเลือกปฏิบัติ ความหลากหลายที่เราภูมิใจนักหนาจะกลายเป็นจุดอ่อนของประเทศทันที ถ้าความหลากหลายกับความเท่าเทียมไม่มาอยู่ด้วยกัน มีการเลือกปฏิบัติแบบนั้น นี่สิ่งที่ผมภูมิใจในฐานะหัวหน้าพรรคที่นำเสนอร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ นี่คือสิ่งที่ปักหมุดในสภาแห่งนี้แล้ว”

พิธากล่าวอีกว่า อยากสื่อสารกับประชาชนที่สู้ความเท่าเทียมทางเพศมาก่อน ว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว และรู้สึกผิด ทั้งนี้ ในฐานะเป็นผู้แทน ต้องขอโทษกับคนหลายกลุ่มที่เป็นครอบครัวกันมา 40-50 ปี แต่ในนาทีที่ต้องชี้เป็นชี้ตาย คนกลุ่มนี้กลับไม่มีสิทธิที่จะสามารถบอกได้ว่าคนที่จะรักษาพยาบาลคู่ชีวิตของเขา หรือคนที่เขาใช้ชีวิตมาด้วย 40-50 ปีได้อย่างไร

“เรากำลังขอโทษสำหรับครูที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีเพศวิถี ไม่เหมือนกับเพศที่เกิดมา ที่ไม่สามารถเป็นครูได้ เพราะว่ามีวิทยาลัยครูไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และไม่สามารถทำให้เขาเป็นครูตามความฝันของเขาได้ ขอโทษกับคนทำสื่อ กับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่สามารถออกอากาศได้ เพราะกรมประชาสัมพันธ์ไม่อนุญาตให้มีคอนเทนท์แบบนี้ในประเทศไทย

“เรากำลังสื่อสารไปกับคนรุ่นผม วัย 40 กว่าๆ ที่กำลังสร้างชีวิต กำลังที่จะสร้างครอบครัว กำลังที่จะสร้างบ้าน ให้เขายังมีความหวังอยู่ว่า ไม่ว่าเพศวิถีของเขาจะเป็นอย่างไร เขามีสิทธิเท่าเทียมกับผู้แทนทุกคนในนี้ พวกเขามีสิทธิในการที่จะหมั้น มีสิทธิในการสมรสมีสิทธิในการกู้บ้าน มีสิทธิในการที่จะบริหารทรัพย์สินแทนกันและกัน เมื่อไม่มีคนที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่จะตัดสินใจแทนได้”

พิธายังระบุอีกด้วยว่า สิ่งสำคัญมากที่สุดคือนึกถึงเยาวชน รุ่นลูก รุ่นหลาน อีกมากมายในประเทศไทย ที่กำลังพยายามทำความเข้าใจกับตัวเองอยู่ ว่าทำไมเสียงที่กลุ่มคนเหล่านี้บอกตัวเองในวัย 6 ขวบ 7 ขวบ 8 ขวบ 9 ขวบ 10 ขวบ หรือเป็นเยาวชนแล้ว กับสิ่งที่เสียงจากสังคมภายนอกกำลังพูดกับเขาอยู่นั้นไม่เหมือนกัน และกำลังเจ็บปวดอยู่ในห้องเงียบๆ คนเดียว

“มันคือการส่งสัญญาณไปให้กับเยาวชนคนหนุ่มสาว และผู้ปกครองที่มีบทสนทนาที่แสนจะกระอักกระอ่วนใจในช่วงข้าวมื้อเย็น เรากำลังบอกเขาว่าสังคมนี้กำลังยอมรับในความหลากหลาย ว่าเยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลานของเราไม่ได้ผิดปกติ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่สภากำลังบอกว่าเรากำลังทำให้ตามสังคม เรามีหน้าที่ตามสังคมให้ทัน และเขาสามารถจะใช้ชีวิตอยู่ได้ 

“ทำให้สิ่งที่เขาจะถูกประณามหลีกเลี่ยงได้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา นี่คือสิ่งที่สำคัญ มันคือกระจกสะท้อนกับเยาวชน คนรุ่นลูก รุ่นหลาน รวมถึงลูกสาวของผม ว่าโทนในการอภิปรายและการที่เราลงคะแนนครั้งนี้ เป็นการบอกเขาว่าไม่มีอะไรที่ผิดปกติสำหรับเขา เขาสามารถมีชีวิตและมีอนาคตได้เท่ากับคนทุกคน เพราะคนทุกคนเท่ากัน นี่คือสิ่งที่เราจะไม่เลือกปฏิบัติในสังคมแบบนี้  นี่ต่างหากคือสิ่งที่เรามีความจำเป็นที่ต้องลงคะแนน และสนับสนุนให้มี พ.ร.บ.แบบนี้ เป็นการเซ็ตโทนให้กับสังคม”

อยากให้ความหวังกับคนหนุ่มสาว กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยความเห็นของกรมการปกครองต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ “การแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะต่างเพศหรือเพศเดียวกันสามารถทำการสมรสกันได้ตามกฎหมายเป็นการรับรองสิทธิในความผูกพันของคู่รักเพศเดียวกัน ให้เป็นคู่สมรส และการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ครอบคลุมการจดทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่า สิทธิหน้าที่ระหว่างคู่สมรส การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และมรดก มีความเหมาะสม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ท่านไม่ได้อยู่คนเดียว” พิธาระบุ

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ…. หรือที่รู้เรียกกันในชื่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยระบุว่าร่างดังกล่าวมีหลักการสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มีหลายมาตราขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ 

สิ่งที่ธัญจะอธิบายต่อไปนี้ เป็นสิ่งเรียบง่าย เป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่คนในสังคมต่างเข้าใจกันดี คือการที่ชายหญิงทั่วไปตัดสินใจสร้างครอบครัว จดทะเบียนสมรส ใช้ชีวิตร่วมกันโดยมีบทบาท หน้าที่ สิทธิ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการ เป็นเรื่องทั่วไปที่สังคมมีความเข้าใจอยู่แล้ว

แต่ในสิ่งที่เรียบง่ายนี้เอง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการก่อตั้งครอบครัว ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ทำให้การก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่มีสิทธิ์ ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีสวัสดิการ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิ่งที่ไม่มี แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกพรากไปตั้งแต่แรก

ธัญวัจน์อภิปรายฯ ว่า หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องพบเจอกับปัญหาใดบ้าง พวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ หลายคนเข้าใจผิดว่าถือครองร่วมทรัพย์สินร่วมกันได้ แต่ความเป็นจริงต้องใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่สิทธิเท่าเทียม สิ่งที่คู่รักหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่เกิดความกังวลคือ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส เวลาเสียชีวิตทรัพย์สินจะส่งไปยังบุคคลที่มีสายเลือดใกล้ชิดที่สุด ซึ่งในชุมชนของคู่รักหลากหลายทางเพศจำนวนมากไม่ได้อยู่กับครอบครัว รวมถึงครอบครัวไม่ได้มีส่วนในทรัพย์สินที่หามาได้ ดังนั้นคนที่ควรรับทรัพย์สินเหล่านี้คือคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันเหมือนคู่แต่งงานอื่นๆ

พวงเพชร เหงคำ และ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง คู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเรียบง่ายที่แม่ฮ่องสอนมากว่า 13 ปี แต่ขณะเดียวกันก็เผชิญความทุกข์ร่วมกันจากกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เซ็นรับรองเพื่อเข้ารับบริการรักษาพยาบาลแทนไม่ได้ ทำประกันชีวิตระบุให้คนรักเป็นผู้รับประโยชน์ก็ไม่ได้ และมักถูกถามหาทะเบียนสมรสเวลาซื้อที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงไม่สามารถกู้เงินร่วมกันเพื่อซื้อบ้าน ไม่สามารถถือครองร่วมกันในฐานะคู่สมรส กลายเป็นซื้อแล้วถือครองกันคนละแปลง หรือพอสร้างบ้านก็กลายเป็นบ้านที่มีกรรมสิทธิ์คนเดียว ไม่สามารถถือครองทรัพย์สินใดๆ ร่วมกันในฐานะคู่สมรสเฉกเช่น ชาย-หญิง”

ด้านสวัสดิการสังคมไปจนถึงนโยบายองค์กร ครอบครัวคู่รักหลากหลายทางเพศก็ได้รับไม่เท่ากับคนอื่นๆ บางองค์กรมีนโยบายช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตร มีนโยบายด้านสนับสนุนด้านค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย แต่ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ถูกรับรองในทางกฎหมายจะไม่ได้รับสวัสดิการเหล่านี้ หรือข่าวน่าเศร้าของครูราชการผู้หญิงข้ามเพศ มิกกี้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับคนรักมานาน เมื่อคนรักป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย ก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากราชการได้

ภาพ: รัฐสภา

Tags: , , , , ,