วันนี้ (30 เมษายน 2568) ที่โรงแรมโนโวเทล แพลทินัม ประตูน้ำ พิศาล มาณวพัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวตอนหนึ่งในเวที Re-positioning Thailand: วางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้า ที่จัดโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทีมนโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาชน โดยพิศาลกล่าวตอนหนึ่งว่า ในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ เรื่องภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จะไม่จบง่ายๆ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้า
พิศาลระบุว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 รับทราบว่า ทรัมป์เพิ่งลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเกี่ยวกับเรื่องการส่งออกอาหารทะเล และคาดว่าจะมีคำสั่งประธานาธิบดีอื่นๆ ตามมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยตามไม่ทัน และไม่อาจรับรู้ถึงผลกระทบ โดยคนที่ควรติดตามมากที่สุดคือ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน อย่างไรก็ตามปัญหาคือเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบ่อยมาก หรือประมาณ 12-15 เดือนต่อเอกอัครราชทูต 1 คน โดยสมัยที่ บารัก โอบามา (Barack Obama) เป็นประธานาธิบดีต่อเนื่อง 8 ปี ไทยมีเอกอัครราชทูตหมุนเวียนมากถึง 6 คน ฉะนั้นจะไม่มีทางมีความต่อเนื่อง เข้มแข็ง หรือมีเครือข่ายที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกันข้ามกับสิงคโปร์และจีนที่ทิ้งเอกอัครราชทูตไว้นานกว่า 7-15 ปี
ขณะเดียวกันข้อสำคัญหนึ่งคือ ไทยอย่าหมกมุ่นกับการส่งคณะไปเจรจาแล้วจะจบ สิ่งสำคัญคือต้องทำเรื่องอื่นคู่ขนาน ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้าง ภาษี และงบประมาณ ฉะนั้นทั้งภาคประชาชนและสื่อมวลชนต้องเรียกร้องรัฐบาลว่า ขณะนี้ไม่ได้ต้องการเพียงพลาสเตอร์ปิดแผลหรือปิดดีล แต่ยังมีเรื่องอีกมากที่รัฐบาลยังไม่มีสมาธิจะเริ่มทำ
ประการต่อมาคือ รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ต้องส่งสัญญาณให้องคาพยพ กระทรวง ผู้บริหารทุกกระทรวง ตระหนักชัดเจนว่า ไทยไม่ได้เลือกข้างจีน ไม่ได้เลือกข้างสหรัฐฯ และไม่ได้เลือกข้างสหภาพยุโรป หากแต่ต้องเลือกข้างผลประโยชน์ของประเทศไทย ฉะนั้นกระทรวง ทบวง กรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ต้องลงมือเต็มที่ หากกระทบความสัมพันธ์กับจีนก็อย่าเกรงใจ
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะต้องเลิกพูดว่า เห็นจีนเทาเดินเข้ามาแท้ๆ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร กรมการค้าต่างประเทศจะสามารถบอกว่า ถ้ามีอะไรผิดปกติในสินค้าจีนที่เข้ามา ก็ต้องพร้อมจะใช้กฎหมายต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti Dumping) หรือถ้ากระทรวงการต่างประเทศบอกว่า ไม่ควรส่งอุยกูร์กลับไปยังจีน สัญญาณเหล่านี้ไทยสามารถพูดกับจีนในฐานะมิตรประเทศ และในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายต้องส่งสัญญาณชัดเจน ต้องลดโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาจีน ไม่ว่าโครงสร้างของผลไม้อย่างทุเรียน ลำไย และสินค้าส่งออก ทั้งนี้ต้องสื่อสารชัดเจนว่า ไทยเลือกผลประโยชน์ของประเทศ เพราะขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า ไทยเป็นส่วนต่อของเศรษฐกิจจีน และยังมีอีกหลายเรื่องที่ทำอย่างไม่ถูกจังหวะเวลา เช่น การส่งอุยกูร์กลับประเทศ หรือการจับชาวสหรัฐฯ ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้ไทยถูกเข้าใจผิด
พิศาลยังแนะนำให้ไทยเปิดตลาดใหม่ๆ ขยายจากสหรัฐฯ จีน และยุโรป โดยแนะนำให้เปิดตลาดแอฟริกา อิหร่าน และตุรกี โดยเห็นว่า ภาคเอกชนที่เก่งจริงๆ จะสามารถไปลงทุน ค้าขาย และช่วยส่งสินค้าจากเมืองรองไปได้ พร้อมกับยกตัวอย่างอิหร่านว่า คนอิหร่านรักประเทศไทยและยินดีซื้อสินค้าไทย ขณะเดียวกันตุรกีก็เป็นประเทศที่น่าสนใจ ที่แม้สหภาพยุโรปจะไม่ยอมรับเพราะเป็นประเทศมุสลิม แต่ตุรกีถือเป็นมุสลิมหัวก้าวหน้าและมีอิทธิพลในตะวันออกกลางสูง
อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันยังกล่าวถึงทรัมป์ว่า ทรัมป์เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Narcissistic Personality Disorder (NPD) คือมีลักษณะอาการหลงตัวเอง อยากให้คนมาอวย สามารถให้คณะรัฐมนตรีมานั่งอวยทีละคนและสลับกันอวยได้ ซึ่งขัดกับลักษณะของ ‘ฝรั่ง’ คนอื่นๆ และปกติมีแต่ประเทศล้าหลังเท่านั้นที่ผู้นำมีลักษณะนี้
“คนเป็นโรคนี้จะไม่มีน้ำจิตน้ำใจเห็นหัวอกคนอื่น ถ้าเข้าใจเขาดี เราต้องเอาใจเขาในเวลาที่ถูกต้อง เขาอยากได้รางวัลโนเบลมาก เราสามารถพาเขาไปสู่รางวัลนั้นได้ เพราะความสัมพันธ์ของเรากับเกาหลีเหนือดีมาก เขาเจอมาแล้ว 3 ครั้ง ไม่สำเร็จ ผมมั่นใจว่าเขาอยากเจออีก เขาอยากได้รางวัลนี้”
พิศาลแนะว่า เมื่อไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือ ไทยจึงอาจใช้โอกาสเป็นสถานที่ให้ทรัมป์ได้เจอกับ คิม จองอึน (Kim Jong Un) ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ อีกครั้งในประเทศไทยเพื่อให้เกิดการเจรจาสันติภาพ ซึ่งเมื่อไทยเป็นตัวกลาง สามารถจัดเวทีนี้ให้เกิดขึ้นได้ ก็เป็นโอกาสโดยธรรมชาติที่ทรัมป์จะรักประเทศไทย และประทับใจประเทศไทยในฐานะประเทศตัวกลางที่คอยจัดการเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยทำให้ทรัมป์ได้รับรางวัลโนเบล
ทั้งนี้ขณะทรัมป์รับตำแหน่งประธาธิบดีสมัยแรก เคยมีโอกาสพบปะกับคิม จองอึนทั้งสิ้น 3 ครั้ง ได้แก่ ในการประชุมสุดยอดเกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2018, การประชุมสุดยอดเกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อปี 2019 และการประชุมที่เขตปลอดทหารเกาหลีเมื่อปี 2019 เช่นกัน ทว่ายังไม่มีข้อสรุปที่หนักแน่นพอในเรื่องการยุติความขัดแย้ง และสงครามระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้