เมื่อวานนี้ (5 พฤศจิกายน 2023) ฮวน จูมาลอน (Juan Jumalon) หรือดีเจวอล์กเกอร์ ผู้รายงานข่าวทางวิทยุฟิลิปปินส์ ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างจัดรายการออนไลน์ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ในบ้าน นับเป็นนักข่าวรายที่สี่ที่ถูกลอบสังหารในยุคของรัฐบาล เฟอร์ดินาน บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Bongbong Marcos Junior)
ฮวน จูมาลอน เป็นนักข่าววัย 57 ปี มีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศ เขาจัดรายการในแฟนเพจ 94.7 Gold Mega Calamba FM และใช้ชื่อในวงการว่า ดีเจจอห์นนี วอล์กเกอร์ (Johnny Walker)
ตามรายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนัก ดีเจวอล์กเกอร์ถูกยิงเสียชีวิตในสตูดิโอที่บ้านของเขา บริเวณย่านคาลัมบา (Calamba) จังหวัดคันลูรังมีซามิส (Misamis Occidental) ทางตอนใต้ของเกาะมินดาเนา (Mindanao)
หลักฐานในกล้องวิดีโอเผยให้เห็นว่า ดีเจวอล์กเกอร์หยุดดำเนินรายการ และหันหน้ากำลังมองไปทางอื่น แต่ปรากฏว่ามีเสียงปืนดังขึ้น 2 ครั้ง เขาทรุดตัวลงบนเก้าอี้ที่นั่งด้วยความทรมาน ก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ทั้งนี้การสอบสวนเบื้องต้นระบุว่า คนร้ายแฝงตัวเป็นผู้ติดตามรายการ เพื่อเข้ามาในที่เกิดเหตุช่วง 05.35 น. เช้าตรู่ เขาลงมือยิงดีเจวอล์กเกอร์ ขโมยสร้อยทองจากคอของผู้ประกาศข่าว และหลบหนีไปกับผู้สมรู้ร่วมคิดอีกรายที่รออยู่นอกบ้าน
นอกจากนี้ ตำรวจระบุถึงพฤติกรรมคนร้ายเพิ่มเติม ว่าอาจไม่ทราบว่าดีเจวอล์กเกอร์กำลังไลฟ์ทางเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม จะมีการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อค้นหาหลักฐานอื่นๆ เช่น กล้องวงจรปิดภายในบ้านหรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะแรงจูงใจในการก่อเหตุของคนร้าย ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของ ฮวน จูมาลอน
ขณะเดียวกัน เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ แถลงการณ์ประณามเหตุสังหารในครั้งนี้ โดยเผยว่าจะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามสถานการณ์ และดำเนินคดีกับฆาตกรผู้ก่อเหตุ
“การทำร้ายนักข่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย และใครก็ตามที่คุกคามเสรีภาพของสื่อต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่ตามมา” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
สหภาพนักข่าวแห่งฟิลิปปินส์ (National Union of Journalists of the Philippines: NUJP) ได้เคลื่อนไหวเพื่อประณามการกระทำข้างต้น โดยระบุว่า ฮวน จูมาลอนคือนักข่าวผู้ถูกสังหารคนที่ 199 นับตั้งแต่ปี 1986 หรือช่วงการปฏิวัติพลังประชาชน (People Power Revolution) เพื่อขับไล่ เฟอร์ดินาน มาร์กอส (Ferdinand Marcos) อดีตผู้นำจอมเผด็จการ และบิดาของมาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
“นี่เป็นการสังหารอย่างหน้าไม่อาย การโจมตีครั้งนี้เหลือทนเกินกว่าจะประณาม ตั้งแต่เหตุเกิดขึ้นในรั้วบ้านของจูมาลอนที่เป็นสถานีวิทยุ” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
เคธ คอร์เตซ (Kath Cortez) สมาชิกอาวุโสของสหภาพนักข่าวฟิลิปปินส์เผยว่า เหตุการณ์นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมด เพราะในแวดวงของอาชีพนี้ยังมีนักข่าวจำนวนมากที่ถูกข่มขู่คุกคามจากนักการเมืองและสาวกผู้คลั่งไคล้
มากกว่านั้น ความรุนแรงในกลุ่มสื่อยิ่งทวีคูณ เพราะการรายงานถึงความรุนแรงในการเลือกตั้งท้องถิ่นของบารังไก และซังกูเนียง กาบาตัน (Barangay and Sangguniang Kabataan) ในวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการปฏิเสธอย่างหนักแน่นของทางการว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างสันติและสงบสุข
ฟิลิปปินส์ในฐานะแดนโหดหินของนักข่าว: เหตุสังหารลึกลับที่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง และการสังหารหมู่สื่อในปี 2009
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่า อันตรายสำหรับนักข่าวเป็นทุนเดิม โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานจากฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Right Watch) ในปี 2022 ว่า ตัวเลขที่แท้จริงของการลอบสังหารของนักข่าวมากกว่า 200 ชีวิต นับตั้งแต่ปี 1986 และส่วนใหญ่มักเป็นผู้สื่อข่าวทางวิทยุที่อาศัยในต่างจังหวัด
ดังการเสียชีวิตของ เพอร์ซิวัล มาบาซา (Percival Mabasa) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ เพอร์ซีย์ ลาพิด (Percy Lapid) ผู้สื่อข่าวทางวิทยุและออนไลน์ เขาเสียชีวิตจากการถูกยิงในสถานีวิทยุที่เมืองปารานาคิว (Paranaque) ซึ่งภายหลังพบว่า เจอร์ราด บันแท็ก (Gerald Bantag) อดีตผู้บัญชาการเรือนจำที่ถูกปลดโดย โรดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) อดีตประธานาธิบดี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ทั้งหมด
เบื้องต้น กระทรวงยุติธรรมฟิลิปปินส์ตั้งข้อสันนิษฐานจากหลักฐานที่ปรากฏว่า บันแท็กไม่พอใจที่มาบาซาวิจารณ์ชีวิตส่วนตัว หลังผู้สื่อข่าวรายนี้ตั้งคำถามถึงไลฟ์สไตล์หรูหราของผู้บัญชาการเรือนจำ โดยชี้ให้เห็นผ่านบ้านราคาแพงหูฉี่ รถหรู 11 คัน ทั้งๆ ที่เงินเดือนสำหรับข้าราชการไม่มากพอที่จะซื้อสิ่งของเหล่านี้
นอกจากนี้ ความโหดร้ายดังกล่าวยังถูกตอกย้ำด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่ในปี 2009 เมื่อตระกูลอัมปาตวน (Ampatuan) ครอบครัวผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในจังหวัดมากินดาเนา (Maguindano) เป็นผู้บงการเหตุกราดยิงครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 58 ราย โดย 32 ใน 58 คนเป็นนักข่าว
ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่ อิสมาเอล แมงกูดาดาตู (Esmael Mangudadatu) อดีตนายกเทศมนตรีบูลูอัน (Buluan) ต้องการยื่นเอกสารเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัดมากินดาเนา แต่ถูกขัดขวางจากคนในตระกูลอัมปาตวน เพราะอันดาล อัมปาตวน จูเนียร์ (Andal Ampatuan Junior) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาตู อันเซย์ (Datu Ansay) เตรียมสมัครเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดมากินดาเนา เพื่อสืบทอดอำนาจต่อจาก อัมดาล อัมปาตวน (Andal Ampatuan) ผู้เป็นพ่อ
แมงกูดาดาตูกลับไปที่บ้านเพราะคำขู่ถึงตาย และส่งภรรยาที่ตั้งครรภ์ หรือญาติผู้หญิงหลายคนเข้ายื่นเอกสารแทน เพราะเชื่อว่าคนในตระกูลอัมปาตวนจะไม่ทำร้ายผู้หญิง ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนจำนวนมากได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์ และปกป้องผู้หญิงกลุ่มนี้ด้วยพลังจากปลายปากกา แต่เหตุกราดยิงครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภายหลังมีการเปิดเผยว่า การสังหารหมู่ถูกเตรียมการอย่างดี โดยชายฉกรรจ์ติดอาวุธกลุ่มใหญ่ได้ขุดหลุม 3 แห่งเพื่ออำพรางศพ และพยานมากกว่า 80 ชีวิตต่างชี้ว่า ครอบครัวอัมปาตวนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ ขณะที่อัมปาตวน จูเนียร์อ้างว่า แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front) เป็นผู้ลงมือ
เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้จึงเป็นอนุสรณ์สีเลือดเตือนใจความรุนแรงต่อสื่อมวลชนทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในเฉพาะฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเวลาในการดำเนินคดีที่ยาวนานมากกว่า 10 ปี กว่าผู้ต้องหาจะได้รับบทลงโทษ เมื่อศาลตัดสินใจให้จำเลย 15 คนต้องโทษด้วยการจำคุกในปี 2019 ทว่าความคลุมเครือยังคงทิ้งท้ายไว้ เพราะในคดีครั้งนี้มีผู้ต้องสงสัยมากกว่า 100 ราย
อ้างอิง
https://www.hrw.org/news/2022/11/10/philippines-swiftly-investigates-journalists-killing
https://www.voanews.com/a/philippine-prisons-chief-charged-in-journalist-s-killing-/6823770.html
https://www.reuters.com/article/us-philippines-massacre-idUSKBN1YN0CD
Tags: นักข่าว, เสรีภาพสื่อ, ผู้ประกาศข่าวทางวิทยุ, เหตุยิงกัน, เหตุสังหารหมู่, สังหารหมู่ฟิลิปปินส์, สังหารหมู่มากินดาเนา, สื่อมวลชน, อัมปาตวน, ฟิลิปปินส์, อาเซียน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้