วันนี้ (29 สิงหาคม 2565) ที่รัฐสภา หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวในที่ประชุมวุฒิสภา ในวาระรับทราบ ‘รายงานประจำปี 2564 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ ว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเยาวชนไทย ประกอบกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ประเมินว่าความเท่าทันสื่อของเยาวชนไทยอยู่ลำดับ 76 จากทั้งหมด 77 ประเทศ

“ที่ OECD ประเมินเช่นนี้ ดูจะเป็นข้อปัญหาที่บ่งบอกว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของลูกหลานเยาวชนของเราถือว่ามีปัญหาอย่างมากขณะนี้ กราบเรียนด้วยความเคารพว่าท่านจะมีวิธีคิดแก้ไขอย่างไรให้อย่างยั่งยืน”

หม่อมหลวงปนัดดากล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีการเผยแพร่ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความดีงามของพระมหากษัตริย์ไทยมากเท่าที่ควร

“ตอนนี้มีคนที่คิดเขียนประวัติศาสตร์เลื่อนลอย เหมือนนั่งเทียนเขียน ไม่มีอ้างแหล่งที่มา ไม่มีการทำเชิงอรรถ บรรณานุกรม ไม่มีการอ้างถึงเลย ในขณะเดียวกัน ตำรับตำราของศาสตราจารย์ชาวต่างประเทศที่เขียนไว้ถึงเมืองไทย ซึ่งมีการแชร์กันแพร่หลายกลับไม่มีการพูดถึง

“เช่น การกล่าวถึงสมเด็จพระปัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการมองจากต่างประเทศมาเนิ่นนานแล้วว่าพระองค์ท่านเป็นนักปกครองที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาคนี้ และแทบจะเป็นหนึ่งของโลก หนึ่งในหลายคนของโลก สิ่งนี้หากท่านจะได้กรุณาให้ลูกหลานของเราได้เรียนรู้ เกิดความภาคภูมิใจที่จะรักบ้านรักเมือง ช่วยกันหวงแหนรักษา ให้เกิดความเจริญยั่งยืนต่อไปในวันข้างหน้า”

นอกจากนี้ หม่อมหลวงปนัดดายังได้แนะนำให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพิ่มการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความไม่เข้าใจของหลายฝ่ายที่คิดว่าประเทศไทยยึดถือกฎหมายประเภทลายลักษณ์อักษร และมักอ้างว่าอะไรที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นลักษณ์อักษร ก็ไม่ต้องยึดถือปฏิบัติ

“ตามจริงแล้วคงไม่ใช่ เพราะจารีตประเพณีควรยึดถือเสมือนกฎหมาย ความที่เคยชิน ความที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ของชาติ ที่แม้ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ถือเป็นกฎหมายเสมือนได้ สิ่งนี้น่าจะไปเพิ่มความรู้ความเข้าใจ

“สิ่งนี้ตรงกับสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานไว้กับชาวไทย ในเรื่องสืบสาน รักษา และต่อยอด ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจ นำมาพูดกันประเด็นนั้น ประเด็นนี้ จริงๆ พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยเพื่อบอกแก่ลูกหลานเยาวชน แก่ประชาชน ให้เข้าใจว่า ในเมื่อเรารักและคิดถึงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นอันมาก คำสอนต่างๆ เป็นภูมิคุ้มกันชีวิต”

หม่อมหลวงปนัดดายังกล่าวอีกว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสื่อสร้างสรรค์ควรต้องปกป้องและรักษา และในเมื่อคนไทยคิดถึง รัก เทิดทูน และหวงแหน ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นอันมาก ก็ควรสืบสานคำสอนดังกล่าวให้ดำรงอยู่ในสังคมไทย และรักษาให้อยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป

ด้าน ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กล่าวว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเยาวชนปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างที่หม่อมหลวงปนัดดากล่าวไปข้างต้น และเพื่อตอบสนองปัญหาดังกล่าว กองทุนฯ ได้อนุมัติปรับแผน ‘โครงการสร้างความรับรู้ด้านสื่อสังคมออนไลน์ในกลุ่มเยาวชน’ ใหม่ โดยมีความตั้งใจเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามาสื่อสารและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ผ่านการจัดทำ ‘ค่ายเยาวชน’

“เราพบว่ายังมีเด็กและเยาวชนที่มีความคิดที่ดี มีความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์ และไม่เชื่อข้อมูลใดโดยง่ายอยู่ไม่น้อยที่แฝงตัวอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นกองทุนฯ จึงพยายามค้นหาและสนับสนุนกลุ่มคนดังกล่าวให้มีบทบาทในสังคมมากขึ้น”

ขณะที่ พลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ยังกล่าวด้วยว่า อย่าไปฝากเรื่องประวัติศาสตร์ไว้กับกระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงศึกษาธิการ อยากให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าไปวางรากฐาน ทั้งนี้ พบว่าก่อนหน้านี้ เด็กและเยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากกูเกิล ถูกบ้างผิดบ้าง และอาจทำให้เสียหายต่อบ้านเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

สำหรับพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่กองทุนฯ ไว้ในมาตรา 5 ประกอบด้วย

1. รณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

2. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเองชุมชนและสังคม

4. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

5. ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้ และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

6. ส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อให้มีการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

7. ดำเนินการและส่งเสริมให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง

Tags: , ,