วันนี้ (20 มกราคม 2565) ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวที่รัฐสภา เกี่ยวกับการประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เมื่อคืนวันที่ 19 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งระบุว่า การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก ส.ส.พรรค นำโดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐเห็นว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวจะสร้างปัญหามาก และจะทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในพรรค จึงได้นัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค โดยคณะกรรมการบริหารพรรคยืนยันว่า พรรคจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่ร้อยเอกธรรมนัสต้องการ เพราะถ้าดำเนินการจะเสียหายทั้งระบบ ด้วยเหตุนี้ เพื่อรักษาหลักการแห่งพรรค ทั้งเรื่องเอกภาพ เรื่องความมีเสถียรภาพ และหลักการ อุดมการณ์ของพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคจึงเห็นว่ารับไม่ได้
ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ในการประชุม ร้อยเอกธรรมนัสยืนยันถ้าไม่รับข้อเสนอ การบริหารพรรคจะมีปัญหาแน่นอน พรรคจึงเห็นว่าเป็นเหตุที่ร้ายแรง กระทบกับเสถียรภาพและเอกภาพของพรรคพลังประชารัฐ คณะกรรมการบริหารพรรคเลยเห็นว่าเข้ากับข้อบังคับของพรรค ข้อที่ 54 (5) คือมีเหตุร้ายแรงอื่นเกิดขึ้น จึงมีมติให้กลุ่มผู้เรียกร้อง นำโดยร้อยเอกธรรมนัสและคณะ รวม 21 คน จะต้องพ้นจากพรรคเพื่อรักษากลุ่มส่วนใหญ่ คือรักษา ส.ส. ประมาณ 100 คนที่เหลือ เพื่อขับเคลื่อนตามอุดมการณ์ของพรรคที่เป็นหลัก จึงได้ให้คณะกรรมการบริหารพรรค 17 คน ประชุมร่วมกับ ส.ส. อีก 61 คน ลงมติเพื่อให้ 21 คน พ้นจากสมาชิกภาพของพรรค เพราะพรรคไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้
ทั้งนี้ มติดังกล่าวมีคะแนนเสียงเห็นด้วย 63 เสียง เกิน 3 ใน 4 ของผู้เข้าประชุม จึงถือว่ามติได้รับเสียงจากที่ประชุมร่วม 3 ใน 4 หลังจากนี้พรรคจะเตรียมเอกสารและเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป
“ร้อยเอกธรรมนัสได้เรียกร้องในเรื่องที่พรรคไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เป็นเรื่องการปรับโครงสร้างใหม่ ถ้าไม่ปรับก็จะเคลื่อนไหวต่างๆ ให้เกิดความเสียหายต่อพรรค ท่าน (ร้อยเอกธรรมนัส) บอกว่า ท่านไม่ได้ ท่านก็ไม่ยอม ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ความมั่นคง เสถียรภาพของพรรคพลังประชารัฐ เป็นเรื่องร้ายแรงแล้ว”
ไพบูลย์ยังกล่าวอีกว่า หลังจากขับทั้ง 21 ส.ส. ออกไป ขณะนี้พรรคยังเหลือ ส.ส. อยู่อีกร่วม 100 คน การให้ ส.ส. กลุ่มนี้พ้นไป ก็เพื่อรักษาพรรคและอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งเป็นไปตามความตั้งใจของหัวหน้าพรรค ที่ต้องการให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง พร้อมกับยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับเรื่องการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี
“มตินี้เป็นการแก้ไขให้ภาพลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐที่ถูกมองว่ามีปัญหามาก มีความขัดแย้งเรื่องคนสำคัญระดับสูง เรื่องแกนนำก็จะจบไป จบอย่างแน่นอน จะไม่เกิดปัญหานี้อีกแล้ว และก็จะเกิดความเชื่อมั่น ผมเชื่อว่า หลังจากนี้จบ จบจริงๆ”
Tags: ธรรมนัส พรหมเผ่า, Report, ไพบูลย์ นิติตะวัน, พรรคพลังประชารัฐ, พลังประชารัฐ