1

ถนนดินลูกรังตัดผ่านภูเขาสูงชัน​ มองไปสองข้างทางเห็นภาพทิวทัศน์ป่า​ ตัดสลับกับหุบเขา​ และแม่น้ำ​ในเขตเทือกเขาตะนาวศรี​ มันคือภาพแห่งความอุดมสมบูรณ์​ของธรรมชาติที่สะดุดตาผู้มาเยือน​  

ถนนเส้นนี้เริ่มต้นที่ชายแดนไทย​ในจังหวัดกาญจนบุรี มุ่งหน้าสู่เมืองทวาย ภาคตะนาวศรีในประเทศพม่า ถ้าจะให้คำนิยามกับถนนเส้นนี้ คงหนีไม่พ้นคำว่า ‘กันดาร’ เพราะด้วยระยะทางเพียงแค่ 140 กิโลเมตรจากจุดเริ่มต้นสู่จุดหมายปลายทาง กลับต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่า 7 ชั่วโมง ตอกย้ำว่าถนนเส้นนี้ยังไม่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนเท่าไรนัก

หากแต่ความจริงแล้ว​ ถนนเส้นนี้กลับเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสำคัญระหว่างไทยและพม่า เปรียบเสมือนแร่เพชรที่กำลังถูกเจียระนัยให้กลายเป็นเพชรเม็ดงาม


โรดลิงก์ (Road Link) หรือรู้จักกันในชื่อถนนทีคีของท้องถิ่น คือถนนความยาว 138 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและด่านพรมแดนของไทยตรงบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ถนนเส้นนี้ถือว่ามีความสำคัญในฐานะถนนเชื่อมโยงพรมแดนและจะกลายเป็นถนนเส้นหลักของการขนถ่ายสินค้าระหว่างทวายและไทย     

2

ในปี​ 2551 โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงพรมแดน (Road Link) ระหว่างไทย-พม่าริเริ่มขึ้น พร้อมกันกับการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone: DSEZ) บนพื้นที่ชายฝั่งขนาด 250 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 2 แสนไร่ มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของไทยเกือบ 10 เท่า

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลพม่าและไทย  มีบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหอกในการพัฒนา โครงการดังกล่าวสอดรับกับแนวคิดของ รัฐบาลไทยในสมัยนั้น ซึ่งเล็งเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในประเทศเผชิญจุดอิ่มตัว ไม่สามารถขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ จึงต้องการหาฐานการผลิตใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน

การสร้างถนนเป็นขั้นตอนสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยที่ผ่านมา มีการตัดถนนเชื่อมต่อทวายและไทย ผ่านด่านชายแดนพุน้ำร้อนใน จ.กาญจนบุรี แต่ยังเป็นถนนที่มีลักษณะขรุขระ ไม่ลาดยาง  

แม้ว่าการสร้างถนนจะนำไปสู่การเชื่อมต่ออุตสาหกรรรมในพม่าและไทย เกิดผลลัพธ์ที่ตามมา คือการขยายการลงทุนด้วยเม็ดเงินขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม กลับมีคำถามจากนักพัฒนาและภาคประชาชนในทวายว่า ผลประโยชน์จากการพัฒนานี้จะตกกับคนในพื้นที่หรือไม่

3

หมู่บ้านกะเหรี่ยง ตะบิวชอง เคยมีป่าอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำลำคลองมีปลาจำนวนมาก เป็นแหล่งอาหารสำหรับคนในพื้นที่ แต่เมื่อมีการก่อสร้างถนนตัดผ่านหมู่บ้าน ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น

“บางที่ ดินจากการทำถนนหล่นจากที่เนินเขาถมไร่หมากและลำคลองรวมถึงพืชผักในป่า จากไม่เคยต้องซื้ออาหารกิน ทุกวันนี้ต้องซื้อกับรถที่เข้ามาขาย” เล เล วิง หญิงชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านตะบิวชองเล่า


เล เล วิง อายุ 38 ปี หญิงชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านตะบิวชองหนึ่งในหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างถนนฯ บอกว่าการสร้างก่อได้ตัดผ่านพื้นที่ป่าและแม่น้ำที่เธอเคยใช้เป็นแหล่งหากิน เธอเปรียบว่าป่าคือซูเปอร์มารเก็ตของชาวบ้าน

รายงานผลกระทบจากโครงการ ฯ ปี 2557  จัดทำขึ้นโดยสมาคมพัฒนาทวาย ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับ เล เล วิง โดยระบุว่าชุมชนในพื้นที่ก่อสร้างถนนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน บางพื้นที่มีการระเบิดภูเขาเกิดปัญหาดินถล่ม ส่งผลให้ดินไหลจากที่สูงลงทับถมที่นาของชุมชนและทางน้ำธรรมชาติ


กะ หงอ วัยรุ่นชาวกระเหรี่ยงอายุ 21 ปี นั่งบริเวณบ่อน้ำแห้งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแม่น้ำที่เขาใช้ดื่มกิน หาปลา และอาบน้ำ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2556 บริษัทอิตาเลียนไทยมีความพยายามตัดถนนผ่านบริเวณแม่น้ำเส้นนี้ และนำดินมาถมแม่น้ำ

การสร้างถนนยังก่อให้เกิดผลกระทบกับสวนหมากแห้ง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชนแห่งนี้

“ก่อนหน้าที่จะมีถนนเข้ามาแต่ละปี บางครอบครัวมีรายได้จากการขายหมากเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ล้านจ๊าด (ราว 625,000 บาท) แต่เมื่อสวนหมากถูกไถเพื่อสร้างถนน ผลผลิตที่ได้ลดลงทำให้รายได้ลดด้วย” พะตี่ เคโดะ ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านตะบิวชองกล่าว

อู เย อ่อง ผู้นำชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน กะเลจี ซึ่งเป็นหมู่บ้านอีกแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนน ยอมรับว่าวิถีของคนในชุมชนเปลี่ยนไปมาก อดีตชุมชนเคยมีความรักความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมีถนนเข้ามา ….

“ถนนเข้ามาถือว่าได้เป็นการพัฒนาด้านหนึ่ง เป็นสิ่งที่ดี แต่การพัฒนาก็ต้องไม่ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกคนมีส่วนร่วม ได้ประโยชน์ร่วมกัน เคารพสิทธิของกันและกัน” อู เย อ่องกล่าว

4

อย่างไรก็ดี โครงการเขตเศรษฐกิจทวายและโครงการปรับปรุงถนน ต้องชะลอลงในปี 2556 เพราะบริษัทอิตาเลียนไทยหมดสัญญาการดำเนินโครงการ และไม่สามารถหาผู้ร่วมลงทุนที่มีศักยภาพพอ ประกอบกับบริษัทร่วมทุนในท้องถิ่นของพม่าถอนตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทอิตาเลียนไทย

แต่นั่นมิได้หมายความว่าโครงการจะหยุดชะงักอย่างถาวร ในปี 2558 กรมพัฒนาการค้าระหว่างประเทศแห่งรัฐบาลพม่า และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย (สพพ.) ภายใต้รัฐบาลไทย กระโดดเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการและที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ภายใต้บริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ชื่อบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนต์ (Dawei SEZ Development Co., Ltd.)

ต่อมา ในกลางเดือนเมษายน ปี 2561 สพพ. ได้อนุมัติวงเงินกู้จำนวน 4.5 พันล้านบาท ให้รัฐสภาของรัฐบาลพม่า เพื่อดำเนินการปรับปรุงและขยายถนนเชื่อมต่อทวายและกาญจนบุรี นั่นหมายความว่าเงินลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมาจากภาษีของประชาชนคนไทย


พื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ถูกใส่ไว้ในแผนที่แสดงแหล่งท่องเที่ยวของทวายที่กระจายไว้ตามโรงแรมทั่วทวาย

“ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ สสพ. จะเข้ามาประชุม พูดคุยกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณเส้นก่อสร้างถนน”ลัลธริมา หลงเจริญ นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้ติดตามโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกล่าว

สำหรับ อู เย อ่อง การประชุมดังกล่าวเปรียบเสมือน ‘สัญญาณ’ ถึงภัยอันตรายที่กำลังจะกลับมาทำร้ายคนในหมู่บ้านอีกครั้ง

“ปัญหาเก่าตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2556 ที่ทีมก่อสร้างถนนเข้ามาสำรวจพื้นที่และมีการใช้รถไถพืชสวน ไร่นาของชาวบ้านยังไม่จบ ค่าชดเชยที่โครงการว่าจะชดเชยให้ราคาก็ยังไม่เป็นธรรม บางคน 2.5 ไร่ได้เงินชดเชยกว่า 10 ล้านจ๊าด (ราว 208,200 บาท) บางคน 12 ไร่ได้เงินชดเชยเพียง 1 ล้านจ๊าด (ราว 20,820 บาท) ” อู เย อ่องกล่าว

เขาเล่าเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่โครงการไม่ได้แจ้งชาวบ้านก่อนดำเนินการไถพื้นที่สวนและนาของชุมชน


อู เย อ่อง ผู้นำชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านกะเลจีของชาวบ้านกว่า 300 คน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการตัดถนน

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้าน 12 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการตัดถนน รวมตัวกันในชื่อ ‘กลุ่มพื้นที่กาโมต่วย’ เพื่อต่อต้านโครงการตัดถนน สมาชิกกลุ่มปิดเส้นทางก่อสร้างถนน ขัดขวางการก่อสร้าง รวมถึงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการนำก้อนหินมากองเป็นภูเขาขนาดเล็ก ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างถนน


กองหินบริเวณหน้าหมู่บ้านดับบิวซอง สร้างขึ้นจากชาวบ้านในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนในพื้นที่กาโมต่วยเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในพื้นที่

5

นอกจากการก่อสร้างถนนแล้ว การหาแหล่งสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำหรือแหล่งผลิตไฟฟ้า ต่างมีความสำคัญต่อการดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อผลิตน้ำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นอีกโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อคนที่อาศัยอยู่หมู่บ้านกาโลนท่า โดยบ้านเรือนและพืชสวนไร่นาของชาวบ้านอาจต้องจมอยู่ใต้น้ำในที่สุด

“บริษัทเคยขอให้ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านย้ายไปอยู่ที่อื่น หลวงพ่อคิดว่า ถ้าย้ายคงต้องย้ายเข้าเมือง ซื้อบ้านและอยู่ในบ้านแคบๆ ไม่มีที่ดินทำกินเหมือนในหมู่บ้าน” หลวงพ่อปัญญาวันทะ เจ้าอาวาสวัดกาโลนท่า แกนนำชุมชนต่อต้านเขื่อน เล่าย้อนกลับไปช่วงที่บริษัทบริษัทอิตาเลียนไทยเข้ามาคุยกับชาวบ้านเรื่องการสร้างเขื่อนเมื่อปี 2554

“หมู่บ้านนี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านบางคนหาแร่ขาย บางคนมีสวนผลไม้ ไร่หมากให้ผลผลิตดี ในป่ามีสมุนไพรชาวบ้านสามารถเก็บขายได้ ถ้าให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วชาวบ้านจะอยู่กินอย่างไร”


แม่น้ำตะลายยา เป็นแม่น้ำที่อยู่ในพื้นที่กาลองท่า ซึ่งถูกวางแผนไว้ว่าจะเป็นพื้นที่ในการสร้างเขื่อนสำหรับเตรียมน้ำไว้ใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

สมาชิกในชุมชนได้ร่วมกันลงชื่อแสดงเจตนาว่าจะไม่ขอย้ายออกจากหมู่บ้าน จึงทำให้โครงการก่อสร้างเขื่อนต้องชะลอออกไป นอกจากนี้ ชาวบ้านยังทำหนังสือถึงตัวแทนรัฐบาลกลาง โดยเสนอโครงการท่องเที่ยวเชิงชุมชน ให้เป็นทางเลือกในการพัฒนาหมู่บ้าน แต่รัฐบาลกลางมิได้แสดงการสนับสนุนใดๆ

“ตัวแทนรัฐบาลมักบอกพวกเราว่า ถ้าย้ายออกจะเป็นการเสียสละเพื่อประเทศชาติ แต่รัฐบาลไม่เคยสนใจความต้องการของคนในพื้นที่เลย” หลวงพ่อปัญญาวันทะกล่าว


หลวงพ่อปัญญาวันทะ เจ้าอาวาสวัดกาโลนท่า แกนนำชุมชนต่อต้านเขื่อน และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ชุมชนมีส่วนร่วมเช่น การท่องเที่ยวชุมชน

6

พะโด เอ หน่า เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงที่ทำการสู้รบกับทหารพม่ามานานหลาย 10 ปี เห็นว่าผลประโยชน์จากโครงการถนน ควรจะตกอยู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ที่ถนนตัดผ่าน ซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่ในการดูแลของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง

“ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการทำถนนฯ เมื่อปี 2553 รัฐบาลกลางบอกแค่ว่าคนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้กว้างๆ ไม่พูดเจาะจงว่าชาวบ้านและเคเอ็นยูจะได้อะไรที่ชัดเจน” พะโดกล่าว

“ที่ผ่านมาการก่อสร้างถนนส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ แม้ในช่วงนั้นจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับกระทบ แต่ก็ยังจ่ายเงินไม่ครบตามที่ทางการตกลงกับชาวบ้าน”

พะโด เห็นว่าโครงการถนนควรจะเป็นผลดีต่อชาวบ้าน เช่น ถนนอาจจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร ให้สิทธิสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในการเก็บค่าผ่านทาง เป็นต้น

“ร้อยละ 80 ของความยาวถนนต่างผ่านพื้นที่ที่เคเอ็นอูดูแลอยู่ ถนนมา ผลประโยชน์จากถนนควรตกเป็นของเคเอ็นยู” พะโดย้ำ


พะโด เอ หน่า เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู กลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงสู้รบกับรัฐบาลกลางพม่าตามแนวชายแดนไทย – พม่า กลุ่มติดอาวุธที่ดูแลพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของถนนทิคี หรือ โรดลิงคก์

นอกจากนี้ เขาเห็นว่าโครงการถนนต้องมีแผนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า

7

สำหรับ อ่องลวิน นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนกลุ่มจับตาการพัฒนาทวาย (Dawei Watch) ยอมรับว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมีประโยชน์ต่อคนในประเทศพม่า เพราะสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนที่นี่ แต่โครงการพัฒนาดังกล่าวต้องไม่สร้างผลกระทบให้กับคนในพื้นที่การพัฒนาเช่นกัน

“จะเห็นว่าโครงการพัฒนาที่ว่านี้เป็นโครงการอุตสาหกรรมหนัก ที่อาจจะสร้างมลพิษต่อผู้คน ชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสมกับคนในพื้นที่” อ่องลวินกล่าว

เขากล่าวว่า โครงการต้องกระจายผลประโยชน์ให้คนในพื้นที่ ไม่ใช่รัฐบาลกลางและรัฐบาลไทยที่ได้ประโยชน์เท่านั้น รวมทั้งต้องเคารพและฟังเสียงของคนในพื้นที่

“ตามหลักคนในพื้นที่น่าจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาอะไร ต้องการการพัฒนาแบบไหน ไม่ใช่รัฐบาลกลางจะเป็นฝ่ายตัดสินใจฝ่ายเดียว” อ่องลวินกล่าว

เขาย้ำตัวเขาไม่ได้ต่อต้านโครงการฯ แต่แค่อยากให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางการพัฒนา เขาเสนอให้นิคมอุตสาหกรรมเน้นอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งเป็นศักยภาพเดิมของพื้นที่

เช่นเดียวกับ ต้าว ยิง ยิง สมาชิกสมาพันธ์ชาวนา ชาวไร่ทวาย เธอยืนยันเช่นกันว่า ชาวนา ชาวไร่หลายคนที่ทวายก็ไม่ได้ต่อต้านโครงการฯ นี้ แต่อยากแค่มีส่วนในการแสดงแผนการพัฒนา หรือเสนอรูปแบบอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนักที่สร้างมลพิษ

“เพราะทวายมีเกาะ มีชายหาดที่สวยงาม มีอาหารทะล สถานที่ท่องเที่ยว ภูเขา ป่าที่อุดมสมบูรณ์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวน่าจะเหมาะสม” ต้าว ยิง ยิงกล่าว


แม่น้ำตะลายยา เป็นแม่น้ำที่อยู่ในพื้นที่กาลองท่า ซึ่งถูกวางแผนไว้ว่าจะเป็นพื้นที่ในการสร้างเขื่อนสำหรับเตรียมน้ำไว้ใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ผู้คนในพื้นที่พยายามผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแทน และเสนอแผนการท่องเที่ยวชุมชนแทนที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ

8

ลัลธริมา หลงเจริญ นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้ติดตามโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลไทยไม่ควรฉวยโอกาสจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำลังมีปัญหาด้านการเมือง เพื่อเข้ามาหาผลประโยชน์โดยไม่รับผิดชอบต่อคนในพื้นที่

“รัฐบาลไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาและเจ้าของเงินทุนโครงการ ควรเคารพความเห็นและการตัดสินใจของคนในพื้นที่การพัฒนาด้วย เพราะคนในพื้นที่มีความตื่นตัวที่จะคัดค้านโครงการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของพวกเขามาก”

ลัลธริมาย้ำอีกว่า คนทวายที่คัดค้านโครงการ ทำอย่างมีเหตุผล เพราะเขาเรียนรู้บทเรียนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักตามสื่อและสังคมออนไลน์  

“ชาวบ้านที่นี่ลุกขึ้นสู้อย่างจริงจังมาก และพวกเขาต้องการการมีส่วนร่วมในการพัฒนา เขาได้เสนอทางเลือกการพัฒนาอื่นๆ ด้วย รัฐบาลไทยควรจะรับฟังเขาด้วย”

 

หมายเหตุ: ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดย Earth Journalism Network ภายใต้ Internews และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
Tags: , , , ,