ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566 กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ส.ส.จังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้รับแจ้งเบาะแสจากชาวประมงในชุมชนแหลมฉบัง ถึงกรณีคราบน้ำมันรั่วไหลเป็นแนวยาวราว 200 เมตร ที่บริเวณชายหาดบ้านแหลมฉบังและชุมชนก้นชะนาง ซึ่งคาดว่าถูกคลื่นและลมพัดมาขึ้นฝั่งจากบริเวณทะเลด้านนอกหลังเขาแหลมฉบัง
ทั้งนี้ ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวระบุว่า แม้จะร้องทุกข์ไปยังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษแล้ว แต่กลับได้คำตอบคล้ายกันจากทุกฝ่ายว่า ‘ไม่พบ’
จากปัญหาข้างต้น ส.ส.พรรคก้าวไกลและทีมงาน จึงตัดสินใจติดตามเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าภูมิภาคชลบุรีลงไปในพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์เบื้องต้น ทราบว่าทางคณะทำงานกรมเจ้าท่ามีการเก็บตัวอย่างคราบน้ำมันไปเป็นหลักฐาน พร้อมลงบันทึกประจำวันเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังแจ้งเรื่องย้ำไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ไม่ไกลจากโรงกลั่นน้ำมัน แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า มีต้นตอการรั่วไหลจากโรงงานดังกล่าวหรือไม่
ต่อมา ในวันที่ 24 กันยายน 2566 จึงมีการเคลื่อนไหวจากเทศบาลนครแหลมฉบัง ด้วยการลงพื้นที่ทำความสะอาดคราบน้ำมันบริเวณชายหาด เพื่อควบคุมผลกระทบและจัดเก็บตัวอย่างน้ำกับทรายบนชายหาดที่ปนเปื้อนคราบสีดำ และนำไปตรวจสอบหาต้นตอและชนิดสารเคมีต่อไป
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ เพราะเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 พื้นที่ชายฝั่งจังหวัดชลบุรีก็เพิ่งเกิดกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเลของโรงกลั่นน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นระยะทางกว้างไกลถึง 5 กิโลเมตร
และแม้ว่าไทยออยล์จะออกแถลงการณ์ขอโทษ พร้อมแจ้งความคืบหน้าว่า เข้าควบคุมสถานการณ์และดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายทันทีตั้งแต่เกิดเหตุ อีกทั้งในเช้าของวันที่ 5 กันยายน 2566 ก็ตรวจสอบไม่พบกลุ่มคราบน้ำมันขนาดใหญ่แล้ว เหลือเพียงคราบน้ำมันบางๆ ที่ลอยบนผิวน้ำเท่านั้น ทว่าแถลงการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่ได้
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการมาถึงของกลุ่มโรงงานน้ำมันในจังหวัดชลบุรี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่มานานนับสิบปี ไม่ว่าในรูปแบบของกลิ่นเหม็นจากน้ำมันและแก๊ส ไปจนถึงภาวะอาหารเป็นพิษจากอาหารทะเลปนเปื้อน ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาโรคผิวหนัง โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือแม้แต่สุขภาพจิต แต่น้อยคนนักที่จะได้รับการฟื้นฟูเยียวยาอย่างเหมาะสม