เมื่อวานนี้ (12 ธันวาคม 2023) องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) รายงานว่า เมียนมากลายเป็นประเทศผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลกประจำปี 2023 โดยระบุว่า เศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากระบอบเผด็จการทหาร เป็นปัจจัยกระตุ้นก่อให้เกิดการเพาะปลูกอย่างกว้างขวาง 

ทั้งนี้ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Drugs and Crime: UNODC) เผยว่า เมียนมาผลิตฝิ่นได้ถึง 1,080 ตัน โดยอัตราการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นปีละ 18% ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารในปี 2021 และคาดว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 22 ปี

ขณะเดียวกัน สถิติดังกล่าวยังแซงหน้าประเทศอัฟกานิสถาน หลังรัฐบาลตาลิบัน (Taliban) สั่งห้ามเพาะปลูกฝิ่นในปี 2022 ส่งผลให้การผลิตลดลงถึง 95% หรือคิดเป็นตัวเลขอยู่ที่ 330 ตัน

เบื้องต้น UN คาดการณ์ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของฝิ่นในเมียนมาสูงถึง 1-2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 35-85 หมื่นล้านบาท) ซึ่งคิดเป็น 1.7-4.1% ของ GDP ทั้งหมดในประเทศ

เจเรมี ดักลาส (Jemery Douglads) ตัวแทนของ UNOCD ให้เหตุผลในรายงาน ‘Southeast Asia Opium Survey 2023: Cultivation, Production and Implications’ ว่า การเพาะปลูกฝิ่นในเมียนมาเพิ่มขึ้น เพราะการเข้ามาของรัฐบาลเผด็จการที่ทำให้เศรษฐกิจ ความมั่นคง และธรรมาภิบาลสั่นคลอน นำไปสู่ทางเลือกค้าฝิ่นเพื่อดำรงชีพของเกษตรกรในย่านชนบท

จีเวล (Jewel) พลเมืองเมียนมาที่อาศัยในเมืองย่างกุ้งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) ถึงสถานการณ์ในประเทศว่า นิติธรรมที่สั่นคลอนจากระบอบเผด็จการทหาร ทำให้กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ผู้คนสามารถซื้ออะไรก็ได้ แม้แต่ฝิ่นหรือยาเสพติด 

“ในบาร์หรือคลับ คุณสามารถเสพยาได้อย่างเปิดเผย และไม่มีใครต้องติดคุก การซื้อขายยาบ้าเป็นเรื่องง่ายดาย หากเทียบกับในอดีตที่เจ้าหน้ารัฐจะยึดยาเสพติดทั้งหมด” จีเวลระบุ 

ขณะที่ ยิง เลง แฮม (Ying Leng Ham) โฆษกองค์กรสิทธิมนุษยนชนแห่งรัฐฉาน (Shan Human Rights Foundation: SHRF) ให้คำตอบกับฟรีเรดิโอเอเชียว่า แต่เดิม ผู้คนในเมียนมามักเพาะปลูกชาหรืออะโวคาโด แต่ระบอบเผด็จการที่สั่นคลอนเศรษฐกิจทำให้ผู้คนไม่มีทางเลือกมากนัก

นอกจากนี้ ความอ่อนแอในการเข้าถึงสาธารณูปโภค การค้าการลงทุน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ยังกระตุ้นให้เกิดการเพาะปลูกอย่างรวดเร็วในช่วงท้ายปี 2022 อีกทั้งขั้นตอนการผลิตซับซ้อนกว่าเดิมอย่างมาก เมื่อเกษตรกรพยายามลงทุนทั้งในแง่ทรัพยากรและการบำรุงรักษามากขึ้น

ขณะนี้ รัฐฉาน (Shan) เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกฝิ่นเยอะที่สุดในประเทศ ตามมาด้วยรัฐกะฉิ่น (Kachin) รัฐชิน (Chin) และรัฐกะยา (Kayah) ท่ามกลางสถานการณ์น่าเป็นห่วง เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพเมียนมากับพันธมิตรภราดรภาพ (Three Brotherhood) ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2023 

ยังไม่รวมการลุกฮือของกลุ่มอื่นๆ เมื่อกองทัพกระเหรี่ยงแดง (Karenni Army) กองกำลังป้องกันชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (Karenni National Defense Force) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force) ร่วมปฏิบัติการในชื่อ ‘Operation 1111’ เพื่อสู้กับกองทัพเมียนมาในบริเวณรัฐฉานและรัฐกะยาในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้ดักลาสคาดการณ์ว่า การเพาะปลูกฝิ่นในเมียนมาจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่ช้า โดยเฉพาะรัฐฉานและรัฐอื่นๆ ที่มีความรุนแรง ทว่าการสั่งห้ามอาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะประชาชนไม่มีทางเลือกมากนักที่จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ข้างต้น

UN ยังเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเพาะปลูกฝิ่นของเมียนมาจะยิ่งกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายในลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการค้ายาเสพติด การฟอกเงิน และอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ชายแดนระหว่างประเทศเมียนมา ลาว และไทย ซึ่งเดอะการ์เดียน (The Guardian) ระบุว่า เป็นแหล่งค้ายาเสพติดที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นระยะเวลานาน 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของยาเสพติดในประเทศไทย สะท้อนจากเหตุการณ์ในวันที่ 13 ธันวาคม 2023 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคู่สามีภรรยาที่ลักลอบขนยาเสพติดมากกว่า 50 ล้านเม็ด ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ ดักลาสทิ้งท้ายว่า เหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาข้ามชาติที่เกิดจากวิกฤตทางการเมืองในเมียนมา และประเทศในอาเซียนต้องร่วมกันแก้ไขเพื่อหาทางออก

อ้างอิง

https://www.rfa.org/english/news/myanmar/opium-12122023164310.html

https://www.theguardian.com/world/2023/dec/12/myanmar-opium-biggest-producer-overtaking-afghanistan-unodc-study

https://www.matichon.co.th/region/news_4327927

Tags: , , , , , , , , , , , ,