ไม่กี่วันก่อน สำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานข่าวว่ารัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการแล้วว่า กองทัพพม่าที่ลงพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017 มีการสังหารหมู่ชาวโรฮีนจาจริง การกระทำดังกล่าวถือเป็นอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษยชาติ และ แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ จะออกแถลงการณ์ถึงเรื่องดังกล่าวในเร็วๆ นี้ พร้อมกับเตรียมจัดสรรงบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้องค์การสหประชาชาติเป็นผู้กำกับดูแลการสอบสวนอิสระต่อเหตุการณ์ในรัฐยะไข่

เหตุปราบปรามในปี 2017 ที่รัฐยะไข่ มีการกล่าวหาทหารเมียนมาว่าเผาบ้านเรือนและทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน และสังหารหมู่ชาวโรฮีนจาเป็นจำนวนมาก โดยมีตัวเลขระบุว่าตั้งแต่ปี 2017 มีผู้หญิงและเด็กกว่า 18,000 คน ถูกข่มขืนรุมโทรม มีคนกว่า 116,000 คน ถูกทำร้างร่างกาย 36,000 คน ถูกเผาทั้งเป็น ในช่วงเดือนแรกของการปราบปรามคาดว่ามีชาวโรฮีนจาเสียชีวิตราว 6,700-7,000 คน โดยจำนวนนั้นเป็นเด็กมากถึง 730 ราย ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยกว่า 7 แสนคน

ตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นครอบคลุมถึงการฆ่า การทำอันตรายทารุณต่อร่างกายและจิตใจ โดยที่การกระทำเหล่านั้นมีเจตนาเพื่อทำลายล้างกลุ่มเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ส่งผลให้หลายฝ่ายเรียกการปราบปรามครั้งนั้นว่าเป็น การสังหารหมู่ล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2020 สำนักข่าว CNBC เผยคลิปทหารพม่าสองคนให้การรับสารภาพกับกองทัพอาระกัน (AA) ว่ากองทัพสั่งให้สังหารและข่มขืนชาวมุสลิมโรฮีนจาในการปราบปรามปี 2017 รวมถึงมีคำสั่งว่าให้ยิงทุกอย่างที่เห็นหรือได้ยิน จึงบุกเข้าไปในหมู่บ้านต่องบาซาร์ตามคำสั่ง ยิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก่อนฝังร่างผู้เสียชีวิตกว่า 30 ร่างไว้ในหลุมเดียวกัน ภายหลังองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนเมียนมา ออกมากล่าวถึงคลิปดังกล่าวว่าตรวจสอบแล้วมีความน่าเชื่อถือ แต่ทาง CNN ระบุว่ายังไม่สามารถชี้ชัดว่าคำสารภาพนี้เป็นการข่มขู่หรือไม่ จำเป็นต้องรอให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) สอบสวนว่ากองทัพพม่ากระทำการสังหารหมู่จริงหรือไม่

สมัยที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการขึ้นบัญชีดำทหารระดับสูงของพม่า 4 นาย ได้แก่ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก ซอ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พันเอก ถั่น โอ และ พันเอก ออง ออง จากกรณีกระทำรุนแรงต่อชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ในช่วงปี 2017 เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวโรฮีนจาหลายแสนคนลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ

วันที่ 22 มีนาคม สำนักข่าว Voice of America (VOA) ลงข่าวรัฐมนตรีบลิงเคนกล่าวสุนทรพจน์ที่พิพิธภัณฑ์รำลึกถึงการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ กรุงวอชิงตัน โดยเขากล่าวว่านับตั้งแต่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกหลายครั้ง หนึ่งในนั้นเกิดขึ้นที่เมียนมา หลังจากการตรวจสอบเอกสารที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรวบรวมไว้ ทำให้สามารถระบุได้ว่าการปราบปรามชาวโรฮีนจาคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะออกมาตรการใดต่อการกระทำของรัฐบาลพม่า หรือประกาศดังกล่าวจะเป็นเพียงการกดดันองค์กรระหว่างประเทศที่มีสิทธิพิจารณาคดีดังกล่าวเท่านั้น

หลังรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ในยะไข่ รัฐบาลทหารเมียนมาได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่ารัฐบาลและกองทัพไม่เคยมีส่วนร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใครทั้งนั้น และประณามแถลงการณ์ของรัฐมนตรีบลิงเคนว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ห่างไกลจากความจริง ข้อมูลที่ใช้ในการสรุปผลว่ารัฐบาลและกองทัพก่อการสังหารหมู่ก็เป็นข้อมูลที่ไม่มีความเชื่อถือและไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศเมียนมาออกแถลงการณ์โต้กลับว่า สิ่งที่รัฐมนตรีของสหรัฐฯ พูดนั้นเป็นเพียงแค่การหวังผลทางการเมือง เพื่อต้องการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ถือเป็นความพยายามที่จะละเมิดอธิปไตยของเมียนมาด้วยการใส่ร้ายว่ารัฐบาลสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อย

 

ที่มา

https://twitter.com/StateDept/status/1506041025718013954

https://www.nbcnews.com/…/myanmar-soldiers-confess…

https://www.pbs.org/…/watch-live-secretary-of-state…

https://www.reuters.com/…/blinken-says-us-determined…/

Tags: , , , ,