เมื่อวานนี้ (2 เมษายน 2568) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG) รายงานสถานการณ์ล่าสุดของแรงงานข้ามชาติผู้รอดชีวิต จากโศกนาฏกรรมอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.7 เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา หลังมีผู้เรียกร้องให้รัฐตามหาเพื่อนผู้สูญหาย ขณะที่แสดงความกังวลต่อสิทธิประกันสังคมและอนาคตในการทำงาน โดยผู้เชี่ยวชาญขอให้ทางการไทยดูแลสุขภาพจิตผู้รอดชีวิตและครอบครัวผู้สูญหาย
สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน เปิดเผยสถานการณ์ของ มิน เท็ต และจอ ซิน (นามสมมติ) แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา 2 คนในแคมป์แห่งหนึ่งที่เดินทางมาพร้อมเอกสารโดยร้องขอให้หน่วยงานรัฐ เพื่อตามหาเพื่อนร่วมงานที่สูญหายจากเหตุแผ่นดินไหว 11 คน รวมถึงแสดงความกังวลต่อขั้นตอนการเยียวยาและประกันสังคม เนื่องจากพวกเขามีโอกาสเสี่ยงตกงานสูง
ก่อนหน้านี้มิน เท็ตและจอ ซินอาศัยในแคมป์ก่อสร้างแห่งหนึ่ง ที่มีแรงงานทั้งหมด 15 ครอบครัว แต่จากเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาเหลืออุปกรณ์ 1 อย่างคือ ‘หม้อหุงข้าว 1 ใบ’ เพราะข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่พกพาไปในไซต์ก่อสร้าง ถูกทิ้งไว้ในซากปรักหักพังทั้งหมด
ในระหว่างที่สุธาสินีให้ความช่วยเหลือ แรงงานข้ามชาติแสดงความกังวลว่า การที่เธอเข้ามาอาจทำให้พวกเขามีปัญหากับนายจ้าง แต่ท้ายที่สุดในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา มิน เท็ตและจอ ซินตัดสินใจเดินทางมาที่ศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือแรงงาน ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของอาคาร สตง.
“พวกผมไม่มีโอกาสเห็นหน้าร่างที่ถูกเก็บกู้ออกมาเลย แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าใช่หรือไม่ใช่เพื่อนของพวกผม”
มิน เท็ตกล่าวต่อหน้าตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน 3 คน พร้อมกับถือเอกสารส่วนตัวของเพื่อนร่วมงานที่หายไปตัวไป 11 คน จากเหตุการณ์ตึก สตง. โดยร้องขอหน่วยงานรัฐให้เขาและเพื่อนได้มีโอกาสเห็นร่างคนที่ช่วยเหลือออกมาได้ เพื่อแจ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้แรงงานชาวเมียนมาทั้งสองยังแสดงความกังวล ถึงการขอความช่วยเหลือและเยียวยาจากทางการไทยและบริษัทที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้สูญหายและผู้เสียชีวิตเป็นแรงงานข้ามชาติ ทำให้กระบวนการแจ้งความสูญหายหรือการเสียชีวิต ต้องอาศัยญาติพี่น้องหรือผู้มีอำนาจทางกฎหมายเป็นฝ่ายจัดการเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วครอบครัวของแรงงานข้ามชาติยังอาศัยในเมียนมา
เบื้องต้นกระทรวงแรงงานไทยตอบคำถามดังกล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปหรือมาตรการในการช่วยเหลือ อีกทั้งยังชี้แจงในขั้นตอนพิสูจน์ตัวตนว่า ต้องมีการพิสูจน์อัตลักษณ์และข้อมูลจากนายจ้างประกอบ ขณะที่สุธาสินีเห็นว่า เงื่อนไขทางกฎหมายของไทยกำลังสร้างปัญหา นับตั้งแต่วิธีการได้รับเงินชดเชยจากกองทุนทดแทน ที่ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องเป็นพ่อ แม่ ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส หรือทายาทตามกฎหมาย จนถึงเงื่อนไขพิเศษที่จะได้รับเงินคือ การต้องยื่นเอกสารเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน วีซ่า และข้อมูลจากนายจ้างเท่านั้น
นอกเหนือจากความกังวลต่อผู้สูญหาย แรงงานเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางอาชีพการงาน หลังมิน เท็ตเล่าว่า 1 วันหลังจากเหตุแผ่นดินไหว พวกเขาต้องหยุดทำงานอย่างไม่มีกำหนด และไม่แน่ใจว่าตนเองสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง อีกทั้งยังสงสัยว่า เขายังได้รับสิทธิตามระบบประกันสังคมหรือไม่ แม้จะมี MOU รับรองการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และหนังสือรับรองสถานะบุคคลก็ตาม
อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานตอบคำถามในกรณีดังกล่าวว่า แรงงานจะได้รับค่าจ้างตามปกติ โดยหากนายจ้างปฏิเสธไม่จ่ายเงิน สามารถเขียนคำร้องมายังที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ อีกทั้งแรงงานข้ามชาติยังสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
-
นายจ้างเลิกจ้างหรือเสียชีวิต
-
นายจ้างกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกาย
-
นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างงาน
-
นายจ้างล้มละลายหรือหยุดกิจการ
-
สภาพการทำงานไม่ปลอดภัย
-
นายจ้างใหม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้นายจ้างเดิม
ด้าน สมศักดิ์ พรหมดำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานประกาศชัดเจนว่า หากแรงงานข้ามชาติอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุจริงๆ กระทรวงจะเข้าไปช่วยดูแล ขณะที่สุธาสินีเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบกลุ่มคนงานทำงานรับจ้างรายวันที่ไม่ได้มีคนงานประจำ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในผู้สูญหาย โดยทางกระทรวงแรงงานตอบรับว่า ขณะนี้กำลังเรียกนายจ้างเข้ามาพูดคุยเพิ่มเติม
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงานยังแสดงความกังวลถึงสุขภาพจิตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หลังมีครอบครัวผู้สูญหาย 5 ครอบครัว เดินทางมานั่งรอบริเวณฝั่งตรงข้ามของตึก สตง.ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เธอเล่าว่า ระหว่างที่เดินทางไปเยี่ยมแคมป์แรงงานก่อสร้าง พบชายคนหนึ่งตกอยู่ในสภาวะ ‘กินไม่ได้ นอนไม่หลับ’ หลังภรรยาติดอยู่ในซากอาคาร
อย่างไรก็ตามเธอไม่แน่ใจสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น หลังมีการเคลียร์พื้นที่บริเวณศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือแรงงาน จึงเป็นคำถามที่ตามมาว่า แรงงานข้ามชาติเหล่านี้และญาติจะไปร้องเรียนที่ใด
“เราลองนึกภาพคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เห็นอาคารถล่มและคนที่เขารักอยู่ในนั้น เราเป็นห่วงเรื่องสุขภาพจิตของแรงงานกลุ่มนี้ มันคือความรุนแรงทางจิตใจที่พวกเขาต้องเผชิญ” สุธาสินีกล่าว พร้อมกับขอให้ภาครัฐมีจุด One Stop Service ที่จัดการและร้องเรียนทุกอย่างได้หมด โดยมีกระทรวงแรงงาน สำนักข่าวตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภาคประชาสังคม รวมถึงนักกฎหมายและล่ามจากภาครัฐทำงานร่วมกัน
Tags: Migrant Working Group, แผ่นดินไหว, พม่า, แรงงาน, กระทรวงแรงงาน, เมียนมา, สตง., ตึกถล่ม, ตึก สตง.