วันที่ 22 พฤษภาคม 2023 เดอะอิรวดี (The Irrawaddy) รายงานถึงความเคลื่อนไหวรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อการเลือกตั้งของประเทศไทยครั้งแรกที่มีการรายงานโดยสื่อ หลังจากพรรคก้าวไกลประกาศตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

โซ วิน (Soe Win) รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกโรงเตือนประชาชนว่า ให้เฝ้าระวังชายแดนและคอยดูสถานการณ์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเน้นย้ำถึง ‘ความอันตรายของพรรคก้าวไกล’ ในสายตาของพวกเขาต่อประชาชน

“พรรคก้าวไกลเป็นพวกสนับสนุนชาติตะวันตกและการก่อการร้าย (…) พวกเราควรตรวจสอบชายแดนและหาข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขามา ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม” ข้อความที่สำนักข่าวอิรวดีเน้นย้ำ ซึ่งกลุ่มต่อต้านการก่อการร้ายในที่นี้ หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยตามชายแดนของประเทศเมียนมา

เป็นที่คาดการณ์ในหมู่นานาชาติว่า การขึ้นมาของพรรคก้าวไกลจะส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศของเมียนมาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการพลิกบทบาทหันหน้าเป็น ‘ศัตรู’ กับกองทัพเมียนมา จากเดิมที่พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของไทยที่มาจากคณะรัฐประหารปี 2014 มาตลอด 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ประกาศชัดเจนถึงยุทธศาสตร์นโยบายการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การยึดหลักการฉันทามติทั้งห้า (5-Point Consensus) หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางมนุษยธรรมในเมียนมาโดยความร่วมมือของอาเซียน 

“เราจะเริ่มการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในของเมียนมา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาภายในสหรัฐอเมริกา เราจะเริ่มทำงานกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อสร้างแรงกดดันในระดับที่เหมาะสม รวมถึงแรงจูงใจในการแก้ไขปัญหาของพวกเขาด้วย” พิธาแสดงความคิดเห็นกับสื่อต่างชาติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของสหรัฐฯ

“หากสมาชิกอาเซียนทำให้ข้อตกลงที่เรายึดมั่นอย่างชัดเจน เป็นที่ไร้ผลโดยสิ้นเชิง นั่นเท่ากับว่า คุณกำลังสมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมและความโหดเหี้ยมต่อเนื่องของรัฐบาลทหาร” เมอซี บาเรนด์ (Mercy Barend) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซีย เคยกล่าวถึงความสำคัญของฉันทามติทั้งห้าที่ชาติอาเซียนควรปฏิบัติตาม แม้ว่าในความเป็นจริงฉันทามติดังกล่าวจะ ‘ไร้ประโยชน์’ ในสายตาคนเมียนมาก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศอาเซียนในภาคพื้นทวีป รวมถึงไทย จัดการประชุม ‘Track 1.5’ ที่นำมาซึ่งความขุ่นเคืองของชาติอาเซียนกลุ่มเกาะ ซึ่งแสดงออกผ่านการปฏิเสธเข้าร่วม และอินโดนีเซียยังมองว่า การกระทำดังกล่าว ‘ข้ามหัว’ ในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2023

นอกจากนั้น พิธายังแสดงออกถึงความห่วงใยต่อภัยพิบัติไซโคลนโมคา (Mocha) ด้วยการทวีตข้อความทั้งภาษาเมียนมาและภาษาอังกฤษว่า

“ผมมีความห่วงใยต่อคนเมียนมาในวันนี้ โดยเฉพาะผู้ที่สูญเสียชีวิต ครอบครัว และบ้านจากพายุไซโคลนโมคา

“ผมจะเข้าพบรัฐบาลรักษาการและนานาชาติเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งนี่คือการให้ความสำคัญต้นๆ กับการช่วยเหลือ และนี่คือนโยบายต่างประเทศของผมในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการรับเลือกจากประชาชนมา

“นโยบายของผมต่อเมียนมา คือการมีส่วนร่วมกับหลายฝ่าย โดยเน้นย้ำถึงการให้ความช่วยเหลือความมั่นคงทางด้านมนุษย์ รวมถึงในมิติมนุษยธรรมและเศรษฐกิจ นี่จะเป็นการปฏิบัติเพื่อบรรลุสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองสำหรับไทย อาเซียน และทั่วโลก” หัวหน้าพรรคก้าวไกลทวีตข้อความ อีกทั้งวางแผนจะนำประเด็นวิกฤตในเมียนมาเข้าหารือในสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) โดยเน้นย้ำว่า ไทยจะเป็นตัวตั้งตัวตีในอาเซียนเพื่อนำเจรจาลดความรุนแรงในเมียนมา

สื่อต่างชาติมองว่า แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเผชิญความท้าทายในการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากต้องได้รับการรับรองถึง 376 เสียง ซึ่งเหล่านี้คือกลไกทางรัฐธรรมนูญของปี 2016 (พ.ศ. 2560) ขีดไว้ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีบทบาท 

แต่นั่นก็ยิ่งเพิ่มพูนความกลัวให้รัฐบาลทหารเมียนมาว่า ชะตากรรมของพวกเขาในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับไทย อาจสะบั้นลงด้วยการเข้ามาของฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

อ้างอิง

https://www.irrawaddy.com/news/the-world-myanmar/thai-pro-democracy-partys-electoral-victory-troubles-myanmar-junta.html

https://aseanmp.org/2023/04/24/asean-must-take-stronger-stance-beyond-five-point-consensus-southeast-asian-mps-say/

https://twitter.com/Pita_MFP/status/1660253710856110080

https://www.rfa.org/english/commentaries/myanmar-asean-04282023140153.html

 

 

Tags: , , , , , , , ,