หากพูดถึง ‘มัมมี่’ ภาพแรกๆ ที่ปรากฏขึ้นในหัวใครหลายคนอาจเป็นฉากผจญภัยสุดมัน หรือหน้าของ เบรนดอน เฟรเซอร์ (Brendon Fraser) สมัยยังหนุ่มจากภาพยนตร์เรื่อง The Mummy (1999) ซึ่งสำหรับคอหนังถือเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์ในสหราชอาณาจักรเริ่มมีการไม่เห็นด้วยกับภาพจำนี้ ที่ทำให้ประวัติศาสตร์การทำมัมมี่ของคนอียิปต์โบราณถูกกลบทับ และแทนด้วยภาพผีมัมมี่ที่รอการคืนชีพมาล้างแค้นใครสักคน

ด้วยเหตุนี้พิพิธภัณฑ์จึงเริ่มเปลี่ยนคำบรรยายประกอบการจัดแสดงมัมมี่เป็นการใช้ชื่อบุคคลเจ้าของร่าง และระบุว่าเป็นคนที่ผ่านกระบวนการแปรสภาพร่างเป็นมัมมี่ (Mummified Person) เพื่อให้คนตระหนักถึงคุณค่าของคนเหล่านี้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่มากขึ้น

โจ แอนเดอร์สัน (Jo Anderson) ผู้ช่วยภัณฑรักษ์พิพิธภัณฑ์เกรตนอร์ทแฮนค็อก (Great North Museum: Hancock) ในเมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในบล็อกของเขาตั้งแต่ปี 2021 ว่าหลังจากทางพิพิธภัณฑ์ตัดสินใจเปลี่ยนคำอธิบายมัมมี่ที่จัดแสดง การใช้ภาษาที่แตกต่างกันในการอธิบายซากศพของมนุษย์เหล่านี้ ทำให้พวกเขาห่างไกลจากการพรรณนาถึงมัมมี่ในวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะบั่นทอนความเป็นมนุษย์ของพวกเขาผ่านตำนานเกี่ยวกับคำสาปของมัมมี่ และการวาดภาพพวกเขาเป็นสัตว์ประหลาดเหนือธรรมชาติ ทั้งที่ความจริงแล้วมัมมี่เป็นแค่บุคคลธรรมดาที่ผ่านกระบวนการถนอมร่างกายหลังเสียชีวิตเท่านั้น

การทำมัมมี่ (Mummification) เป็นวิธีการพิเศษของชาวอียิปต์โบราณที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ เนื่องจากการฝังศพในหลุมทรายตื้นท่ามกลางอากาศร้อนและแห้ง ทำให้ศพคายความชื้นออกจากตัวและคงสภาพเดิมได้นาน

ต่อมาช่วง 2,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงมีการเริ่มทำมัมมี่อย่างจริงจัง โดยการขจัดความชื้นออกจากร่างกายทั้งหมด เริ่มที่การถ่ายเลือดและอวัยวะภายในทั้งหมดออกจากตัว ทาเกลือเพื่อให้ร่างไม่เน่าเปื่อย และรักษาสภาพศพให้อยู่ในลักษณะเหมือนมีชีวิตมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อร่างแห้งผากทั้งหมดก็จะยัดผ้าลินินกับลูกตาปลอมเข้าไปแทนที่ โดยร่างที่ได้ทำมัมมี่จะต้องเป็นร่างของฟาโรห์ ชนชั้นสูง หรือสัตว์บางชนิดที่มีความสำคัญทางศาสนา

เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา อดัม โกลด์วอเทอร์ (Adam Goldwater) ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์เกรตนอร์ทแฮนค็อก กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ถึงความเข้าใจผิดต่อร่างมัมมี่ ‘Irtyru’ มัมมี่หญิงชาวอียิปต์ ว่าเกิดจากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ในการจัดแสดงร่างของเธอ

ผู้คนที่เข้าชมจำนวนมากไม่สนใจประวัติของเธอในฐานะคนคนหนึ่ง พวกเขาแค่มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องซากมัมมี่ ผิดกับจุดประสงค์หลักของพิพิธภัณฑ์ที่อยากจะบอกเล่าคุณค่าของชีวิตหนึ่งก่อนที่พวกเขาจะตาย และเพราะเหตุใดพวกเขาถึงมีค่ามากพอที่จะต้องถูกรักษาไว้ด้วยการทำมัมมี่

แดเนียล อองตวน (Daniel Antoine) ผู้ดูแลแผนกอียิปต์และซูดาน พิพิธภัณฑ์บริติชแห่งลอนดอน (London’s British Museum) มีความเห็นที่ต่างออกไป เขาอธิบายว่าทางพิพิธภัณฑ์จะยังใช้คำว่า ‘ซากมัมมี่’ ต่อไป แต่จะมีการอธิบายต่อท้ายว่าเป็นร่างของใคร พบที่ใด แต่จะไม่เอาประวัติของเจ้าของร่างขึ้นต้น เช่นเดียวกันกับโฆษกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสกอตแลนด์ (National Museum of Scotland) ในเอดินบะระ ที่มองคำว่ามัมมี่เป็นเพียงคำยุคใหม่ที่ใช้บอกคุณลักษณะของวัตถุเช่น หน้ากากมัมมี่ ผ้าพันมัมมี่ โลงศพมัมมี่ ไม่ได้มองว่าเป็นการลดคุณค่าของผู้ตายแต่อย่างใด

“เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง วิธีจัดแสดงคอลเลกชันมัมมี่ของเราเป็นไปตามแนวคิดจักรวรรดินิยมและอาณานิคม ที่มีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจเรื่องเชื้อชาติและชนชั้นของโลก แต่ทางพิพิธภัณฑ์ก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงการจัดแสดงและคำบรรยายบนป้ายกำกับหากมันสามารถจัดการกับอคติทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นได้” โฆษกกล่าว

Tags: ,