วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2567) ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการประชุม กนง.โดยคณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.25% ต่อปี

ปิติกล่าวว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน

เลขานุการ กนง.อธิบายขยายภาพเศรษฐกิจภาพรวมไว้ว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งให้ไทยฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ช้า วิกฤตครั้งก่อนๆ เช่น น้ำท่วมปี 2554 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 อย่างไรก็ตามถือว่าฟื้นตัวขึ้นมาระดับหนึ่งเกือบสมบูรณ์แล้ว

จากข้อมูลล่าสุดของ ธปท.เผยว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนี Global PMI: Export Orders เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือว่าไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ปกติ เพราะหากความต้องการสินค้าของโลกฟื้นตัวขึ้น การส่งออกของไทยจะต้องได้รับอานิสงส์ดังกล่าว ซึ่งสะท้อนปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าที่มีความซับซ้อนตามความต้องการของตลาดโลกได้

ด้านภาคการท่องเที่ยว ปิติเผยว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการใช้จ่ายต่อการเดินทางและจำนวนวันเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวปรับตัวลดลงต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้ประเทศได้รับประโยชน์ไม่มากเท่าที่ควร

ส่วนการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นผลมากจากตัวเลขการจ้างงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา รวมทั้งรายได้และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวติดลบ 1.11% เป็นผลจากมาตรการด้านพลังงานและอาหารสดที่ปรับตัวลดลงมา ถือว่าเป็นสิ่งดีที่ภาระของประชาชนจะลดลง ถึงอย่างนั้น เงินเฟ้อที่อยู่ในแดนลบก็ยังถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ เช่น ค่าน้ำมันยังถือว่าสูงกว่าเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมากว่า 30%

แนวโน้มของเงินเฟ้อก็ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนินโญที่ส่งผลทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

ปิติยังกล่าวอีกว่า การทำงานของดอกเบี้ยนโยบายจะเน้นไปที่การกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันการบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ดีอยู่ โดยระดับอัตราดอกเบี้ยถือว่าต่ำมาก นโยบายการเงินไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและการส่งออกได้อย่างตรงจุด

ปิติกล่าวทิ้งท้ายว่า กนง.ตระหนักดีว่าการดูแลเสถียรภาพทางการเงินต้องดูหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือภาคครัวเรือน ทั้งนี้ ภาคครัวเรือนยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดอยู่ ทำให้มีสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นประเภทสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยมากกว่าประเภทสินเชื่อประเภทอื่นในระดับที่สูง หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีก จะส่งผลกระทบหนักไปที่กลุ่มนี้

สำหรับการแถลงผลการประชุมของ กนง.ในวันนี้ เกิดขึ้นภายหลังการออกมาตั้งคำถามต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.จากฝ่ายการเมืองอย่าง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า สถานการณ์ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรปรับลงมาอยู่ร้อยละ 2.25 เนื่องจาก 4 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้ออยู่ในแดนติดลบ ยังมีช่องว่างให้ปรับลดอีกมาก

ภูมิธรรมกล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังอย่างเต็มที่แล้ว ต้องอาศัยนโยบายการเงินจากผู้ดูแลเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

“วันนี้จะแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศได้ต้องรวบรวมกันทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งจะทำ แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังค้านอยู่ จะไม่มีรูปธรรมอะไรเกิดขึ้น” ภูมิธรรมกล่าว

ขณะเดียวกัน วันนี้เศรษฐาออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ไม่เห็นด้วยกับการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% อย่างไรก็ตาม เป็นเอกสิทธิ์ของ กนง.ในการดำเนินนโยบาย

“เราไม่มีสิทธิไปก้าวก่ายอะไร หน้าที่ของผมคือให้ข้อคิดเห็นในฝ่ายรัฐบาลว่าควรทำอย่างไรบ้าง ความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ตรงไหน” เศรษฐากล่าว

Tags: , , , , ,