ในเวทีสัมมนาเรื่อง การบริหารจัดการการย้ายถิ่น: แรงงานข้ามชาติ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และผู้ลี้ภัย ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร จัดโดยเครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (TMR) ร่วมกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย โดย อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน หนึ่งในวิทยากร ชี้ถึงสาเหตุการหลุดออกจากระบบแรงงานของแรงงานข้ามชาติว่า มาจากระบบการจัดการแรงงานของไทย ที่เสี่ยงผลักแรงงานข้ามชาติให้กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย
อดิศรระบุว่า ในเดือนมกราคม 2566 มีแรงงานข้ามชาติได้รับการต่อใบอนุญาตให้ทำงานต่อในประเทศไทย จำนวน 2,466,562 คน แต่ในเดือนมีนาคม 2567 เหลือเพียง 1,614,722 คนเท่านั้น ซึ่งตัวเลขที่ลดลงนี้เป็นผลจากระบบการต่อใบอนุญาตแรงงานข้ามชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ยกตัวอย่างปัญหาคือ การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่ต้องให้ทางการเมียนมาเป็นผู้อนุมัติ รวมไปถึงการให้นายจ้างและลูกจ้างเซ็นสัญญาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ภายในสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ซึ่งการให้ทางการเข้ามาข้องเกี่ยวท่ามกลางความไม่สงบในประเทศต้นทาง ทำให้แรงงานเกิดความกังวลว่า อาจถูกส่งกลับประเทศ ขณะเดียวกันการต่อใบอนุญาตทำงานที่มีทางการเมียนมาเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินการนั้น มาพร้อมกับข้อตกลงที่เสี่ยงว่า แรงงานจะถูกเรียกกลับประเทศตามคำสั่งของทางการอย่างการเกณฑ์ทหาร แรงงานชาวเมียนมาจึงเลือกไม่เข้าสู่ระบบ
ความไม่สอดคล้องกันระหว่างระบบการต่อใบอนุญาตแรงงานกับปัจจัยต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติ ยังเห็นได้ชัดจากการจัดพื้นที่ในการต่อใบอนุญาตให้กับแรงงาน ผู้ที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุต้องเดินทางไปต่ออายุพร้อมกันในเวลาจำกัดเพียง 28 วัน ขณะที่สถานที่ในการต่ออายุใบทำงานของแรงงานชาวเมียนมามีเพียง 3 จุดคือ จังหวัดเชียงใหม่ ระนอง และกรุงเทพฯ ซึ่งอดิศรมองว่า เป็นไปได้ยากที่จะให้ลูกจ้างราว 2 ล้านคน และนายจ้างอีกราว 4 แสนคนวิ่งเข้าหาระบบ
อดิศรระบุว่า การที่ใบอนุญาตของแรงงานข้ามชาติหมดอายุพร้อมกัน ส่งผลให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องเดินทางกลับประเทศ กระทบภาคธุรกิจทำให้ขาดแรงงาน นายจ้างจึงเลือกจ้างแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาทดแทน ขณะเดียวกันปัญหาด้านระบบการต่ออายุแรงงานข้ามชาติของไทยยังกระทบบริษัทที่มีนโยบายดูแลค่าใช้จ่ายการต่อใบอนุญาตทำงาน โดยนายจ้างสูญเสียค่าใช้จ่ายต่อคนราว 1.8-2 หมื่นบาท ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้นายจ้างใช้เป็นข้ออ้างบังคับใช้แรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย กระทั่งเข้าข่ายการค้ามนุษย์
“หากค่าใช้จ่ายการขึ้นใบอนุญาตทำงานของแรงงาน และภาระรับผิดชอบของนายจ้างยังอยู่ที่จำนวนนี้ จะทำให้เกิดภาระหนี้ นำไปสู่การบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมาย เพราะสุดท้ายนายจ้างก็จะมาเรียกรับเงินจากคนงานและบังคับให้ทำงาน”
ในมุมมองของอดิศร ระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติควรมองในมิติอื่นประกอบ โดยเฉพาะปัจจัยที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทาง โดยระบบอาจมีความแตกต่างกันออกไปตามปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นระบบเดียวกัน ทั้งนี้นอกเหนือจากระบบที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเดินทางมาทำงานในประเทศไทยคือ ระบบที่จะสามารถแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายได้ในระยะยาว
“สิ่งหนึ่งที่นโยบายกฎหมายไทยต้องมีคือ การย้ายถิ่นแบบผสมผสาน ถ้าดูอย่างเมียนมา เราเริ่มแยกไม่ออกว่า ใครคือผู้ลี้ภัย ใครคือแรงงานข้ามชาติ สิ่งที่เราพบคือ เมื่อคนเมียนมาเดินทางเข้ามา เราไม่มีนโยบายเรื่องผู้ลี้ภัย แต่เรามีนโยบายแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นมันบังคับให้คนจำนวนมากที่ควรจะเป็นผู้ลี้ภัยเข้าสู่กระบวนการเป็นแรงงาน เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้อย่างปลอดภัยในประเทศไทย ไม่ถูกส่งกลับ ทำให้ภาวะการจัดการวุ่นวายมากขึ้น
“ประเทศไทยยังขาดนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผสมผสาน ขาดความเข้าใจในความเสี่ยงการโยกย้ายถิ่นฐานจากเมียนมา ทำให้ความเสี่ยงในการเข้าระบบแรงงานมีปัญหาแน่ๆ ท้ายที่สุดคน 2 กลุ่มนี้ก็จะอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย” อดิศรกล่าว
Tags: Thailand Migration Reform Consortium, TMR