วันนี้ (7 มีนาคม 2567) ที่รัฐสภา เซีย จำปาทอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.ปีกแรงงาน ได้แก่ วรรณวิภา ไม้สน, สหัสวัต คุ้มคง และพนิดา มงคลสวัสดิ์ จัดแถลงข่าวหลังจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้มีมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานของเซีย ด้วยมติเห็นด้วย 149 คะแนน ไม่เห็นด้วย 252 คะแนน และงดออกเสียง 1 คะแนน
โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ลดชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และหยุด 2 วันต่อสัปดาห์
- เพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปี 10 วันต่อปี (สะสมได้)
- สิทธิลาไปดูแลคนในครอบครัว 15 วันต่อปี
- ขยายความคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้เงื่อนไขการจ้างงานของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
- ที่ทำงานต้องมีสถานที่ปั๊มนมบุตร
เซียในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายกล่าวว่า รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานไม่ผ่านการพิจาณาจากสภาฯ เพราะร่างดังกล่าวจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น ตามหลักการ ‘ทำงาน-พักผ่อน-ใช้ชีวิต’ และยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานให้ทัดเทียมนานาประเทศ
นอกจากนั้นแล้ว เซียยังรู้สึกเสียดายที่ประเทศเสียโอกาสสร้างความเสมอภาคทางสังคม และโอกาสที่จะเพิ่มผลิตภาพการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณค่าแก่ระบบเศรษฐกิจ และรู้สึกผิดหวังที่ ส.ส.มองข้ามการคุ้มครองศักดิ์ศรีของประชาชนคนทำงานที่เป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“การคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องการเมืองขั้วตรงข้ามต้องการทำลายคะแนนเสียง ความเชื่อมั่นของชนชั้นแรงงานที่มีต่อพรรคก้าวไกล” เซียกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นกังวลที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะกระทบต่อธุรกิจ SMEs ที่จะทำให้มีค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น สหัสวัตตอบคำถามนี้ว่า การทำธุรกิจต้นทุนแรงงานเป็นเพียงต้นทุนส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้องพิจารณาต้นทุนส่วนอื่นประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าวัตถุดิบอื่นๆ
สหัสวัตยังกล่าวอีกว่า ต้องไม่เอา SMEs มาเป็นเกราะกำบังเพียงเพื่อต้องการปกป้องกลุ่มทุนไม่ให้เสียประโยชน์และขัดขวางสิทธิประโยชน์ของแรงงาน
ทั้งนี้ แม้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะไม่ผ่านการพิจารณา เซียยืนยันว่า จะเดินหน้าทำงานผลักดันกฎหมายเปลี่ยนชีวิตแรงงานต่อไป ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.ประกันสังคมที่จะเพิ่มอำนาจต่อรองและโอบอุ้มคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการประชุมสภาฯ เมื่อวานนี้มีมติรับหลักการคุ้มครองแรงงานอีก 2 ร่าง ได้แก่ ร่างแก้ไขกฎหมายเพิ่มสิทธิลาคลอดจากเดิม 98 วันเป็น 180 วันของวรรณวิภา และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของ วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ไปพิจารณา
Tags: แรงงาน, สภาผู้แทนราษฎร, พรรคก้าวไกล