วันนี้ (2 สิงหาคม 2567) ที่อาคารอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล จัดแถลงข่าวสรุปข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกลเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคม 2567การแถลงข่าวในวันนี้มีทั้งหมด 2 ช่วง โดยเริ่มด้วยชัยธวัชอธิบายข้อต่อสู้คดี ตามด้วยการปิดท้ายจากพิธา

ชัยธวัชย้ำข้อต่อสู้ที่พรรคก้าวไกลได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อต่อสู้ทั้งหมด 9 ข้อดังนี้

1. การพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ​

2. การยื่นคำร้องคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ​ที่ 3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้

4. นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นๆ ตามคำร้อง มิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล

5. การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหามิได้เป็นการล้มล้างการปกครองรอบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​เป็นประมุข หรือเป็​นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​เป็นประมุข

6. ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล

7. แม้ศาลรัฐธรรมนูญ​จะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค

8. การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคต้องพอสมควรแก่เหตุ

9. การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

ขณะที่พิธาปิดท้ายด้วยการสรุปและเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น ได้แก่ ภาพย่อย ภาพใหญ่ และอ้างอิง

1. ภาพย่อย: มีเส้นแบ่งระหว่างคดีของพรรคก้าวไกลและพรรคอื่นๆ ที่ถูกยุบในอดีตยุบพรรค เพราะกฎระเบียบของ กกต.ที่ออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

“ไม่มีระเบียบ ข้อบังคับกฎหมายของ กกต.ในการรวบรวมพยานหลักฐานในการยุบพรรค พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่มีกระบวนการนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นนี่คือเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลในคดีของเรากับคดีต่างๆ ที่ผ่านมา”

2. ภาพใหญ่: ตั้งแต่ปี 2549 มีพรรคการเมืองถูกยุบทั้งหมด 33 พรรค และนักการเมืองถูกตัดสินกว่า 249 คน คดียุบพรรคเดียวที่ถูกยกคำร้องในปี 2553 เพราะกระบวนการที่ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“ในกรณีของพรรคก้าวไกลมีเส้นแบ่งคือ กระบวนการในการพิจารณายุบพรรคที่ กกต.ไม่ได้ทำตาม ผมไม่ได้โอกาสที่จะได้รับรู้ข้อหา ไม่ได้มีโอกาสที่จะอธิบายให้ กกต.ฟัง”

3. อ้างอิง:

– ข้อต่อสู้ 9 ข้อ ได้มาจาก ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์​ ผู้เขียนลงในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ​และใช้ไกด์ไลน์ 7 ข้อในการพิจารณาการยุบพรรคของกรรมาธิการเวนิช (Venice Commission) เป็นหลักการต่อสู้คดียุบพรรคในครั้งนี้

– สื่อมวลชน The Reporters ที่แถลงข่าวว่า Venice Commission ได้ถูกรับเชิญ​มาประชุมศาลรัฐธรรมนูญเอเชียที่ไทยในเดือนกันยายน

“การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​เป็นประมุข ย่อมเคลื่อนไหวตามวิวัฒนาการของสังคม ความพยายามที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​เป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของเรา

“การปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​เป็นประมุขจึงไม่สามารถบรรลุด้วยการกดปราบ ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบด้วยการใช้พลัง ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบในนามของกฎหมาย มีแต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วนเหมาะสมต่อยุคสมัย

“การเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แตกแยก นี่คือเจตนาอันแท้จริงของพรรคก้าวไกล”

สุดท้าย เมื่อสื่อถามถึงอนาคตในการเมืองของพิธาและพรรคก้าวไกล พิธาตอบว่า

“เส้นทางของเราคือเดินหน้าต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันพุธ สิ่งที่สำคัญที่สุดในทางการเมืองคือ สาระ (Substance) ไม่ใช่ภาพภายนอก (Form) ภาพภายนอกนั้นเป็นเพียงแค่ โลโก้และสีประจำพรรค ไม่ว่าจะมาในรูปแบบอะไร Substance ของก้าวไกลจะคงอยู่ตลอด นั่นก็คือการส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวหน้า”

Tags: , ,