เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ โดยเปิดให้ประชาชนเข้าไปเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างใหม่ ได้ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อย 15 วัน ผ่านเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว จะจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และจัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย ก่อนจะส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป

กล่าวได้ว่า เป็น ‘สมรสเท่าเทียมร่างใหม่’ หลังจากที่ร่างเก่าถูกปัดตกไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 เนื่องจากจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ทันภายใน 60 วัน หลังจากการประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง ซึ่งสุญญากาศที่เกิดขึ้นทำให้กฎหมายหลายฉบับต้องหยุดชะงัก ไม่ได้ไปต่อ แม้จะผ่านการพิจารณาเข้าสภาฯ ในวาระแรกแล้วก็ตาม โดยเป็นไปตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 147

สำหรับสาระสำคัญของร่างใหม่ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีสาระสำคัญประกอบการพิจารณา ดังนี้

  1. ให้ ‘ชาย’ ‘หญิง’ หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกัน สามารถหมั้น สมรสกันได้ตามกฎหมาย เป็นคู่หมั้น คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย 

  1. ให้ตัดคำว่า ‘สามี’ และ ‘ภริยา’ และให้เพิ่มคำว่า ‘คู่สมรส’ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขในหมวดนี้

  1. ให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสซึ่งบุคคลสองคนสมรสกัน ให้มีสิทธิหน้าที่และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 

  1. ทรัพย์สินระหว่าง ‘สามีภริยา’ แก้ไขเป็น ‘ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส’ 

  1. ให้สิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย จัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน

  1. การสิ้นสุดการสมรส การเพิกถอนการสมรส การหย่าขาดจากการสมรส การจัดการทรัพย์สิน หลังสิ้นสุดการสมรส สามารถเรียกค่าทดแทนค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังสิ้นสุดการสมรส 

  1. ให้คู่สมรสซึ่งเป็นเพศเดียวกัน ซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสด้วยกันตามบรรดากฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบใดที่บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่แก่สามีภริยา หรือสามี หรือภริยา หรือคู่สมรส แล้วแต่กรณี

  1. ให้กรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ที่ฆ่าคู่สมรสของตน เป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้รับมรดก

  1. คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิต 

  1. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ให้ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา สามีภริยา หรือคู่สมรส เพื่อรองรับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับ ‘เพศสภาพ’ ของคู่สมรส

  1. การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย และความสัมพันธ์ของชาย หญิง หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกัน นอกจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

และประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมี 8+1 (ข้อเสนอแนะอื่นๆ) คำถาม ดังนี้

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ ‘บุคคลเพศเดียวกัน’ สามารถ ‘หมั้น’ และ ‘สมรส’ กันได้ตามกฎหมาย

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้บุคคลสามารถสมรสได้เมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการบัญญัติ โดยใช้คำว่า ‘คู่สมรส’ แทนคำว่า ‘สามีและภริยา’ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการบัญญัติให้คู่สมรสเพศเดียวกันซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิ หน้าที่ และจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการบัญญัติให้คู่สมรสเพศเดียวกันซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกันกับสามีภริยา หรือสามี หรือภริยา หรือคู่สมรส ที่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอื่น 

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คู่สมรสเพศเดียวกันที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิต

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา สามีภริยา หรือคู่สมรส เพื่อรองรับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรส

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย และความสัมพันธ์ของชาย หญิง หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกัน นอกจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามข้อ 1-9 ตามบรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดกแล้ว ก็ให้สามารถกระทำได้

  2. ข้อเสนอแนะอื่น ๆ

ในเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังคงเปิดรับความคิดเห็น และขณะนี้มีประชาชนลงชื่อไปแล้วกว่า 473 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กันยายน 2566)

สามารถลงชื่อแสดงความคิดเห็นร่างสมรสเท่าเทียมใหม่ได้ทาง https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php

ที่มา:

ขึ้นเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ก็ถือว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นตาม รัฐธรรมนูญ ม.77 https://ilaw.or.th/node/4510

Tags: , ,