“เขาคือฮีโร่ของเรา”
“เขาคือคนทรยศชั้นยอด แต่ทรยศในทางที่ถูกต้องเพื่อประวัติศาสตร์และมนุษยชาติ”
“เขาดูฮอตกว่าเดิม เมื่อตอนใส่แมสก์กับถอดเสื้อออก”
หากคุณเห็นข้อความเหล่านี้ในคอมมูนิตี้แฟนด้อมที่คลั่งไคล้เซเลบริตีคนดัง จะไม่ใช่เรื่องแปลกใจแต่อย่างใด ทว่ามันกลับปรากฏในคอมเมนต์และกระทู้ที่เกี่ยวข้องกับ ลุยจิ แมงจีโอนี (Luigi Mangione) ผู้ต้องสงสัยที่กำลังโด่งดังที่สุดในขณะนี้ หลังถูกชี้ตัวว่าเป็น ‘ฆาตกร’ ในคดีสังหารโหด ไบรอัน ทอมป์สัน (Brian Thompson) CEO แห่ง United Health บริษัทประกันชื่อดังสัญชาติอเมริกัน กลางมหานครนิวยอร์ต่อหน้ามวลชน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา
ไม่ใช่แค่ข้อความพรรณนาถึงความ ‘ฮอต’ ของฆาตกรสุดหล่อในโลกโซเชียลฯ หลังภาพถ่ายของเขาถูกแชร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บ้างหยิบยกโปรไฟล์การเรียนในมหาวิทยาลัยเครือไอวีลีก (Ivy League) มาชื่นชมในความฉลาดเฉลียว ขณะที่บางคนทำในสิ่งที่ใครคิดไม่ถึงคือ การหยิบเรื่องราวของแมงจีโอนีมาเขียนเป็น ‘ฟิกชัน’ ในเว็บไซต์ชื่อดัง
นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนหนึ่งออกมาสนับสนุนเขาอย่างจริงจัง โดยล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า แมงจีโอนีและทนายความได้รับเงินบริจาคสนับสนุนในเว็บไซต์ GiveSendGo ถึง 3.1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 ล้านบาท) ในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมด้วยข้อความสนับสนุนว่า การปฏิเสธเคลมประกันถือเป็นอาชญากรรม แต่ไม่มีใครถูกจับเพราะทำความผิดนี้
“เป็นการสังหารที่ชอบธรรม” คอมเมนต์หนึ่งที่บริจาคเงินในเว็บไซต์ทิ้งท้าย เช่นเดียวกับคนอื่นที่นิยามคดีความครั้งนี้ว่า เป็น ‘กระบวนการยุติธรรมนอกกฎหมาย’
Social Bandit: จาก ‘จอมโจร’ สู่ ‘ฮีโร่’ ที่ต่อสู้เพื่อความไม่เท่าเทียม
น่าสนใจว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น หากยังจำกันได้ เจเรมี มีกส์ (Jemery Meeks) นายแบบชื่อดังที่มีผู้ติดตาม 1 ล้านฟอลโลเวอร์ในอินสตาแกรม เคยมีชื่อเสียงโด่งดังจากการก่ออาชญากรรมในคดีลักทรัพย์และคดีทางอาญามาก่อน หลังรูปภาพของเขาถูกแพร่เผยในโลกโซเชียลฯ เป็นเหตุให้ผู้คนต่างคลั่งไคล้ในรูปลักษณ์ที่สะดุดตา จนตั้งฉายาให้กับเขาว่า ‘อาชญากรสุดฮอต’
นอกจากปรากฏการณ์ฮาโลเอฟเฟกต์ (Halo Effect) หรือความรู้สึกลำเอียงต่อบางสิ่งบางอย่างเช่นรูปลักษณ์หน้าตา จนมองข้ามความผิดไปอย่างหมดจด ทว่านิวยอร์กไทม์ (New York Times: NYT) ยังอธิบายมุมมองของสาธารณชนต่อแมงจีโอนีผ่านกรอบ Social Bandit หรือ ‘อาชญากรรมเพื่อต่อต้านสังคม’ อีกด้วย
หากใครจินตนาการถึงปรากฏการณ์นี้ไม่ชัดเจน ให้นึกถึงซีรีส์สเปนชื่อดังระดับโลกอย่าง Money Heist โจรในชุดแดงพร้อมด้วยหน้ากากดาลี (Dali Mask) เมื่อเมกะโปรเจกต์การปล้นของจอมโจร กลายเป็นไอคอนแห่งการต่อต้านสังคมในศตวรรษที่ 21 เผยให้เห็นอำนาจฉ้อฉลของรัฐ ความยุติธรรมที่ไม่มีอยู่จริง หรือแม้แต่ ‘ชนชั้น’ หรือความไม่เท่าเทียมที่เป็น ‘บ่อเกิด’ ของอาชญากรรมทั้งหมดทั้งมวล
กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน ภาพลักษณ์ธรรมดาของแมงจีโอนีถูกฉายให้เห็นในมุม ‘อาชญากรเพื่อสังคม’ โดยบางส่วนปรับเสริมเติมแต่งเรื่องราวของเขาให้กลายเป็นวีรบุรุษ สะท้อนจากการนำมาถูกเปรียบเทียบกับเช เกวารา (Che Guevara) ไอดอลของนักปฏิวัติทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์หน้าตาที่น่าหลงใหล พื้นเพที่ได้รับการศึกษาสูง หรือการต่อต้านอำนาจฉ้อฉลผ่านการ ‘สังหาร’ CEO บริษัทประกัน ผู้เป็นดังสัญญะของนายทุนจอมขูดรีดในระดับทุนนิยม
และเมื่อผสมผสานกับวัฒนธรรมป็อปในปัจจุบัน ไม่ว่าภาพจำจากตัวละครเอกอย่าง ‘The Professor’ ใน Money Heist หรือโรบิน ฮู้ด (Robin Hood) ในคราบจอมโจรที่ต่อสู้เพื่อสังคมและชนชั้น ทั้งยังมีหน้าตาหล่อเหลาและเสน่ห์ดึงดูดผู้คน ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้แมงจีโอนีกลายเป็น ‘ดาวเด่น’ ที่น่าติดตามในโลกโซเชียลฯ
ขณะเดียวกัน ซูซาน แคมป์เบล (Susan Campbell) อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการสื่อสาร ภาพยนตร์และสื่อ มหาวิทยาลัยนิวฮาเวน (University of New Haven) อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านฟอร์บส์ (Forbes) ว่า ‘สื่อ’ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ปรุงแต่งให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งเรื่องราว บอนนี และไคลด์ (Bonnie and Clyde), เบลล์ สตารร์ (Belle Starr) และสองพี่น้องเจมส์ (James Gangs) ที่มักฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในแง่ดี ด้วยการสร้างความเชื่อว่า อาชญากรกำลังต่อสู้กับระบบที่ไร้ความยุติธรรมอยู่
“การที่พวกเขาใช้อาวุธในการต่อสู้ เหมือนกับผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม CEO ถูกฉายให้เห็นว่า เป็นการสร้างสมดุลให้กับจักรวาล” แคมป์เบลอธิบาย
อย่างไรก็ตาม คลิฟ แลมป์ (Cliff Lampe) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) แสดงความคิดเห็นว่า มีมหรือกระแสบนโลกโซเชียลฯ บางส่วน เป็นภาพสะท้อนถึง ‘ความไม่พอใจ’ บางอย่าง
“เป็นเรื่องยากที่ตีความว่า แต่ละคนให้ความหมายกับมีมอย่างไรใดบ้าง แต่โดยทั่วไป มันสะท้อนให้เห็นถึงความหงุดหงิดต่อระบบประกันสุขภาพ หรือขยายความมากกว่านั้นคือ ความไม่พอใจต่อความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกัน” แลมป์ยังยอมรับว่า มีมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของแมงจีโอนี ประกอบไปด้วยสำนึกทางชนชั้นที่ ‘แปลก’ เท่าที่เขาเคยเห็นมา
‘แมงจีโอนี’: ภาพสะท้อนการตัดแต่งข้อมูลเพื่อ ‘เลือกรับสาร’ ในโลกโซเชียลฯ
“ในอเมริกา เราไม่ได้ฆ่าคนอย่างเลือดเย็น เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือแสดงจุดยืนบางอย่าง เราทุกคนในสังคมจะปลอดภัยน้อยลง เมื่อผู้คลั่งไคล้อุดมการณ์เลือกความยุติธรรมนอกระบบกฎหมาย”
คือคำพูดของ จอร์ช ชาพิโร (Josh Shapiro) ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ที่ออกมาย้ำว่า สิ่งที่แมงจีโอนีทำไม่ใช่เรื่องถูกต้อง และสร้างความกังวลใจอย่างยิ่ง
นอกเหนือจากการโต้ตอบสวนกระแสว่า แมงจีโอนีไม่ใช่ฮีโร่ผู้ต่อต้านทุนนิยม เมื่อเขามาจากครอบครัวชนชั้นกลางผู้มีอันจะกิน ขณะที่ CEO บริษัทประกันที่ถูกสร้างภาพแทนของปีศาจในคราบนายทุน เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงานแล้ว อีกหนึ่งคำถามที่ควรให้ความสนใจคือ การสังหารคนเพื่อตอบโต้ความไม่เป็นธรรม ถือเป็นความยุติธรรมหรือไม่
จริงอยู่ที่ว่า การสังหารเลือดเย็นครั้งนี้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการย้อนกลับมาพิจารณาระบบประกันสุขภาพและผู้ได้รับผลกระทบ หลังผู้บริหารจากบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และแอมะซอน (Amazon) เปิดเผยว่า จะขอเวลา ‘ไตร่ตรอง’ เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้มากขึ้น แต่ผู้เขียนเชื่อว่า สังคมในฝันของใครหลายคน ไม่ใช่ภาพที่เต็มไปด้วย ‘มือปืนกราดยิง’ ที่ลุกขึ้นมาล้างแค้นด้วยวิธีเดียวกันแน่นอน
ท้ายที่สุดเรื่องราวของแมงจีโอนีจึงเป็นมากกว่าบทเรียนถึงสังคม ความไม่เท่าเทียมของชนชั้น และปัญหาประกันสุขภาพในสหรัฐฯ แต่ยังสะท้อนปรากฏการณ์ ‘ตัดแต่งเพื่อเลือกรับรู้’ เมื่อคนจำนวนหนึ่ง ‘เลือก’ รับสารบางอย่างที่ตนเองเห็นพ้อง ไปจนถึงสร้าง Hidden Agenda บนโลกออนไลน์ ขณะที่ ‘อัลกอริทึม’ ในแพลตฟอร์มโซเชียลฯ ทำหน้าที่ส่งต่อข้อความเฉพาะภายในคอมมูนิตี้ที่มีความสนใจเดียวกัน โดยที่ผู้รับสารไม่คำนึงถึงเบื้องหลังของชุดข้อมูลหรือความจริงบางอย่าง
อ้างอิง
https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/hr-insight/halo-effec
https://www.standrewslawreview.com/post/social-bandits-criminals-or-heroes
https://www.nytimes.com/2024/12/11/style/luigi-mangione-uhc-social.html
https://wired.me/culture/the-internets-obsession-with-luigi-mangione-signals-a-major-shift/
Tags: ความไม่เท่าเทียม, ฆาตกร, ลุยจิ แมงจีโอนี, Social Bandit, Luigi Mangione, สหรัฐอเมริกา, ประกันสุขภาพ, ชนชั้น, Money Heist