วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยถึงทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2568 ว่า จะขยายตัวได้ที่ 2.6% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยมี ‘ภาคการท่องเที่ยว’ เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกยังคงเป็นแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการหดตัวของสินเชื่อจากภาคการเงินจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลลบกับการบริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ

พิพัฒน์กล่าวว่า หลายอุตสาหกรรมของไทยกำลังเจอแรงกดดันเป็นอย่างมาก หากมองย้อนกลับไป 2 ปีจะพบว่า ภาคบริการเป็นเพียงภาคเศรษฐกิจเดียวที่มีการเติบโต ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการเกษตรยังหดตัว มิหนำซ้ำนโยบายการค้าของ โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เข้ามาตอกย้ำทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ในภาคการเงิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กลุ่ม KKP ประเมินว่า ในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่เผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากร และความสามารถในการแข่งขันที่น้อยลง ทำให้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ราว 2.6-2.7% เพียงเท่านั้น

ด้านการท่องเที่ยวในปี 2568 คาดการณ์ว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 38 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 7% ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่ช้าลงเมื่อเทียบกับปี 2566-2567 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาที่ 20% จึงกล่าวได้ว่า ภาคบริการยังคงเป็นที่พึ่งให้กับเศรษฐกิจไทยได้ แต่สามารถพึ่งพาได้น้อยลง

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี พิพัฒน์ระบุว่า ยังคงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลอดจนการแข่งขันของสินค้านำเข้าและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เจอกับแรงกดดัน จากการแข่งขันของยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และยอดขายภายในประเทศที่ไม่ดี จึงทำให้การผลิตทั้งอุตสาหกรรมยังมีปัญหาอยู่

นอกจากนั้นข้อกังวลของ KKP ยังมองนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ว่า อาจมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กว่า 4 หมื่นล้านเหรียญ ถือเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับประเทศจีน จึงอาจทำให้สหรัฐฯ เกิดความสงสัยว่า ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ หรือไม่

“ประเด็นพวกนี้นับเป็นความเสี่ยงที่เราจะต้องติดตามผลกระทบ เราไม่รู้ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างไร เพราะยังมีความไม่แน่นอนทางนโยบายค่อนข้างเยอะ” พิพัฒน์ระบุความกังวล

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กลุ่ม KKP ชวนมองนโยบายของรัฐบาลผ่านนโยบายขาดดุลทางการคลัง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 1 หมื่นบาท ซึ่งยังไม่เห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ 

โดยพิพัฒน์ได้ยกข้อมูลการประมาณการหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังที่คาดว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าใกล้กับเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ทำให้การใช้จ่ายทางการคลังมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องระมัดระวังมากขึ้น หากใช้จ่ายแล้วไม่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเรื่องวินัยทางการคลังในอนาคตได้

“ปัญหาเศรษฐกิจเมืองไทยไม่ใช่เพียงแค่การกระตุ้นอุปสงค์ (Demand) อย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานด้วย เราเชื่อว่า นโยบายทั้ง 3 ส่วน นโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจมีความสำคัญหมดเลย ไม่สามารถกระตุ้นแต่ฝั่ง Demand ได้” พิพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , ,