จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เข้าขั้น ‘วิกฤต’ จากดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หลายภาคส่วนต่างออกมาตรการรับมือ ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายรัฐบาลหรือท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนลดการเดินทาง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จากวิกฤตดังกล่าวจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของ ‘ค่าเสียโอกาส’ ในประเด็นเรื่องสุขภาพของคนกรุงเทพฯ จะอยู่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท (ประเมินจากระยะเวลา 1 เดือน)
ในปัจจุบันหากอิงจากฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ทิศทางของผู้ป่วยกลุ่ม 13 โรคด้านระบบทางเดินหายใจของไทย เช่น ผู้ป่วยโรคปอดอุดตัน ผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากในปี 2563 ที่ 6.8 ล้านราย มาสู่ในปี 2567 ที่ 12.3 ล้านราย ซึ่งจะสูงขึ้นอีกในอนาคตจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดบ่อยและรุนแรงมากขึ้น นั่นจึงหมายความว่า คนไทยจะเสียค่ารักษาพยาบาลมากขึ้นตามไปด้วย
อีกทั้งภัยจากฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลเช่นเดียวกัน เช่น หน้ากากอนามัย หรือเครื่องกรองอากาศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังวิเคราะห์ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ โดยใช้สมมติฐานที่ว่า มีคนกรุงเทพฯ ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้และโรคทางเดินหายใจไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านราย และประมาณ 50% ของผู้ป่วยจำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน จะมีค่ารักษาพยาบาลและค่าเดินทางเฉลี่ย 1,800-2,000 บาทต่อราย ส่งผลให้ค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพทั้งการรักษาและป้องกันอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท หากรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น เช่น การหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การหยุดเรียน และการท่องเที่ยว จะมีค่าเสียโอกาสที่สูงกว่านี้ อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ยากเกินกว่าประเมินเป็นมูลค่าคือ ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย
ด้านกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ก็ออกมาแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า ยิ่งระดับค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงจะส่งผลกระทบต่อเด็กประมาณ 13.6 ล้านรายทั่วประเทศ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถือเป็นกลุ่ม ‘เปราะบางเป็นพิเศษ’ เพราะฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รวมถึงส่งผลต่อเนื่องระยะยาว เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดของทารกต่ำกว่าเกณฑ์ และมีปัญหาต่อการพัฒนาการของสมอง
ฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กพอที่จะเข้าสู่ปอดลึกและกระแสเลือด ทำลายอวัยวะหลายส่วน และมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคหอบหืด ปอดอักเสบ และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
UNICEF จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยและภาคเอกชนให้เร่งแก้ไขปัญหาที่ต้นตอเพื่อลดมลพิษทางอากาศ โดยเน้นย้ำว่าการตัดสินใจที่กล้าหาญและมองการณ์ไกลเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวแทนมาตรการระยะสั้น
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่า แม้ว่าสถานการณ์ฝุ่นในช่วง 1-2 วันนี้จะอยู่ในระดับที่ดีมากขึ้น แต่ยังมี ‘Inversion’ (การผกผันของอุณหภูมิที่ทำให้ฝุ่นควันถูกกักอยู่ในบริเวณหนึ่ง) ที่ใกล้ระดับพื้นผิวอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากนั้นค่าฝุ่นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ผ่านดาวเทียม ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่ กทม.
อย่างไรก็ตามสำนักสิ่งแวดล้อมของ กทม.ประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เพิ่มความเข้มงวดการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน ช่วยกันปรับพฤติกรรม และลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ดังนี้
1. หมั่นทําความสะอาดบ้านด้วยวิธีเช็ดฝุ่น
2. งดเผาขยะ งดจุดธูป
3. ปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับมลพิษดักจับฝุ่นละออง
4. เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
5. ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ ตรวจสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดําเกินมาตรฐาน
Tags: กทม., PM2.5, ฝุ่น, ฝุ่นกทม