วันนี้ (4 ตุลาคม 2024) สำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) รายงานว่า ไต้หวันเตรียมทำความสะอาดพื้นที่ หลังได้รับผลกระทบพายุไต้ฝุ่น ซึ่งขณะนี้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน โดยทางการเผยว่า มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ รวมถึงบ้านเรือนเสียหายนับแสนหลัง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม รัฐบาลไต้หวันสั่งปิดเกาสง (Kaohsiung) เมืองท่าสำคัญ เพื่อรับมือกับพายุไต้ฝุ่นกระท้อน (Krathon) พร้อมกับแจ้งเตือนว่า ภัยพิบัติครั้งนี้อาจรุนแรงเทียบเท่าไต้ฝุ่นเทลมา (Thelma) ในปี 1977 โดยทางการขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณทะเล แม่น้ำ และภูเขา รวมถึงปิดสถานที่ราชการ สำนักงาน ตลาดการเงิน และระงับเที่ยวบิน
ผลกระทบจากพายุทำให้หลายเมืองในไต้หวันต้องเผชิญกับภาวะแผ่นดินถล่ม น้ำท่วม ลมกระโชก มีรายงานความเสียหายทั่วทั้งเกาะว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย ผู้สูญหาย 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 600 ราย และผู้อพยพประมาณ 1,000 ราย ขณะที่เมืองผิงตง (Pingtung) มีผู้เสียชีวิต 9 ราย จากเหตุไฟไหม้ในโรงพยาบาล หลังพายุไต้ฝุ่นเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย
สำหรับเมืองเกาสงที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ รัฐบาลออกคำสั่งให้ประชาชนหลบภัย ‘อย่างเร่งด่วน’ หลังพายุไต้ฝุ่นพัดกระหน่ำด้วยความเร็วราว 162 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ต้นไม้หักโค่น ตู้คอนเทนเนอร์ปลิวจากท่าเรือ ร้านค้าและธนาคารกระจกแตกหัก รวมถึงบ้านเรือน 1.3 แสนหลัง ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้
“เหมือนกับวันสิ้นโลก ผมไม่ได้เห็นไต้ฝุ่นที่รุนแรงขนาดนี้มาหลายศตวรรษแล้ว มันมโหฬารและน่ากลัวมาก” หลิว จี้เซียง (Liu Chih-Hsiang) ชายวัย 60 ปี เจ้าของบริษัทในเมืองเกาสง เผยความรู้สึกผ่านเอเอฟพีพร้อมเล่าว่า หลังคาบ้านของเพื่อนบ้านละแวกที่อยู่อาศัยปลิวหายไปหลายหลัง
ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวัน (Central Weather Administration: CWA) ระบุว่า พายุไต้ฝุ่นกระท้อนอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนดีเปรสชันเรียบร้อย แต่โรงเรียนและสำนักงานในเมืองเกาสงยังปิดทำการ หลังต้นไม้หักโค่นและสิ่งก่อสร้างทรุดพังกีดขวางการจราจร โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่และทหารราว 1,000 คน กำลังเร่งทำความสะอาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ปกติแล้วไต้หวันต้องเผชิญกับพายุรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พายุแกมี (Gaemi) คร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 10 ราย และมีผู้บาดเจ็บนับร้อย ทั้งยังทำให้เมืองเกาสงเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน นับเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในรอบ 8 ปี
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังระบุว่า ภาวะโลกรวน (Climate Change) มีส่วนทำให้พายุทวีความรุนแรงกว่าในอดีต โดยอาจทำให้เกิดลมกระโชกแรง ฝนตกเพิ่มมากขึ้น และน้ำท่วมครั้งใหญ่
Tags: ไต้ฝุ่นกระท้อน, ไต้หวัน, ภาวะโลกรวน