เมื่อวานนี้ (24 ตุลาคม 2023) บริษัทการรถไฟแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เตรียมสอบสวนอินฟลูเอนเซอร์ต่างชาติ 4 คน หลังหลอกพนักงานเก็บตั๋วเพื่อนั่งรถไฟฟรีตลอดการเดินทาง ซึ่งสะท้อนปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวที่ล้นเกินในประเทศ
ตามรายงานของเดอะการ์เดียน (The Guardian) และเดอะเจแปนไทม์ (The Japan TImes) หนึ่งในผู้ต้องสงสัยคือแอ็กเคานต์ยูทูบ ‘Fidias’ หรือฟิดิอัส ปานายิโอตู (Fidias Panayiotou) อินฟลูเอนเซอร์ชาวไซปรัสชื่อดังที่มีผู้ติดตาม 2.38 ล้านคน
ในวิดีโอที่ฟิดิอัสอัปโหลดคือ ‘I Travelled Across Japan For Free’ ปรากฏให้เห็นว่า เขาและเพื่อนอีก 3 คน จงใจเลี่ยงพนักงานเก็บตั๋วรถไฟ และเดินขออาหารฟรีจากผู้โดยสาร ก่อนจะขังตนเองในห้องน้ำและแกล้งทำเป็นป่วย เมื่อพนักงานเก็บตั๋วสงสัยการกระทำของเขา แต่ท้ายที่สุด ฟิดิอัสหลบหนีไปขึ้นรถไฟอีกขบวนได้อย่างเฉียดฉิว โดยสัญญากับผู้ชมอย่างภาคภูมิใจว่า เขาจะขึ้นรถไฟฟรีด้วยวิธีการอื่นๆ อีก
วีรกรรมสุดฉาวโฉ่ของยูทูเบอร์ชื่อดังและเสียงของคนท้องที่
วีรกรรมอันฉาวโฉ่ของยูทูเบอร์ชื่อดังรายนี้ ไม่ได้จบแค่การหลอกขึ้นรถไฟฟรี เพราะยังปรากฏคลิปวิดีโออื่นๆ ในทำนองเดียวกันอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการอ้อนวอนขอให้ผู้คนช่วยจ่ายค่าตั๋วรถไฟ และหลอกพนักงานโรงแรมในญี่ปุ่นว่า เขาเป็นแขกของโรงแรม จนได้กินอาหารบุฟเฟต์ระดับห้าดาวฟรี
“ผมเพิ่งกินอาหารบุฟเฟต์ระดับห้าดาว และออกจากโรงแรมนี้ได้อย่างไม่มีปัญหา และไม่มีใครจับได้” ฟิดิอัสอวดอ้างการกระทำของเขาผ่านคลิปวิดีโอ
การกระทำของยูทูเบอร์รายนี้ทำให้ปฏิกิริยาของผู้คนแบ่งเป็นสองส่วน เมื่อผู้ติดตามบางส่วนชื่นชมในความพยายามของเขา ขณะที่ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น ไม่พอใจพฤติกรรมที่เข้าข่ายการต้มตุ๋นและหลอกลวงของฟิดิอัส
“น่าตกใจมาก คอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียของเขาเต็มไปด้วยเสียงชื่นชม ตำรวจควรจับผู้ชายนี้เพื่อไม่ให้คนอื่นเลียนแบบเป็นเยี่ยงอย่างได้แล้ว” ชาวเน็ตญี่ปุ่นคนแรกแสดงความคิดเห็น
“ญี่ปุ่นเป็นประเทศปลอดภัยที่สุดในโลก ฉันไม่อยากเห็นนักท่องเที่ยวทำลายบรรยากาศนั้น หากมีนักท่องเที่ยวแบบนี้อีกจำนวนมาก เราก็ไม่ต้องการพวกเขาอีกต่อไปแล้ว” ชาวญี่ปุ่นตัดพ้อถึงพฤติกรรมที่ย่ำแย่ของนักท่องเที่ยวรายอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ฟิดิอัสออกมาขอโทษหลังเกิดปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ โดยอ้างว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะเขา ‘ไม่ได้ทำการบ้าน’ กับประเทศญี่ปุ่นมากพอ
“สวัสดีทุกคน ผมอยากจะขอโทษชาวญี่ปุ่น ที่เราทำให้พวกคุณรู้สึกแย่ นั่นไม่ใช่เป้าหมายหลักของพวกเราอย่างแท้จริง! ต่อจากนี้ไป ผมจะทำการบ้านหาข้อมูลกับประเทศญี่ปุ่นให้มากพอ และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้ซ้ำรอย ผมรักคุณทุกคน!” ฟิดิอัสทิ้งข้อความในช่องทางยูทูบของเขา
ทว่าแอ็กเคานต์ @mrjeffu หรือเจฟฟรีย์ เจ. ฮอลล์ (Jeffrey J. Hall) ผู้บรรยายพิเศษแห่งมหาวิทยาลัยคันดะ (Kanda University) ในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ตอบโต้ต่อการขอโทษของฟิดิอัสว่า เป็นการขอโทษที่ไม่จริงใจ และไม่สามารถใช้ข้ออ้างว่า ‘ไม่ได้ศึกษามากพอ’ เพื่อลบล้างความผิดอาชญากรรมครั้งนี้ได้
เบื้องต้น บริษัทการรถไฟคิวชู (JR Kyushu) เปิดเผยผ่านเอเอฟพี (AFP) ว่า พวกเขาจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผ่านวิดีโอต้นเหตุของฟิดิอัส และเพื่อนยูทูเบอร์คนอื่นๆ เพื่อตัดสินใจว่า จะแจ้งตำรวจและดำเนินคดีหรือไม่
อาชญากรรมจากยูทูเบอร์: ภาพสะท้อนจำนวนนักท่องเที่ยว ที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามในยุคหลังโควิด-19
ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า ปัญหาความวุ่นวายสัมพันธ์กับวิกฤต ‘นักท่องเที่ยวล้นหลาม’ ในประเทศ หลังมีรายงานว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2023 พุ่งสูงมากกว่า 96% หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตในสังคมญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความแออัดในภูเขาไฟฟูจิ พฤติกรรมย่ำแย่ของคนต่างถิ่น เช่น การทิ้งขยะ การดื่มบนท้องถนน หรือแม้แต่การรุกล้ำจากนักท่องเที่ยว และยูทูเบอร์คนดัง
ดังกรณีของ อิสมาเอล แรมซีย์ คาลิด (Ismael Ramsey Khalid) ชายชาวอเมริกันวัย 23 ปีที่ถูกคุมขัง หลังก่อเหตุวุ่นวายนับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่การบุกรุกเข้าไปในไซต์งานก่อสร้างโรงแรมแห่งหนึ่ง และตะโกนคำว่า ‘ฟูกุชิมะ’ (Fukushima) ใส่คนงานที่ร้องขอให้เขาออกไปจากพื้นที่
ขณะที่อีกคลิปวิดีโอหนึ่งปรากฏว่า คาลิดล้อเลียนโศกนาฏกรรมในฮิโรชิมา (Hiroshima) และนางาซากิ (Nagasaki) รวมถึงถ่ายวิดีโอในร้านอาหารย่านโอซากา (Osaka) โดยไม่ได้รับอนุญาต และเปิดเพลงเสียงดังรบกวนผู้อื่น
ยังไม่รวมเหตุการณ์ในปี 2017 เมื่อ โลแกน พอล (Logan Paul) ยูทูเบอร์ชื่อดังรายหนึ่งโพสต์วิดีโอที่มีรูปผู้เสียชีวิตจากการปลิดชีพตนเอง หลังเขาเดินท่องเที่ยวในป่าอาโอกิงาฮาระ (Aokigahara) หรือป่าแห่งการฆ่าตัวตายชื่อดังบริเวณภูเขาไฟฟูจิ พร้อมเล่นมุขหยอกล้อกับบรรดาเพื่อน ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวญี่ปุ่นและทั่วโลก
ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังสร้างมาตรการเพื่อจัดระเบียบนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าประเทศ โดยอาจเพิ่มจำนวนรถบัส ขึ้นค่าตั๋วรถไฟในวันหยุดเพื่อให้บริการพิเศษ รวมถึงกระจายนักท่องเที่ยวด้วยการแนะนำเส้นทางใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ท้องถิ่น หลังเมืองใหญ่กำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะแออัดของผู้คน
อ้างอิง
https://www.japantimes.co.jp/news/2023/10/24/japan/society/free-riding-youtubers/
https://www.japantimes.co.jp/news/2023/10/18/japan/society/overtourism-prevention-plan/
https://twitter.com/mrjeffu/status/1716616002891632768
https://mainichi.jp/english/articles/20231018/p2g/00m/0bu/047000c
Tags: การท่องเที่ยว, YouTuber, overtourism, คนญี่ปุ่น, การท่องเที่ยวญี่ปุ่น, ปัญหาการกลั่นแกล้ง, Prank, ญี่ปุ่น