เมื่อวานนี้ (11 ตุลาคม 2023) รัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่นมีแผนเตรียมจำหน่าย ‘ฝาท่อระบายน้ำเหล็ก’ ให้กับประชาชนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะของสะสม โดยมีจุดประสงค์เพื่อหารายได้เข้าส่วนกลาง

เรื่องราวนี้ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะฝาท่อระบายน้ำของญี่ปุ่นมีลักษณะเฉพาะต่างจากประเทศอื่น คือการบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะ และเติมแต่งจินตนาการของศิลปิน (หรือผู้ออกแบบ) แปรเปลี่ยนเหล็กหล่อปิดสิ่งปฏิกูลธรรมดา ให้กลายเป็นหมุดหมายประจำท้องถิ่นอันล้ำค่า และน่าสะสม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ฝาท่อลาย ‘คิตตี้’ ตัวการ์ตูนน่ารักขวัญใจใครหลายคนในย่านทะมะ (Tama) กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองที่มีสวนสนุกซานริโอพูโรแลนด์ (Sanrio Puroland) ผู้ให้กำเนิด ‘เฮลโล คิตตี’ (Hello Kitty) รวมถึงฝาท่อลาย ‘เชอร์รี’ ในซากาเอะ (Sagae) เมืองยามางาตะ (Yamagata) ที่ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกเชอร์รี่ 

(ภาพ: AFP)

อย่างไรก็ตาม ความคิดในการจำหน่ายฝาท่อไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก หากย้อนกลับในปี 2017 นครมาเอะบะชิ (Maebashi) เคยเปิดจำหน่ายฝาท่อ 10 ชิ้น ท่ามกลางผู้สนใจซื้อถึง 200 คน ประกอบด้วยคนท้องถิ่นและผู้มาเยือน เช่นเดียวกับนครโทโกโรซาวะ (Tokorozawa) โดยมีการเชิญชวนบริษัทต่างๆ มาโฆษณาการจำหน่ายฝาท่อ เพื่อหางบประมาณจัดการระบบท่อน้ำเสีย

ทั้งนี้ สำนักข่าวมาอินิชิ (Mainichi Shimbun) ระบุว่า การขายฝาท่อแยกเป็น 2 ประเภท คือฝาท่อเก่าที่ผลิตขึ้นในปี 1978, 1981 และ 1990 ราคา 3,000 เยน (ประมาณ 720 บาท) ขณะที่ฝาท่อระบายน้ำผลิตใหม่จำหน่ายในราคา 6 หมื่นเยน (ประมาณ 1.4 หมื่นบาท) 

เบื้องต้น หนึ่งในฝาท่อที่มีจัดจำหน่ายมาจากเมืองเกียวโต ชิ้นแรกมีลวดลายเป็นล้อรถม้าของราชสำนัก สะท้อนถึงยุคโบราณของประเทศญี่ปุ่น ขณะที่อีกชิ้นมีลายตาราง โดยฝาท่อทั้งสองนี้ผ่านการใช้งานร่วม 30 ปี จึงเต็มไปด้วยรอยขีดข่วนและสนิมบางส่วน แต่ก็ไม่ได้ลดคุณค่าในฐานะของสะสมสำหรับใครหลายคนลงเลย

นอกจากนี้ ลวดลายฝาท่อระบายน้ำทั้ง 47 จังหวัดของญี่ปุ่น จะกลายเป็นของสะสมชิ้นอื่นๆ ในฐานะเสื้อ การ์ด พวงกุญแจ และกระเป๋าผ้า ซึ่งมีบริษัทเจแปนอันเดอร์กราวน์ (Japan Undergrond) เป็นผู้จัดจำหน่าย

ย้อนประวัติศาสตร์ฝาท่อระบายน้ำสุดเจ๋ง: ศิลปะบนเหล็กปิดสิ่งปฏิกูลเกิดขึ้นมาอย่างไร?

จุดกำเนิดงานศิลปะในฝาท่อระบายน้ำเกิดขึ้นในช่วงปี 1977 เมื่อลวดลายฝาทอระบายน้ำรูป ‘ปลาในน้ำ’ ของเมืองนาฮะ (Naha) ดึงดูดความสนใจของผู้คน ทั่วประเทศจึงค่อยๆ เริ่มสรรสร้างลวดลายของฝาท่อที่แตกต่างกันออกไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ‘สร้างความประทับใจ’ ให้กับผู้มาเยือน เช่น การออกแบบ ‘ฝาท่อเรืองแสง’ ในปี 1981 เพื่อให้มองเห็นอย่างง่ายดายในยามค่ำคืน

(ภาพ: AFP)

ปกติแล้ว ฝาปิดท่อระบายน้ำมีความแตกต่างออกไปในแต่ละภูมิภาค ผ่านแม่พิมพ์ที่ไม่เหมือนกัน โดยขั้นตอนการประกอบสร้างเต็มไปด้วยความประณีต ลวดลายในแต่ละฝาท่อจะค่อยๆ ถูกเติมแต่งด้วยฝีมือของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้ให้ประโยชน์แค่ในเรื่องความสวยงาม แต่ยังทนทาน ปลอดภัย มีระยะเวลาใช้นานยาวถึง 30 ปี และมั่นใจได้ว่า จะไม่มีชาวญี่ปุ่นคนไหนเป็นผู้โชคร้ายตกลงไปในท่อระบายน้ำแน่นอน

นอกจากนี้ ฝาท่อระบายน้ำยังได้รับความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ รวมถึงเป็นหมุดหมายสะท้อนของขึ้นชื่อหรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนไม่น้อย สะท้อนจากการมีอยู่ของ ‘การ์ดฝาท่อระบายน้ำ’ ในฐานะของสะสม ว่าด้วยที่มาและประวัติของฝาท่อในพื้นที่แห่งนั้นอีกด้วย

(ภาพ: AFP)

สำหรับฝาท่อระบายน้ำที่น่าสนใจและควรปักหมุดเพื่อไปเยือนสักครั้งในชีวิตมีดังต่อไปนี้

– ฝาท่อรูปภูเขาไฟฟูจิในเมืองฟูจิ (Fuji) หนึ่งในหมุดหมายที่ผู้ชมต่างเดินทางมาเยี่ยมชมทั่วโลก อีกทั้งยังมีฝาท่อรูปเจ้าหญิงคางุยะ (Kaguya) ตัวละครในตำนาน ‘คนตัดไผ่’ เกี่ยวข้องกับกำเนิดภูเขาไฟฟูจิ

– ฝาท่อโปเกมอน (Pokemon) ในเมืองโยโกฮามา (Yokohama)

– ฝาท่อคาร์ปบอย (Carp Boy) มาสคอตทีมเบสบอลฮิโรชิมาโตโยคาร์ป (Hiroshima Toyo Carp) ประจำเมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) 

– ฝาท่อปราสาทโอซากา (Osaka) และดอกซากุระ ในฐานะที่พำนักของ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyori) ซามูไรผู้รวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวในเมืองโอซากา 

– ฝาท่อปลาหมึกในเมืองฮาโกดาเตะ (Hakodate) ในฐานะเมืองท่าของญี่ปุ่น

อ้างอิง

https://web-japan.org/trends/11_fashion/fas202011_manhole-design.html

https://www.theguardian.com/world/2023/oct/11/manhole-covers-become-collectors-items-in-japan

https://www.okayama-japan.jp/en/feature/manhole

https://www.facebook.com/FreedomAlbum/photos/a.440865106028515.1073742043.268507956597565/440865176028508/

https://travel.trueid.net/detail/85v3z6E3rvbR

Tags: , , , , , ,