เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2022 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยตัวเลขจำนวนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปในปัจจุบัน มีจำนวนมากถึง 90,526 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,016 คน ยังคงครองสถิติเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 52 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีผู้สูงอายุเกิน 100 ปีมากกว่า 9 หมื่นคน
ญี่ปุ่นเริ่มบันทึกสถิติผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 1963 ในเวลานั้นมีผู้สูงอายุเกิน 100 ปี เพียงแค่ 153 คนเท่านั้น แต่หลังจากนั้นตัวเลขผู้มีอายุเกิน 100 ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึง 1 พันคนในปี 1981 เพิ่มเป็น 1 หมื่นคนในปี 1998 และกลายเป็น 5 หมื่นคนในปี 2012
ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 1970 ก่อนจะเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)ในปี 1994 และมุ่งหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) เมื่อปี 2007
ตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้สูงอายุเกิน 100 ปีที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงตัวเลขผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ที่แตะระดับสูงสุดคือ 36.27 ล้านคน ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด (รองลงมาคืออิตาลีและฟินแลนด์) ซึ่งประเด็นนี้สร้างความกังวลแก่รัฐบาลญี่ปุ่นในหลายด้าน โดยเฉพาะตัวเลขผู้สูงอายุที่พุ่งสูงสวนทางกับอัตราการเกิดที่น้อยลง
ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 90,526 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็น 80,161 คน หากเทียบกับประชากรญี่ปุ่น จะมีคนชราอายุ 100 ปี 72 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งจังหวัดชิมาเนะเป็นเมืองที่มีอัตราผู้สูงอายุเกิน 100 ปีมากที่สุดติดต่อกัน 10 ปี ตามด้วยจังหวัดโคจิและจังหวัดทตโตริ โดยผู้หญิงที่อายุมากที่สุดของญี่ปุ่นคือ ทัตสึมิ ฟูสะ (Tatsumi Fusa) วัย 115 ปี อาศัยอยู่ในเมืองคาชิวาระ จังหวัดโอซาก้า ส่วนชายที่อายุมากที่สุดคือ นากามูระ ชิเงรุ (Nakamura Shigeru) วัย 111 ปี อาศัยอยู่ในเมืองจินเซกิโคเก็น จังหวัดฮิโรชิม่า
เมื่อสังคมเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้ตามกลไกทุนนิยม อาชีพที่ควรจะมีแรงงานกลับขาดแคลนแรงงานวัยรุ่นและวัยกลางคนที่เป็นผลจากอัตราการเกิดที่ต่ำลง หากเป็นแบบนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบทั้งในแง่การผลิต การขาย การบริการ ปัญหาด้านสวัสดิการรัฐ และเงินบำนาญที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้จากภาษีที่น้อยลง รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุขและการให้บริการด้านการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ
หลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นหลายชุดพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว เห็นได้จากการผลักดันร่างกฎหมายให้เอกชนสามารถขยายระยะเวลาทำงาน หรือระยะเวลาเกษียณอายุลูกจ้างจาก 65 ปี เพิ่มเป็น 70 ปี เพื่อทำให้ประชากรวัยทำงานสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายกองทุนประกันสังคม รวมถึงการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถจ้างลูกจ้างที่เกษียณอายุแล้วในรูปแบบจ้างบุคคลภายนอกชั่วคราว ฟรีแลนซ์ หรือลูกจ้างประเภทงานการกุศล
ผู้ประกอบการและบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง พยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานด้วยการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันได้เกิดค่านิยมใหม่บางอย่างขึ้นในสังคม เมื่อแรงงานวัยหนุ่มสาวมองว่าสังคมสูงอายุสร้างภาระแก่พวกเขา เพราะต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง เก็บหอมรอมริบเพื่อสร้างครอบครัว และบางคนยังจำเป็นต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ภาระหลายด้านจึงส่งผลให้ประชากรวัยกลางคนมีค่านิยมไม่อยากมีลูก หรือถ้ามีก็ไม่อยากมีมากกว่า 1 คน โดยหวังที่จะประคองค่าใช้จ่าย และอีกแง่หนึ่งก็เพราะไม่อยากให้ลูกหลานมีชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยเหมือนกับที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่
คาวาอิ มาซาชิ (Kawai Masashi) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านประชากรของญี่ปุ่น เคยตั้งสมมติฐานว่า หากญี่ปุ่นยังคงเป็นสังคมสูงอายุที่ไม่มีอัตราการเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ภายในปี 2033 บ้านตามชนบทกว่า 1 ใน 3 จะกลายเป็นบ้านร้างไม่มีผู้อยู่อาศัย ในปี 2042 จำนวนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจะเพิ่มสูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และภายในปี 2065 ประชากรจะลดลงเหลือ 88 ล้านคน ก่อนจะลดลงอีกจนภายในปี 2115 จะมีประชากรญี่ปุ่นเพียง 50 ล้านคน
อ้างอิง
https://www.japantimes.co.jp/news/2022/09/16/national/japan-record-centenarians/
https://www.japantimes.co.jp/news/2022/09/18/national/japans-graying-population/
https://japantoday.com/category/business/japan-to-amend-laws-to-help-elderly-work-until-70
Tags: Report, ญี่ปุ่น, Aging Society, ผู้สูงอายุ, สังคมสูงอายุ