วันนี้ (28 มิถุนายน 2023) สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานถึงท่าทีของตุรกี หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสวีเดนอนุญาตให้ผู้ชุมนุมประท้วงเผา ‘คัมภีร์อัลกุรอาน’ ในวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา
“เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ที่สวีเดนอนุญาตให้มีการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวมุสลิมโดยอ้างเสรีภาพในการแสดงออก การนิ่งเฉยต่อการกระทำอันชั่วร้ายถือว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิด” ฮาคาน ฟิดาน (Hakan Fidan) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตุรกี แถลงประณามการกระทำของสวีเดน
“พวกเรารู้สึกเอือมระอากับการยอมรับกระแสความเกลียดกลัวมุสลิม (Islamophobia) และมันกำลังสร้างความเกลียดชังต่อศาสนาของพวกเราในยุโรป โดยเฉพาะสวีเดน” ฟาเฮรตทิน อัลทัน (Fahrettin Altun) ฝ่ายอำนวยการการสื่อสารของรัฐบาลตุรกี ทวีตข้อความ
มีการรายงานสถานการณ์ในสวีเดนจากอัลจาซีรา (Al Jazeera) และรอยเตอร์ (Reuters) ว่า ผู้ก่อเหตุสองคน ได้แก่ ซัลวาน โมมิกา (Salwan Momika) ผู้ลี้ภัยชาวอิรัก และชายนิรนามอีกหนึ่งคน ใช้บุหรี่เผาคัมภีร์อัลกุรอานหน้ามัสยิดในกรุงสตอกโฮล์ม ก่อนจะวาง ‘เบคอน’ ที่คัมภีร์ และใช้เท้าของเขาเหยียบซ้ำลงไป
ความโกรธแค้นของชาวมุสลิมบางส่วนแสดงออกมาท่ามกลางผู้คนราว 200 กว่าชีวิต ชายคนหนึ่งปาหินใส่ผู้ชุมนุมสองคน แต่ตำรวจเข้าจับกุมเสียก่อน บางคนเย้ยหยันว่า “พูดภาษาสวีเดนสิ!” หลังซัลวานโบกธงสวีเดน ทว่าเขาพูดภาษาอาหรับ ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นส่วนหนึ่งสบถคำหยาบหลายครั้งต่อทั้งสองคน
“ไม่มีปัญหาใช่ไหม?” เด็กหนุ่มคนหนึ่งในกลุ่ม ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดใส่ตำรวจระหว่างถาม
“แค่ร้อนเฉยๆ น่ะ” เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบกลับด้วยรอยยิ้ม
การกระทำของซัลวานเพิ่มความตึงเครียดให้กับชาวมุสลิมยิ่งขึ้น เมื่อเขาจงใจเผาคัมภีร์ในวันหยุดตามศาสนาอิสลาม คือเทศกาลอีดิลอัฎฮา (Eid al-Adha) หรือวันแห่งการเฉลิมฉลองเชือดสัตว์เพื่อพลีทาน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นการดูหมิ่นต่อชาวมุสลิมอย่างรุนแรง
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง เพราะพื้นเพของซัลวาน โมมิกา เป็นชายชาวอิรักที่ได้รับสัญชาติสวีเดน เขาประกาศว่า ตนเองปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า
“หนังสือเล่มนี้ควรถูกแบนในโลก เพราะเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย จริยธรรม คุณค่าความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน และสิทธิผู้หญิง มันไม่เหมาะสมในวันนี้และยุคนี้” เขาให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น (CNN)
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะกลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่งในสวีเดน ก่อเหตุดูหมิ่นชาวมุสลิมนับตั้งแต่ปี 2020 นำโดย ราสมุส ปาลูดัน (Rasmus Paludan) นักการเมืองสัญชาติเดนมาร์ก-สวีเดน หัวหน้าพรรค Stram Kurs จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น การประท้วงครั้งใหญ่ของชาวตุรกีหน้าสถานทูตสวีเดน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
การชุมนุมเพื่อเผาคัมภีร์อัลกุรอาน มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามปฏิเสธคำขอของผู้ประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งอ้างว่า การก่อเหตุเช่นนี้จะกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ โดยเฉพาะผู้ก่อการร้ายที่มีความศรัทธาอย่างรุนแรงต่อศาสนาอิสลาม แม้แต่ อุลฟ์ คริสเตอร์สสัน (Ulf Kristersson) นายกรัฐมนตรีสวีเดน ก็แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ถูกกฎหมาย แต่ไม่เหมาะสมที่จะทำ
ทุกอย่างกลับพลิกตาลปัตรไป เพราะศาลสวีเดนยืนยันว่า ผู้ประท้วงสามารถทำได้ และรัฐไม่ควรกีดกัน เพราะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech)
ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ผู้ก่อเหตุฝ่าฝืนกฎข้อห้ามในการชุมนุม หลังตำรวจจำกัดเงื่อนไขว่า ห้ามจุดไฟในสตอกโฮล์ม ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายนเป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่า “เสรีภาพในการพูดมีน้ำหนักมากกว่าการฝ่าฝืนข้อห้ามจุดไฟ”
เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว: การเผาคัมภีร์อัลกุรอานอาจกระทบการเข้าร่วมนาโตของสวีเดน
เป็นที่รู้กันดีว่า สวีเดนกำลังเข้าร่วมนาโต (North Atlantic Treaty Organization: NATO) เพราะพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยอีกต่อไป หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่แสดงให้เห็นความบ้าคลั่งของ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) อย่างไม่มีใครคาดคิด นั่นจึงทำให้สตอกโฮล์มจำใจต้องอำลาสถานะความเป็นกลาง (Neutrality) และหาที่พึ่งพาจากกลุ่มพันธมิตรในยุโรปตะวันตก
แม้มีความนิยมชมชอบจากพันธมิตรนาโต เพราะอิทธิพลของกลุ่มยุโรปตะวันตกจะแผ่ขยายไปถึงบริเวณทะเลบอลติก ซึ่งใกล้กับรัสเซียมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือ การเข้าร่วมของสวีเดนยังไม่สมบูรณ์ หลังจากตุรกีและฮังการีเป็นเพียงสองประเทศที่ไม่เห็นชอบมติครั้งนี้
ตุรกีใช้ประเด็นความเกลียดชังมุสลิม เป็นข้ออ้างยับยั้งการเข้าร่วมนาโตของสวีเดน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) เป็นผู้มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อศาสนาอิสลาม เขาอ้างว่า ประชาชนตุรกีไม่พอใจอย่างมากต่อประเด็นการเผาคัมภีร์อัลกุรอานของกลุ่มฝ่ายขวาในสวีเดน แอร์โดอันถึงกับเรียกการกระทำดังกล่าวว่า เป็น ‘การก่อการร้าย’ ตามกฎหมายภายในของตุรกี
“ถ้าคุณไม่ให้ความเคารพต่อศาสนา ความเชื่อของตุรกี หรือมุสลิม คุณจะไม่ได้รับการสนับสนุนการเข้าร่วมนาโตจากพวกเรา” แอร์โดอันประกาศกร้าวเมื่อต้นปี 2023 กับผู้นำสวีเดน
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง สาเหตุที่ตุรกีไม่ต้องการให้สวีเดนเข้าร่วมนาโต ยังมีเบื้องหลังมากมายแอบแฝง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับรัสเซีย การไม่ส่งตัวนักโทษการเมืองลี้ภัยทางการเมืองกลับตุรกี รวมถึงกลยุทธ์ถ่วงเวลาเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับสหรัฐอเมริกาในประเด็นความช่วยเหลือต่อกลุ่มก่อการร้าย (ในสายตาตุรกี) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเคิร์ด หรือพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Workers Party – PKK ในภาษาตุรกี)
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นความขัดแย้งระหว่างศาสนา อาจทำให้แอร์โดอันฉวยโอกาสต่อรองเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ต้องการมากขึ้น ขณะที่นาโตและสวีเดนเสีย ‘แต้มต่อ’ อย่างมหาศาลจากข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่งนักการทูตจากประเทศแห่งหนึ่งในยุโรปตะวันออกก็แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
“นี่เป็นการเพิ่มอำนาจให้แอร์อันโดอยู่เหนือพันธมิตร เขาสามารถใช้สถานการณ์นี้บีบคั้นและโยนความผิดให้สวีเดน” นักการทูตนิรนามอธิบายกับซีเอ็นเอ็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มนาโตไม่ต้องการ ‘เสียเวลา’ และ ‘เสียหน้า’ พวกเขาหวังว่า สวีเดนจะสามารถเข้าร่วมนาโตได้ภายในวันที่ 11 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันจัดการประชุมสุดยอดในวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย ซึ่งหากสวีเดนพลาดเส้นตายครั้งนี้ จะกลายเป็นความอัปยศครั้งใหญ่ของนาโต หลังจากมีความพยายามผลักดันวาระนี้เป็นเวลา 1 ปีเต็ม อีกทั้งยังจะเป็นอันตรายต่อทั้งกลุ่มพันธมิตรและสวีเดน เพราะไม่มีใครรู้ว่า รัสเซียภายใต้ผู้นำอย่าง วลาดีมีร์ ปูติน กำลังวางแผนอะไรอยู่ หลังเจอเหตุการณ์ ‘กบฏวากเนอร์’ (Wagner) กองกำลังอิสระของตนเองที่คิดแทงข้างหลังเขา
อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/foreign/news_2842172
https://www.aljazeera.com/news/2023/6/28/quran-desecrated-in-sweden-during-eid-al-adha-holiday
https://www.aljazeera.com/news/2022/4/19/what-do-we-know-about-the-sweden-riots
https://www.aljazeera.com/news/2023/1/23/erdogan-to-sweden-dont-expect-turkish-support-for-nato-bid
Tags: สวีเดน, ตุรกี, อิสลาม, มุสลิม, Islamophobia, แอร์โดอัน, NATO, นาโต้, เผาคัมภีร์อัลกุรอาน, Turkey, ศาสนาอิสลาม, Sweden, อัลกุรอาน