เมื่อวานนี้ (8 กรกฎาคม 2024) อิรักจัดแสดงโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไปตั้งแต่สมัยสงครามอ่าวในทศวรรษ 1990 และหลังเหตุการณ์สหรัฐฯ บุกอิรักในปี 2003 อย่างเป็นทาง โดยการจัดแสดงวัตถุครั้งนี้เป็นผลจากความพยายามทวงคืนอันยาวนานจากสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ
สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ฮุด ฮัสเซน (Fuad Hussein) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับโบราณวัตถุและส่งมอบให้ อาเหม็ด อัล-บาดรานี (Ahmed al-Badrani) รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และโบราณวัตถุ เพื่อนำกลับไปที่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก
เบื้องต้นมีการเปิดเผยรายละเอียดว่า อิรักได้รับโบราณวัตถุจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และจอร์แดน โดยส่วนหนึ่งได้แก่ รูปปั้นทองสัมฤทธิ์ของชายคนหนึ่ง และกล่องโลหะบรรจุหัวกะโหลก 8 กล่อง ซึ่งคาดว่า มาจากเมืองนิมรุด (Nimrud) ทางตอนเหนือของอิรัก ซึ่งในอดีตคือที่ตั้งของเมืองอัสซีเรียน (Assyrian) ในสมัยโบราณ ก่อนจะถูกขโมยไปยังลอสแอนเจอลิส สหรัฐฯ ในทศวรรษ 1990
ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิรักทิ้งท้ายว่า คอลเลกชันของโบราณวัตถุหายากอีกหลายชิ้นจะถูกส่งกลับมาจากสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่นภายในเดือนกรกฎาคมนี้
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลอิรักพยายามเรียกร้องการทวงคืนโบราณวัตถุจากนานาชาติ และซ่อมแซมโบราณสถานนับ 2.5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามอ่าว (Gulf War) ในทศวรรษ 1990 เมื่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร พยายามปราบปราม ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussien) จากการบุกคูเวต โดยหนึ่งในนั้นคือการใช้กลไกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเอาตัวรอดประทังชีวิต ด้วยการขุดโบราณสถานอย่างผิดกฎหมาย และลักลอบนำโบราณวัตถุไปจำหน่าย
นอกจากนั้น เหตุการณ์สหรัฐฯ บุกอิรักในปี 2003 ยังทำให้โบราณวัตถุล้ำค่าจำนวนมากหายไป หลังมีโจรปล้นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิรัก (Iraqi National Museum) และขโมยสิ่งของนับหมื่นชิ้น
ซ้ำร้าย ในระหว่างปี 2014-2017 สิ่งของและสถานที่ที่หลงเหลือยังตกเป็นเป้าของกลุ่มรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ (Islamic State of Iraq and the Levant: ISIS, ISIL) โดยมีรายงานว่า กลุ่ม ISIL ทำลายโบราณสถานและวัตถุที่ขัดกับความเชื่อ รวมถึงขโมยโบราณวัตถุในเมืองโมซุล (Mosul) หรือนครนิเนเวห์ (Nineveh) เมืองหลวงของอัสซีเรียนในอดีต ไปขายในตลาดมืดเพื่อหาทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวขององค์กร
สำหรับการส่งคืนวัตถุโบราณ ในปี 2021 สหรัฐฯ เคยคืนโบราณวัตถุให้อิรักถึง 1.7 หมื่นชิ้น โดยหนึ่งในนั้นคือ แผ่นหินมหากาพย์กิลกาเมช (Epic of Gilgamesh) ที่มีอายุ 3,500 ปี หลังถูกยึดในปี 2019 จากการขายทอดตลาดอย่างผิดกฎหมายในรัฐโอคลาโฮมา (Oklahoma) และจัดแสดงในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington DC)
ย้อนกลับไปในปี 2023 ไฮเดอร์ ฟาร์ฮัน (Haider Farhan) นักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุจากมหาวิทยาลัยแบกแดด (University of Baghdad) เปิดเผยกับอัลจาซีรา (Al Jazeera) ว่า รัฐบาลอิรักกำลังเจรจาทวงคืนวัตถุโบราณ ซึ่งทุกอย่างมีแนวโน้มไปในทางบวก แต่ยังไม่เป็นไปตามความคาดหวังทั้งหมด
เขาอธิบายต่อว่า อุปสรรคสำคัญในการทวงคืนโบราณวัตถุ คือวัตถุที่ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิรักไม่มีการยืนยันจำนวนแน่นอนเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของทางการที่มีอยู่
ปัจจุบัน สำนักงานยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ประจำกรุงแบกแดดระบุว่า รัฐบาลอิรักกำลังประสานงานเพื่อทวงคืนโบราณวัตถุมากกว่า 4 หมื่นชิ้นที่กระจัดกระจายอยู่ในทั่วทุกมุมโลก ซึ่งในระหว่างปี 2017-2022 มีการค้นพบโบราณวัตถุถึง 3 หมื่นชิ้นที่หายไปแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวอิรักจำนวนมากกล่าวโทษว่า สหรัฐฯ เป็นต้นเหตุให้สิ่งของล้ำค่าต่างๆ สูญหาย โดยเฉพาะเหตุการณ์บุกอิรักในปี 2003 โดย อาเมอร์ อับดัล-รัซซัก (Amer Abdul-Razzaq) นักโบราณคดี แสดงความคิดเห็นว่า การที่สหรัฐฯ ปล่อยให้โจรขโมยสิ่งของ ไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อ แต่คือความตั้งใจต่างหาก
รัซซักยังเล่าว่า กองทัพสหรัฐฯ สามารถใช้รถถังรายล้อมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติในยามยึดครองได้ แต่กลับไม่จัดการมาเฟียและหัวขโมย แม้ภายหลังเผชิญแรงกดดันจากรัฐบาลอิรักให้ต้องส่งคืนโบราณวัตถุ ทว่าสหรัฐฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายโบราณวัตถุเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งฐานทัพในเมืองบาบิโลน (Babylon) การสร้างเนินดินขึ้นมาใหม่โดยใช้แผ่นดินเหนียวคูนิฟอร์ม (Cuniform) หรือการวางอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้ในซิกกุรัตแห่งอูร์ (Ziggurat of Ur) โบราณสถานสำคัญของอิรัก
“สิ่งที่เราได้คืนมาเล็กน้อยมาก ยังมีสิ่งของจำนวนมากที่ประมูลขายในสหรัฐฯ และอังกฤษ รวมถึงประเทศอื่นๆ เราต้องการความพยายามทางการทูตและการประสานงานของนานาชาติ” รัซซักทิ้งท้าย
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/world/2021/aug/03/us-to-return-17000-looted-ancient-artefacts-to-iraq
https://www.arabnews.com/node/2545706/middle-east
https://www.thenationalnews.com/news/mena/2024/07/08/iraq-stolen-treasure/
Tags: อิรัก, ตะวันออกกลาง, โบราณวัตถุ, โบราณคดี, ISIL, สงครามอ่าว, สหรัฐฯ บุกอิรัก, Gulf War, สหรัฐอเมริกา, โบราณสถาน