วันนี้ (30 สิงหาคม 2024) ผลสำรวจจากอิปซอส (Ipsos) บริษัทด้านการสำรวจและวิจัยระดับโลก เปิดเผยว่า กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) แคนดิเดตท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต (Democratics Party) มีคะแนนห่างจาก โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ถึง 4% แต่ยังแพ้ในรัฐที่มีคะแนนผันผวน (Swing States)
ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม อิปซอสเคยรายงานว่า คะแนนความนิยมระหว่างแฮร์ริสกับทรัมป์อยู่ที่ 43% ต่อ 42% หรือห่างกันเพียง 1% เท่านั้น ทว่าผลสำรวจในเดือนสิงหาคม จากประชากรตัวอย่างคือ ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 4,253 คน ซึ่งประกอบด้วยมีผู้สิทธิเลือกตั้ง 3,562 คน กลับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คือแฮร์ริสได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น 45% ขณะที่คะแนนของทรัมป์ลดลงเหลือ 41% โดยทั้งหมดทิ้งห่างจากกันราว 4%
ขณะเดียวกันยังพบส่วนต่างในผลสำรวจจากค่าเฉลี่ย หรือความคลาดเคลื่อนของกลุ่มประชากร (Margin of Error) ราว 2% หลังแคนดิเดตจากพรรคเดโมเครตได้รับความนิยมในกลุ่มผู้หญิงและฮิสแปนิก (Hispanic) อย่างมีนัยสำคัญ โดยแฮร์ริสมีคะแนนนำทรัมป์ถึง 13% ในกลุ่มนี้ หรือคิดเป็น 49% ต่อ 36% ซึ่งหากเทียบกับผลสำรวจในเดือนกรกฎาคมจะพบว่า เธอมีคะแนนนำในกลุ่มผู้หญิงเพียง 9% และ 6% ในกลุ่มฮิสแปนิกเท่านั้น
นอกจากนี้ แม้ทรัมป์มีคะแนนนำในหมู่ผู้ชายและคนผิวขาวเหมือนโพลในเดือนกรกฎาคม แต่หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า คะแนนความนิยมในหมู่ผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษาวุฒิปริญญาตรีลดลงราว 14 คะแนน
อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าทรัมป์ยังนำแฮร์ริสในรัฐที่มีคะแนนผันผวน 45% ต่อ 43% ได้แก่ วิสคอนซิน (Wisconsin), เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania), จอร์เจีย (Georgia), แอริโซนา (Arizona), นอร์ทแคโรไลนา (North Carolina), มิชิแกน (Michigan) และเนวาดา (Nevada)
อีกนัยหนึ่ง คะแนนผลสำรวจนี้กำลังสะท้อนพลวัตทางการเมืองในกลุ่มชาวอเมริกัน ที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์การเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเดโมแครตเคยสร้างแผ่นดินไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ ด้วยการ ‘เปลี่ยนตัว’ แคนดิเดตสายฟ้าแลบ จากเดิมคือ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ถึงอาการผิดปกติระหว่างการดีเบตครั้งแรก
อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่แฮร์ริสขึ้นมาเป็นแคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต เธอมีคะแนนนำทรัมป์ตลอดในหลายโพล เช่น มอร์นิงคอนซัลต์ (Morning Consult) ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ก็เผยผลสำรวจในเดือนสิงหาคมเช่นเดียวกันว่า รองประธานาธิบดีหญิงมีคะแนนนำอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2% ใน 7 รัฐ และพบผลต่างจากค่าเฉลี่ยราว 1%
ในอีกมุมหนึ่ง รอยเตอร์ยังระบุความแตกต่างของกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงทั้ง 2 คน โดยผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต 61% โหวตให้ไบเดน ขณะที่ 52% สนับสนุนแฮร์ริส ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เพื่อสกัดกั้นการขึ้นมาของทรัมป์ ขณะที่ผู้สนับสนุนแคนดิเดตจากพรรครีพับลิกัน 64% ระบุว่า ตนเลือกอดีตประธานาธิบดีเพราะนโยบายน่าดึงดูดใจ
สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนจากการที่ทรัมป์มีคะแนนนำ ในประเด็นเศรษฐกิจของประเทศ ถึง 45% ต่อ 36% ทว่าแฮร์ริสก็ยังคงมีแต้มต่อในนโยบายทำแท้งถูกกฎหมายถึง 47% ต่อ 31% เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ผลสำรวจของรอยเตอร์ยังระบุว่า โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ (Robert F. Kennedy Jr.) สมาชิกพรรคเดโมแครตที่ลงสนามในฐานะแคนดิเดตอิสระ ยังได้รับการสนับสนุนถึง 6% อีกด้วย
เคนเนดี จูเนียร์ ยุติแคมเปญหาเสียงในวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมประกาศสนับสนุนทรัมป์ หลังอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่า หากเขาหวนคืนสู่เก้าอี้ผู้นำ จะเปิดเอกสารลับ ถึงการ ‘ลอบสังหาร’ ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ผู้เป็นลุงของเขา ก่อนจะถูก เคอร์รี เคเนดี (Kerry Kennedy) พี่สาวประณามว่า การลดตัวไปสนับสนุนทรัมป์ ถือเป็นการทรยศพ่อและตระกูลเคนเนดีที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตมาเนิ่นนาน
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจเป็นเพียงปัจจัยชี้วัดส่วนหนึ่ง เพราะในปี 2016 โพลจำนวนมากต่างชี้ว่า ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) แคนดิเดตจากเดโมแครต มีคะแนนนำทรัมป์ถึง 48% ต่อ 45% แต่บทสรุปในการเลือกตั้งครั้งนั้นจบด้วยความพ่ายแพ้ของเธอ
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/articles/cwy5ekxlwzgo
Tags: เดโมแครต, เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024, รีพับลิกัน, เลือกตั้งสหรัฐฯ, กมลา แฮร์ริส, kamala harris, โรเบิร์ต เคเนดี จูเนียร์, สหรัฐอเมริกา, โดนัลด์ ทรัมป์