วันนี้ (23 มิถุนายน 2566) เครือมติชน นำโดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) และนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองรับวันชาติสุดยิ่งใหญ่ ภายใต้ชื่อ สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ‘๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์’ เพื่อย้อนบรรยากาศการเฉลิมฉลองวันชาติ ซึ่งจัดครั้งแรกในปี 2482 และในโอกาส ‘91 ปี 24 มิถุนา’ โดยมีกำหนดจัดงานในวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00-19.00 น. ณ มติชนอคาเดมี
หนึ่งกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจมาก คือการเสวนาเปิดตัวหนังสือ (Book Talk) โดยในครั้งนี้ สำนักพิมพ์มติชนเปิดตัวหนังสือใหม่ถึง 3 เล่มด้วยกัน ได้แก่ ‘๒๔๗๕ ราสดรส้างชาติ’ ‘การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม’ และ ‘ใต้เงาปฏิวัติ’
ที่น่าสนใจคือหนังสือ ‘๒๔๗๕ ราสดรส้างชาติ’ โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้เขียนหนังสือเป็นผู้นำสนทนา
นริศระบุว่า เนื้อหาเป็นการนำเสนอว่าแท้จริงแล้วผู้สร้างชาติอาจไม่ใช่กษัตริย์ นายทุน หรือผู้มีอำนาจอื่นใด หากแต่เป็นสามัญชนคนตัวเล็กตัวน้อยต่างหาก ที่เป็นคนสร้างชาติในช่วงสภาวะเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ความน่าสนใจคือ การที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้นำคณะราษฎร เลือกใช้คำว่า ‘ราสดร’ (ราษฎร) แทนที่จะเป็นคำว่าประชาชน พลเมือง พสกนิกร หรือกระทั่งไพร่ฟ้าหน้าใสมาเป็นคำที่ใช้เรียกปวงชนชาวไทยทั้งหลาย เพราะว่าคำว่า ‘ราสดร’ มีความหมายครอบคลุมทั้งในแง่การปกครองของรัฐที่ผนวกรวมประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งสำคัญของรัฐด้วย ซึ่งคำว่าราสดรเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของการอภิวัฒน์สยามในครั้งนั้น กระทั่งในประโยคแรกของประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เริ่มต้นด้วยคำว่า ‘ราษฎรทั้งหลาย…’
“หากจะนิยามความหมายของการ ‘สร้างชาติ’ ในยุคเรืองรองของคณะก่อการ 2475 นั้น ย่อมมิแคล้วมุ่งหมายถึงชาติคือรัฐซึ่งก็คือราษฎรทั้งหลาย อันหมายรวมเอาทั้งที่ตั้ง การปกครอง และราษฎรผู้เป็นองค์อธิปัตย์เข้าไว้ด้วยกัน เมื่อ ‘ชาติ’ กับ ‘รัฐ’ ได้มาอยู่ในพื้นที่อาณาเขตเดียวกันนัยที่รวมเป็น ‘รัฐชาติ’ ล้วนดูเปี่ยมล้นไปด้วยความทะเยอทะยานที่จะนำพาไทยหรือสยามไปสู่สถานะมหาอำนาจที่เน้นผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญแรกสุดเหนือผลประโยชน์เชิงปัจเจกใดๆ
“และหากนับย้อนไปถึงมาตราแรกแห่งปฐมรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ ที่แสดงถึง ‘ไทยในสมัยสร้างชาติ’ ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปวงชนชาวไทยในฐานะ ‘ราสดร’ ถือเป็นส่วนหนึ่งสำคัญกับการสร้างชาติไทยมาโดยตลอด”
ดังนั้น ในหนังสือ ‘๒๔๗๕ ราสดรสร้างชาติ’ จึงเป็นการนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนธรรมดาสามัญผู้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสร้างคุณูปการต่อชาติขึ้นมาด้วยสองมือธรรมดาของตนเอง บทบาทของพวกเขาปรากฏแจ่มแจ้งอย่างไม่เคยมีมาก่อน ด้วยเงื่อนไขทางสังคมภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังนี้ ที่ก่อให้เกิดโอกาสและทำให้บทบาทของพวกเขาเหล่านี้ชัดเจนขึ้นมา มากไปถึงก่อร่างสร้างความเป็น ‘ชาติ’ ของเรามาจนถึงปัจจุบัน การพิจารณาเรื่องราวของราสดรทั้งหลายผ่านมิติทางสังคมและวัฒนธรรม จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายภายใต้ฟ้าใหม่ในห้วงเงาแห่งการอภิวัฒน์
Tags: ศิลปวัฒนธรรม, สำนักพิมพ์มติชน, ปฏิวัติ 2475, 24 มิถุนายน 2475