เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ออกมาเปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมิถุนายน 2567 ที่เพิ่มขึ้น 0.62% เทียบกับปีก่อนหน้า แต่นับว่าเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 1.54% ซึ่งเป็นผลกระทบจากค่าพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง รวมไปถึงราคาผักผลไม้สดที่ปรับลดลง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 2567 พูนพงษ์ ระบุว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน และแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 3 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ของปี เป็นผลจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันดีเซลและการอ่อนค่าในอัตราการแลกเปลี่ยน อีกทั้งยังได้รับปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออีกด้วย

จากอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ถูกประกาศออกมานับเป็นอัตราที่ต่ำเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์ออกมาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในครึ่งปีหลังจะเข้าสู่กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ที่ 1-3% โดยในไตรมาส 3 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1% และอาจปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2% ในไตรมาส 4 ของปี เพราะได้รับอานิสงค์จากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า และภาครัฐมีนโยบายลอยตัวราคาพลังงานในประเทศ หลังมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 33 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคมนี้ และคาดการว่าในเดือนตุลาคมจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจึงเป็นปัจจัยที่เสริมให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ Krungthai COMPASS ออกมาวิเคราะห์ว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3 จะอยู่ต่ำกว่า 1% ที่ได้รับปัจจัยจากราคาผักสดที่ปรับลดลงจากการสิ้นสุดลงของฤดูร้อน ค่ากระแสไฟฟ้าที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน รวมถึงราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินมีฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายในไตรมาส 4

สำหรับอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลให้มูลค่าเงินแท้จริงลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแตกต่างกัน นอกจากนั้นอัตราเงินที่ในระดับ 2-3% นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างเห็นร่วมกันว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนจะนำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ภาคการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามไปด้วย

Tags: , ,