23 ปี… ที่กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้า 9 สาย
23 ปี… ที่ต่างจังหวัดไม่มีรถไฟฟ้าเลยสักสาย
23 ปี… ที่ความเหลื่อมล้ำประจักษ์ชัดในสังคมไทย
ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าทั้งหมด 9 สาย และเตรียมสร้างเพิ่มอีก 3 สายในอนาคต ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไม่มีรถไฟฟ้าแม้แต่สายเดียว ต่างจังหวัดยังคงไร้แสงสว่างแห่งความเจริญ และไม่ได้รับการพัฒนาด้านคมนาคมเฉกเช่นในอดีต รถไฟฟ้าจึงเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดอย่างชัดเจน คนต่างจังหวัดถูกบีบให้ดิ้นรนใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และต้องจำยอมต่อความไม่เท่าเทียมในสังคม ในระยะเวลา 23 ปี หรือประมาณ 1 ใน 3 ของอายุขัยคนไทย พวกเขาสูญเสียโอกาสไปมากแค่ไหน
ทำไมต่างจังหวัดถึงไม่เจริญเหมือนกรุงเทพฯ ?
ความสงสัยที่ไม่เคยเสื่อมคลายหรือหายไปจากใจของคนต่างจังหวัด
หากกล่าวถึงความเจริญในประเทศไทย แน่นอนว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ คือภาพความเจริญเพียงหนึ่งเดียวที่ทุกคนต่างนึกถึง เมืองศิวิไลซ์ที่รวบรวมความเจริญไว้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมที่สะดวกสบาย ห้างสรรพสินค้าที่หลากหลาย พื้นที่สาธารณะจำนวนมาก แหล่งรวมงานศิลปะแขนงต่างๆ หรือแม้กระทั่งระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ความก้าวหน้าทางอาชีพที่สูงกว่า และสวัสดิการที่มีคุณภาพ
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางคนอาจส่ายหัวและไม่เห็นด้วยกับข้อความข้างต้น เพราะมองว่า กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เจริญสักเท่าไร และยังมีอีกหลายด้านที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ถึงกระนั้น เหตุผลดังกล่าวก็ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่า ‘กรุงเทพฯ เจริญกว่าต่างจังหวัด’ เพราะหากเปรียบเทียบความเจริญในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดแล้ว ยังคงต่างกันราวฟ้ากับเหว และต่างจังหวัดคือเหวที่ไม่มีใครเหลียวแลอย่างไม่ต้องสงสัย
การพิจารณาความเจริญในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องใช้มาตรวัดความเจริญหลากหลายด้าน เช่น ความเจริญด้านวัตถุ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ไม่ว่าจะใช้มาตรวัดความเจริญด้านใด กรุงเทพฯ ยังคงมีความก้าวหน้าและพัฒนามากกว่าต่างจังหวัดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีความเป็น ‘เอกนคร’ หรือ ‘เมืองโตเดี่ยว’ สูงสุดเมืองหนึ่งของโลก
Sternstein, Larry อดีตที่ปรึกษานครกรุงเทพฯ เคยกล่าวถึงความเป็นเมืองเอกนครของกรุงเทพฯ ไว้ในงานสิจ Spatial Aspects of Migrants Preference for Krung Thep Maha Nakhon Bangkok. Bangkok ว่า “a paragon – the beau ideal – of a primate city” ซึ่งแปลว่า ความเป็นเอกนครของกรุงเทพฯ มีความโดดเด่นมากที่สุดเมืองหนึ่ง และเป็นความโดดเด่นที่เป็นแบบอย่างของความเป็นเอกนคร
จากการเปิดเผยข้อมูลจำนวนประชากรในประเทศไทยของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 พบว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีจำนวนประชากรมากถึง 5,494,932 คน ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนประชากรรองลงมาคือ จังหวัดนครราชสีมามีประชากร 2,630,058 คน และจังหวัดที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดคือ จังหวัดสมุทรสงครามมีจำนวนประชากร 189,453 คนเท่านั้น จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของขนาดประชากรในแต่ละจังหวัดที่เหลื่อมล้ำกันค่อนข้างมาก รวมถึงความเป็นเมืองโตเดี่ยวของกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กรุงเทพฯ ยังคงดำรงความเป็นเอกนครซึ่งเติบโตเพียงพื้นที่เดียว และล้ำหน้าจังหวัดอื่นๆ ส่งผลให้ความเจริญระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการกระจายความเจริญของประเทศไทยขาดความสมดุล และหลักฐานที่ประจักษ์ชัดถึงความล้มเหลวนี้ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด แต่เป็น ‘ชีวิต’ ของคนต่างจังหวัดที่ไม่เคยได้รับความเท่าเทียมอย่างแท้จริง
กรุงเทพฯ ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดเดียวของคนไทย
“ถ้าอยากจะเก่งขึ้น ดีขึ้น เงื่อนไขของประเทศไทย ก็ดูจะต้องเข้ามาที่นี่”
ภูวิชญ์ บูรณตระกูล นักวางแผนงานอีเวนต์ (Event Organizer) วัย 24 ปี ผู้เคยอาศัยอยู่ที่ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แต่เนื่องด้วยปัจจัยทางการศึกษาซึ่งพ่อแม่มองว่า การศึกษาในกรุงเทพฯ นั้นตอบโจทย์มากกว่าในจังหวัดชลบุรี เขาจึงย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ คนเดียวตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ทำให้เขาต้องจัดการทุกอย่างในชีวิตด้วยตนเองมาตั้งแต่เด็กๆ
“ด้วยที่ที่เราอยู่ แม้แต่รถสองแถวก็ยังไม่มีเลย เวลาที่ไฟฟ้าตัดก็ต้องใช้เวลาแก้ไขเป็นวันๆ ขณะที่ในกรุงเทพฯ ใช้เวลาแค่แป๊บเดียวก็แก้ไขได้แล้ว ส่วนพวกพื้นที่สาธารณะ ห้องสมุด หรือ Co-working Space ก็ไม่ค่อยมี อำเภอของเราเป็นอำเภอที่ไม่ค่อยมีอะไร มีแค่สวนสาธารณะหนึ่งที่ แต่เราก็เข้าไม่ถึง เพราะไกลเกินกว่าที่เด็กคนนึงจะเดินไปเอง”
ภูวิชญ์เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในต่างจังหวัดที่แตกต่างจากกรุงเทพฯ อย่างลิบลับ พื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่แทบจะไม่มีความเจริญเหมือนในกรุงเทพฯ เพราะเพียงแค่ต้องการไปเที่ยวกับเพื่อน หรือไปทำธุระอะไรก็ตาม เขาก็ต้องรบเร้าให้พ่อแม่ไปส่งที่ตัวเมืองของอำเภอพนัสนิคมทุกครั้ง และการเดินทางแต่ละครั้งใช้เวลาค่อนข้างนาน ประมาณ 30-40 นาที แต่เมื่อมาอาศัยที่กรุงเทพฯ การเดินทางกลับกลายเป็นเรื่องง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ มีขนส่งที่อำนวยความสะดวกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และแท็กซี่ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่า ‘การคมนาคม’ ของกรุงเทพฯ จะยังไม่ดีมากนักด้วยปัญหารถติด ปัญหาของรถเมล์ที่มีความล่าช้าและไม่มีคุณภาพ แต่มันก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่า คนกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนต่างจังหวัด
“จากที่เราสัมผัสมา คุณภาพของที่นี่ก็ดีกว่า กรุงเทพฯ คือสบาย มีความสะดวกมากกว่าตอนอยู่ที่ต่างจังหวัดมากจริงๆ ทุกอย่างเข้าถึงได้ง่ายกว่า สถานที่พักผ่อน ความบันเทิง ศิลปะ มันอยู่ที่นี่หมดเลย สถานที่ที่เราคาดหวังว่าจะอยู่ กลายเป็นกรุงเทพฯ ไปแล้ว”
ภูวิชญ์มองว่า เพราะพื้นฐานหลายๆ ด้านในต่างจังหวัดยังไม่ได้รับการเติมเต็มจากภาครัฐอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งกระทบกับหลายอย่างในชีวิต ส่งผลให้ผู้คนกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งที่ความเจริญบางด้านเป็นพื้นฐานที่ภาครัฐควรเติมเต็มให้กับทุกคนทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน และเขายังกล่าวอีกว่า ทำไมแค่เกิดคนละจังหวัด หรือคนละอำเภอ ประชาชนถึงต้องดีดดิ้นให้ตนเองเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น สถานที่เกิดไม่ควรกลายเป็นข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ในเมื่อทุกคนเกิดในประเทศเดียวกัน ภายใต้รัฐบาลชุดเดียวกัน ดังนั้น ทุกคนก็ควรจะสู้บนพื้นฐานเดียวกัน
“แค่สถานที่อยู่ของคนหนึ่งคน ทำไมกลายเป็นว่า มันกำหนดทิศทางชีวิตไปเลย ทำไมคนที่เกิดที่ต่างจังหวัดถึงได้รับโอกาสน้อยกว่าคนที่เกิดในกรุงเทพฯ”
หากไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวก็หมดหวังจะได้รับการพัฒนา
นอกจากนี้ ต่างจังหวัดยังเปรียบเสมือน ‘สวนสัตว์มนุษย์’ ในสายตาของคนไทย สวนสัตว์มนุษย์ที่คนเมืองกรุงแวะมาพักผ่อนเมื่อใดก็ได้ คนไทยบางกลุ่มยังไม่อยากให้ต่างจังหวัดเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกรุงเทพฯ เพราะมองว่า ความชนบทหรือความดั้งเดิมคือเสน่ห์ของการไปเที่ยวต่างจังหวัด ทั้งที่แท้จริงแล้ว คนต่างจังหวัดก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี มีน้ำสะอาดใช้ มีไฟฟ้าเพียงพอ มีพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้สอย และมีการคมนาคมที่สะดวกสบายเฉกเช่นคนเมืองกรุง โดยอาจมีบางพื้นที่ที่ถูกมองว่าเจริญแล้ว เช่น พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ แต่เมื่อเทียบกับทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว พื้นที่เหล่านี้ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
อีกทั้งยังสังเกตได้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งสิ้น เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมเฉพาะเมืองท่องเที่ยว และพัฒนาบ้านเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว มิใช่เพราะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก อย่างในจังหวัดภูเก็ตที่มีรถแท็กซี่เพิ่มมากขึ้นจากในอดีต แต่กลับมีราคาสูงมาก ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีเงินมากพอที่จะเข้าถึงขนส่งสาธารณะเหล่านั้น
“จังหวัดท่องเที่ยวที่พัฒนาได้ดี เพราะว่ามันเป็นแหล่งรายได้ของชนชั้นนำ ซึ่งคือชนชั้นนายทุน”
วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เนื่องจากงบประมาณสำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบนั้น สามารถเอื้อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของกลุ่มนายทุน และเมื่อกลุ่มนายทุนเป็นกลุ่มที่เสียงดังในประเทศไทย รวมถึงเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับราชการส่วนกลาง ทำให้ความต้องการของกลุ่มนายทุนส่งไปถึงภาครัฐได้รวดเร็วและง่ายดายกว่าประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ทางเท้าบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวจะเรียบกริบ แต่ว่าทางเท้าที่ประชาชนคนไทยใช้จริงกลับไม่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความเจริญในหลากหลายมิติ ความเจริญในกรุงเทพฯ ยังคงทิ้งห่างจากเมืองท่องเที่ยวเหล่านั้นอยู่ดี เนื่องจากความเร็วในการพัฒนาของกรุงเทพฯ นั้นแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เป็นอย่างมาก
‘เมื่อขนาดของแสงไฟสะท้อนถึงความเจริญ’ วรภพกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ความเจริญกระจุกตัวอยู่แค่ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากภาพดาวเทียมในเวลากลางคืนแสดงให้เห็นว่า แสงไฟซึ่งเป็นภาพสะท้อนความเจริญนั้นมักกระจุกตัวอยู่เฉพาะรอบๆ กรุงเทพฯ เท่านั้น และนำไปสู่คำถามที่ว่า “ทำไมความเจริญจึงกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ? ในเมื่อประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่ประเทศไทย”
รวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ
‘การรวมศูนย์อำนาจ’ ไว้ที่ราชการส่วนกลางของไทย ส่งผลให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว เนื่องจากระบบราชการส่วนกลางอย่างกรมและกระทรวงต่างๆ เป็นผู้ตัดสินใจและจัดสรรงบประมาณ รวมถึงอำนาจต่างๆ ของภาครัฐ ทว่าผู้บริหารราชการส่วนกลางเหล่านั้นกลับประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้มิได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่คนต่างจังหวัดในแต่ละพื้นที่ต้องพบเจอ
วรภพระบุว่า หากมีงบประมาณ 100 บาท ซึ่งมาจากการจ่ายภาษีของประชาชน งบประมาณจำนวน 80 บาท จะถูกตัดสินใจโดยราชการส่วนกลางซึ่งประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ จึงเอื้อให้เกิดโครงสร้างที่ราชการส่วนกลางกลายเป็นผู้ตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศ ทำให้การกระจายความเจริญให้แก่จังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยขาดความสมดุล นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับแรกจนถึงฉบับที่ 4 ล้วนเป็นการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียวเช่นกัน
‘นายทุน ขุนศึก ศักดินา’ 3 สาเหตุการรวมศูนย์อำนาจ
ยิ่งไปกว่านั้นวรภพเผยว่า การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลาง ซึ่งส่งผลให้การกระจายอำนาจเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมและไม่ชอบธรรมนั้นเกิดจากสาเหตุ 3 ประการ
สาเหตุประการแรกคือ ‘นายทุน’ เนื่องด้วยความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยที่สูงมาก ส่งผลให้กลุ่มนายทุนระดับบนรู้จักกับชนชั้นปกครองทุกรัฐบาล ซึ่งกลุ่มนายทุนมองว่า การตกลงกับราชการส่วนกลางนั้นสะดวกกว่าการไปเจรจากับผู้นำแต่ละจังหวัดซึ่งยากจะควบคุม ตัวอย่างเช่น หากภาครัฐมีโครงการสร้างรถไฟฟ้า หรือสร้างทางด่วนขนาดใหญ่ บริษัทรับเหมาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนจะได้รับการจ้างงานให้จัดการโครงการเหล่านั้น แต่ถ้ามีการกระจายอำนาจและงบประมาณออกไปสู่ส่วนท้องถิ่น ก็จะเกิดโครงการเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งผู้รับผิดชอบและได้ประโยชน์จากโครงการเหล่านั้นก็อาจจะไม่ใช่กลุ่มนายทุนดั้งเดิม ส่งผลให้กลุ่มนายทุนสนับสนุนให้การรวมศูนย์ยังคงอยู่ต่อไป
สาเหตุประการที่สองคือ ‘ขุนศึก’ หมายถึงผู้นำจากระบอบเผด็จการที่ต้องการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กลุ่มของตนเองเพียงกลุ่มเดียว เนื่องจากสามารถตัดสินใจจากภาครัฐส่วนเดียว แต่บังคับใช้ได้ทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน มีเพียงประเทศเผด็จการเท่านั้นที่ยังคงเป็นเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศเกาหลีเหนือ ความเจริญต่างๆ ก็กระจุกตัวอยู่แค่เปียงยางซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไม่ต่างจากไทย และแน่นอนว่า การที่ประเทศไทยยังคงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลาง ก็เป็นเพราะรัฐบาลที่บริหารประเทศในตอนนี้เป็นรัฐบาลทหารซึ่งมาจากการรัฐประหาร ส่งผลให้รูปแบบการปกครองของสังคมไทยมีความเป็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย
สาเหตุสุดท้ายคือ ‘ระบอบศักดินา’ หรือข้าราชการที่มีอำนาจในราชการส่วนกลาง ข้าราชการเหล่านี้ได้รับตำแหน่งมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้น ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของผลประโยชน์ ส่งผลให้ข้าราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้นไม่ต้องการสูญเสียอำนาจในมือของตนเอง จากสาเหตุทั้งสามประการก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ระบบราชการแบบรวมศูนย์อำนาจมิได้มุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนและสังคมไทยอย่างแท้จริง
“หากเป็นการพัฒนาประเทศในช่วงเริ่มต้น อาจถกเถียงกันได้ว่า ระบบราชการควรรวมศูนย์อำนาจ เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อเวลาผ่านมานานหลายสิบปี และหากประเทศไทยต้องการก้าวข้ามจากประเทศกำลังพัฒนาไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว การยกเลิกระบบราชการ ‘อำนาจรวมศูนย์’ เป็นทางออกที่ดีของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีประเทศพัฒนาแล้วประเทศใด ยังคงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลาง หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่มีจักรพรรดิเป็นประมุขคล้ายกับการปกครองของไทย ก็บริหารจัดการบ้านเมืองแบบกระจายอำนาจ โดยคนต่างจังหวัดสามารถเลือกผู้บริหารของจังหวัดของตนเองได้โดยตรง” วรภพอธิบาย
กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ความเจริญทัดเทียมกันทุกจังหวัด
วรภพเสนอว่า ‘การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’ เป็นแนวทางการแก้ไขโครงสร้างการเมืองไทย เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาทุกภาคส่วนไปด้วยกัน และไม่ทิ้งคนต่างจังหวัดไว้ข้างหลังอย่างที่ผ่านมา เนื่องจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจโดยทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยราชการส่วนกลางมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะเฉพาะกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น และที่สำคัญต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น มิใช่การแต่งตั้งจากราชการเหมือนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หรือหากเป็นวิธีการอื่นก็ต้องคํานึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ การทำเช่นนี้จะทำให้แต่ละจังหวัดมีผู้บริหารที่เข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่นั้นๆ และความต้องการของประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลาง
แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีปัญหาความไม่โปร่งใสของการเลือกตั้งในชุมชน รวมถึงปัญหาความตระหนักถึงสิทธิพลเมืองของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม วิธีแก้การแก้ไขปัญหาไม่ใช่การยกเลิกการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่ภาครัฐควรปรับปรุงแก้ไข คือ ‘การให้อำนาจกลับคืนสู่ประชาชน’ มากขึ้น โดยเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้งบประมาณ และการใช้อำนาจของภาครัฐได้โดยตรง รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกท้องถิ่น และให้ประชาชนมีสิทธิ์ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การให้อำนาจกลับคืนสู่ประชาชนจะทำให้การเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นอีกแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยสามารถเจริญทัดเทียมกรุงเทพฯ เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกผู้บริหารที่มีความสามารถในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง รวมถึงถอดถอนผู้บริหารที่ไม่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญได้เช่นกัน
เพื่อให้ประเทศไทยเจริญกว่านี้ มิใช่เจริญเพียงเมืองเทพสร้าง
การจะเปลี่ยนแปลงให้ต่างจังหวัดมีความเจริญเฉกเช่นกรุงเทพฯ ต้องเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน โดยภาครัฐจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อลบล้างความไม่ชอบธรรม ปลดล็อกอิสระให้แก่ท้องถิ่น และคำนึงถึงประโยชน์ของปวงประชา รวมถึงภาคประชาชนก็ต้องตระหนักถึงสิทธิที่ตนพึงมีและพึงปฏิบัติในสังคมประชาธิปไตย เพื่อเรียกคืนความยุติธรรมและความเท่าเทียมในการดำเนินชีวิตให้แก่ตนเอง
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งพลังสำคัญที่ไม่ควรเมินเฉยต่อปัญหานี้คือภาคสื่อมวลชน เนื่องจากสื่อมวลชนสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นธรรมให้ประชาชนได้รับรู้โดยทั่วกัน รวมถึงมีพลังและอำนาจในการกำหนดทิศทางความเป็นไปของสังคม หากสื่อมวลชนร่วมใจกันขับเคลื่อนให้ทุกจังหวัดมีความเจริญอย่างเท่าเทียมกัน เสียงของกลุ่มคนต่างจังหวัด หรือแม้แต่กลุ่มคนชายขอบก็คงดังสนั่นไปทั่วทั้งแดนไทย และความอยุติธรรมที่พวกเขาต้องเผชิญคงไม่ถูกมองข้ามมายาวนานถึงทุกวันนี้
สิ่งสำคัญคือการทำให้พื้นที่แต่ละพื้นที่สามารถยืนได้ด้วยตนเองโดยแท้จริง หากสภาพความเป็นอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ยังไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้น หรือแม้แต่คำว่า ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ยังคงห่างไกลจากชีวิตของคนต่างจังหวัด ช่องว่างความเจริญระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดก็ไม่ควรทิ้งห่างกันมาก จนกลายเป็นกำแพงความเหลื่อมล้ำอันยากจะเสื่อมสลายไปจากสังคมไทย ทั้งที่ความจริงแล้ว ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิในการเข้าถึงความเจริญของประเทศ
เพราะเราทุกคนจ่ายภาษีเพื่อคุณภาพชีวิตของตัวเราเอง มิได้จ่ายภาษีเพื่อคนกรุงเทพฯ
อ้างอิง
https://www.hiso.or.th/hiso/news_hiso/fileupload/710pp345-3.doc
https://www.finnomena.com/tisco-wealth-advisory/goodnews-vs-badnews/
https://th.wikipedia.org/wiki/รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
Tags: ต่างจังหวัด, วรภพ วิริยะโรจน์, ความเหลื่อมล้ำ, รถไฟฟ้า, ก้าวไกล, กรุงเทพ