หนึ่งในการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดของปี 2025 ในประเทศอินโดนีเซีย กำลังดำเนินเป็นระยะเวลาเกือบ 1 สัปดาห์เต็ม เมื่อกลุ่ม Indonesia Gelap (หรือ Dark Indonesia) นำโดยสมาคมผู้บริหารมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย (All-Indonesia Association of University Student Executive Bodies: BEM SI) และนักศึกษา ออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อ ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) ประธานาธิบดีคนใหม่ หลังตัดงบประมาณมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6.8 แสนล้านบาท) ซึ่งกระทบต่อค่าใช้จ่ายสำคัญ และนโยบายอาหารกลางวันฟรีของนักเรียนทั่วประเทศ
ทั้งนี้การชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งกรุงจาการ์ตา บันดุง บาหลี สุราบายา และเซอมารัง โดยมีมวลชนส่วนหนึ่งร่วมใจกันสวมชุดสีดำและเดินขบวน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้ประธานาธิบดีปราโบโว ยุตินโยบายลดงบประมาณแผ่นดินถึง 8% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หลังกระทรวงการคลังคาดว่า ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะงบประมาณขาดดุล 2.53% ในปีนี้
ผลของนโยบายดังกล่าวกระทบโดยตรงต่อรายจ่ายของรัฐบาล เช่น ค่าพิธีการ การเดินทางไปดูงานของคณะรัฐมนตรี รวมถึงค่าอาหารกลางวันฟรีของนักเรียน 17.5 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของปราโบโวในการหาเสียงช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า เขาจะดำเนินนโยบายดังกล่าวจนถึงปี 2029 โดยต้องมีประชากรราว 82.9 ล้าน จาก 280 ล้านคนได้รับสวัสดิการ
เฮเรียนโต (Herianto) ผู้นำนักเรียนในจาการ์ตาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า สาเหตุที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า Dark Indonesia เป็นเพราะนโยบายไม่ชัดเจน และการตัดงบประมาณดังกล่าวกระทบต่อโครงการอาหารกลางวันฟรีของนักเรียน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการศึกษาทั่วประเทศ
สำหรับความคืบหน้าในปัจจุบัน ปราเซตโย ฮาดี (Prasetyo Hadi) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมารับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมพร้อมย้ำว่า จะศึกษาเงื่อนไขแต่ละอย่างให้ดี ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีแถลงว่า การตัดงบประมาณดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการศึกษาและสวัสดิการครู แต่ก็ไม่ได้คลายความกังวลลงเท่าไร เนื่องจากตัวเลขการตัดงบประมาณอาจสั่นคลอนการทำงานของรัฐบาลบางส่วนอยู่ดี
น่าสนใจว่า การประท้วงครั้งนี้ไม่ได้จบอยู่ที่เรื่องการศึกษา แต่ยังรวมไปถึงประเด็นเรียกร้องอื่นๆ เช่น บทบาทของกองทัพที่ออกมาทำงานของพลเรือน อย่างการเสิร์ฟอาหารกลางวันฟรีให้เด็กนักเรียน ขณะที่ปราโบโวเตรียมออกร่างกฎหมายให้ทหารระดับสูงดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลได้ ซึ่งชาวอินโดนีเซียมองว่า การกระทำดังกล่าวอาจบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยในประเทศ ที่ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองเหมือนในอดีต
แม้ผลสำรวจโดย Indikator Politik Indonesia และหน่วยงานอิสระอื่นๆ รายงานความนิยมของชาวอินโดนีเซียต่อประธานาธิบดีคนใหม่อยู่ที่ราว 80% แต่ นิกกี ฟาห์ริซาล (Nicky Fahrizal) นักวิจัยการเมืองประจำ Centre for Strategic and International Studies (CSIS) อินโดนีเซีย เชื่อว่า การประท้วงของนักเรียนสะท้อนถึงคณะรัฐมนตรีของปราโบโว ที่ทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพและไม่เป็นระเบียบ
ปราโบโวคืออดีตนายพลผู้ร่ำรวย เขาสนิทชิดเชื้อกับกลุ่มก้อนทางการเมืองของ โจโค วิโดโด (Joko Widodo) อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แม้นโยบายทางการเมืองอย่างการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะจับใจคนในประเทศ แต่ก็มีชะงักหลังอย่างข้อกล่าวหาการโกงเลือกตั้ง รวมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหาย และละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคของซูฮาร์โต (Suharto) ผู้นำเผด็จการ
อ้างอิง
Tags: อาเซียน, อินโดนีเซีย, รัฐบาลอินโดนีเซีย, Prabowo Subianto, ปราโบโว ซูเบียนโต