สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานถึงเหตุการณ์ตำรวจหลายนายในรัฐอัสสัม (Assam) รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ถูกสั่งให้ลดน้ำหนัก โดยให้ระยะเวลา 3 เดือนในการตัดสินใจ หากเจ้าหน้าที่คนไหนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะมีคำสั่งปลดโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น

หน่วยงานระดับสูงใช้เกณฑ์ ‘ดัชนีมวลกาย’ (BMI) เป็นมาตรวัด โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนจะได้รับการบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด แผนงานนี้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ยกเว้นกลุ่ม ‘คนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน’ จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะได้รับเวลาการพิจารณาตนเองจนถึงเดือนพฤศจิกายน เพื่อเลือกระหว่าง ‘ปฏิบัติตามเงื่อนไขของทางการ’ หรือ ‘ลาออกจากงานโดยสมัครใจ’ อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ที่มี ‘อาการป่วย’ ตามการพิจารณาของแพทย์ ได้รับยกเว้นไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานดังกล่าว

ซิงห์ (Singh) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งรัฐอัสสัม อธิบายว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ตำรวจมีรูปร่างที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการปฏิบัติงาน

“ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อเห็นตำรวจมีรูปร่างที่เหมาะสม

“คนที่มีร่างกายเหมาะสมจะไม่มีปัญหาในการเดิน และพวกเขาสามารถอยู่บนถนนได้ยาวนานอย่างไม่มีปัญหา

“ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาฝึกร่างกายตอนเช้าทุกวันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเริ่มระวังการกินมากขึ้น” เขากล่าว

เรื่องราวทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากคำพูดของ หิมันตา บิสวา ซาร์มา (Himanta Biswa Sarma) มุขมนตรีแห่งรัฐอัสสัม หลังจากเขากล่าวถึงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 300 นาย สืบเนื่องพฤติกรรมติดสุราและร่างกายไม่แข็งแรง 

“คำสั่งเหล่านี้เป็นกฎที่มีมานานแล้ว แต่เราไม่ได้นำมาใช้ก่อนหน้านี้” เขากล่าวโดยย้ำว่า นี่คือส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมเพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์แก่เหล่าตำรวจ ซึ่งยื่นเงื่อนไขว่า หากตำรวจนายใดยอมเกษียณอายุโดยสมัครใจ จะได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน และตำแหน่งจะถูกแทนที่โดยการคัดเลือกบุคลากรใหม่

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การยื่นข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลดน้ำหนักไม่ใช่ครั้งแรก เริ่มจากหน่วยงานตำรวจระดับสูงในรัฐคาร์นาตากา (Karnataka) มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เลือกระหว่างการลดน้ำหนักหรือพักงานในปี 2018 เช่นกัน เพราะการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่หลายคนจากโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานในช่วงดังกล่าว

อีกทั้งคำสั่งของศาลในรัฐปัญจาบ (Punjab) ในปี 2020 ถึงการห้ามตำรวจที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ทำหน้าที่บุกค้นผู้ลักลอบนำเข้าและค้ายาเสพติด โดยให้เหตุผลว่า พวกเขาไม่สามารถวิ่งได้เร็วมากพอสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์จริง รวมถึงรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) เปิดการฝึกฝนสมรรถภาพร่างกายอย่างครอบคลุมสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในปี 2012 หลังจากมีรายงานระบุว่า เกือบ 40% ของกำลังพลมีน้ำหนักเกิน

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ตำรวจอินเดียรายหนึ่งถูกบูลลี่จากโลกทวิตเตอร์จนโด่งดัง เพราะน้ำหนักตัวมากเกินไป โดยเขาออกมาแสดงความคิดเห็นว่า

“พูดตามตรง น้ำหนักของผมไม่เคยเป็นปัญหาระหว่างปฏิบัติหน้าที่เลย เพราะผมสามารถเคลื่อนไหวร่างกาย และมีสติปัญญาที่ดีในการแก้ปัญหาอาชญากรรม ผมได้รับรางวัลพอสมควรจากการทำงาน” เดาลาตรัม โชกาวัต (Daulatram Jogawat) ตำรวจผู้เป็นเหยื่อจากการสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์เผยความรู้สึก และตอนนี้เขาผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคอ้วนเรียบร้อยแล้ว

ฟังอีกมุมจากกลุ่มคนเห็นต่าง: ความเที่ยงตรงของ BMI และปัญหาภาวะน้ำหนักเกินที่มาจากการทำงานหนักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นโยบายดังกล่าวนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะการใช้ค่าดัชนีมวลกายที่ไม่มีความเที่ยงตรง เนื่องจากไม่สามารถวัดค่าไขมันหรือรูปร่างของคนคนนั้นได้อย่างแท้จริง เช่น บางคนมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน แต่มีรูปร่างปกติ เพราะกล้ามเนื้อมีน้ำหนักมากกว่าไขมัน

“ค่าดัชนีมวลกายใช้ประเมินสุขภาพโดยรวมได้ ตัวเลขบางส่วนสามารถบอกว่า คุณอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี น้ำหนักน้อย น้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน แต่มันไม่ได้คำนึงถึงไขมันในร่างกายหรือมวลกล้ามเนื้อ นี่คือข้อจำกัดของค่าดัชนีมวลกาย” คริส เดมเพิร์ส (Chris Dempers) นักสรีรศาสตร์ให้ข้อมูล

การวัดค่าดัชนีมวลกายทำได้โดยการนำน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารกับส่วนสูง (เมตร) และยกกำลังสอง หากผลออกมาแล้วพบว่า ค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 จะจัดให้บุคคลนั้นมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ สำหรับกรณีคนปกติ ควรมีตัวเลขระหว่าง 18.5-24.9 และถ้ามีตัวเลขสูงกว่า 30.0 แสดงว่าเป็นโรคอ้วน

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงแย้งว่า การใช้ค่าดัชนีมวลกายเป็นตัวชี้วัดสุขภาพและรูปร่างนั้นมีข้อบกพร่อง โดยใช้คำเปรียบเปรยว่า ‘One size fits all’ หรือการยัดเยียดสิ่งหนึ่งให้ใช้กับทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นกำเนิดของค่าดัชนีมวลกายมีผู้ทดลอง คือผู้ชายผิวขาวยุโรปเท่านั้น ซึ่งไม่ได้คำนึงความแตกต่างของกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างจากชนชาติยุโรปโดยสิ้นเชิง 

“ค่าดัชนีมวลกายทำให้คนคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกว่า สุขภาพของเขายังดีอยู่ การใช้ชีวิตไม่มีอะไรบกพร่อง กลายเป็นปัญหาขึ้นมา โดยเฉพาะมุมมองความคิดของคนอื่น 

“ถ้าคุณหยุดการตีตราคนอื่นว่า สุขภาพของเขาไม่ดีโดยอ้างอิงดัชนีมวลกายได้ล่ะก็ มันจะช่วยเหลือพวกเขาให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมากเลย” ฟีโอนา วิลเลอร์ (Fiona Willer) นักโภชนาการกล่าว และเสริมว่า การตอกย้ำคนคนหนึ่งถึงอาการสุขภาพไม่ดีผ่านมาตรวัด BMI จะนำไปสู่ความอับอาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง หากพวกเขาหลีกเลี่ยงที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

นอกเหนือจากนั้น การศึกษายังพบว่าตำรวจอินเดียต้องทำงานหนักมากในระยะเวลาหลายชั่วโมง จนไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเหมาะสม นำมาสู่ปัญหาร่างกายไม่แข็งแรงและมีโรคภัยอื่นๆ ตามมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการรายงานจากสกอลล์ (Scroll) ในปี 2019 ต่อระยะเวลาการทำงานของตำรวจอินเดียทั้งประเทศ เฉลี่ยวันละ 14 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่บางส่วนประมาณ 24% ทำงานมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่อีก 44% ทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมง 

ทั้งนี้ ตำรวจทั่วประเทศ 74% รู้สึกว่า สภาพการทำงานในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขาโดยตรง ซึ่งตรงกับสถิติของสำนักวิจัยตำรวจและการพัฒนาในปี 2014 ถึงปัญหาทางสุขภาพของบุคลากรจำนวนมาก นับตั้งแต่ความดันโลหิตสูง ความเครียดทางจิตใจ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย หอบหืด ปัญหาระบบทางเดินหายใจ กระเพาะอาหารมีปัญหา และปวดเมื่อยตามร่างกาย 

สารวัตรคนหนึ่งเปิดเผยถึงระยะเวลาการทำงาน รวมถึงการเดินทางเฉลี่ยประมาณ 16-17 ชั่วโมงทุกวัน นั่นทำให้ความจำของเขาเสื่อมถอยลง ส่วนตำรวจคนอื่นๆ กล่าวว่า เขามีภาวะกรดไหลย้อน เนื่องจากชั่วโมงการทำงานที่ไม่แน่นอนกับพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ การศึกษาโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Common Cause และ Lokniti-Centre for the Study Developing Societies เปิดเผยว่า 73% ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงความคิดเห็นว่า ภาระงานของพวกเขาส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงอีก 84% กล่าวว่า หน้าที่ของพวกเขาส่งผลให้ไม่มีเวลากับครอบครัว อีกทั้งทางการของอินเดียก็ไม่มีค่าจ้างล่วงเวลา หากต้องทำงานเกินกำหนดอีกด้วย

“(ชีวิต) มันไม่เหมือนกับหนังเรื่องซิงกัม (Singham) หรอกนะ การทำงานในกองกำลังตำรวจนั้นแตกต่างจากสิ่งที่คุณเคยเห็นในหนังทีเดียว พวกเราต้องทำงานหนักมากเกินไป พวกเรามีภาวะความเครียด และต้องเผชิญกับแรงกดดันภายนอกอย่างมหาศาล” เจ้าหน้าตำรวจนายหนึ่งที่ประจำการในมุมไบตะวันออก แสดงความรู้สึก

อย่างไรก็ตาม กานาชยาม มูรารี ศรีวาสทาวะ (Ghanashyam Murari Shrivastava) อดีตผู้กำกับการตำรวจรัฐอัสสัม โต้แย้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การทำงานหนักของตำรวจนั้นไม่เกี่ยวกับภาวะน้ำหนักเกิน

“การทำงานหนักหลายชั่วโมง ไม่สามารถเป็นข้ออ้างการสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายได้

“นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่ดี และพวกเราควรพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ตำรวจมีรูปร่างที่ดีและเหมาะสม

“ในการรับราชการทหาร บุคลากรต้องมีรูปร่างดี แข็งแรง และพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม ซึ่งนี่เป็นเกณฑ์เดียวกับกองกำลังตำรวจเช่นเดียวกัน” เขาแสดงความคิดเห็น พร้อมเอ่ยปากเห็นด้วยกับนโยบายออกกำลังกายของซิงห์

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-65618543

https://timesofindia.indiatimes.com/city/guwahati/voluntary-retirement-for-300-assam-policemen-who-are-habitual-drinkers/articleshow/99894753.cms

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-65451484

https://www.arabnews.com/node/2307141/world

https://www.abc.net.au/news/2022-01-02/the-problem-with-the-body-mass-index-bmi/100728416

Tags: , , , , , , , , ,