คำแถลงของผมอาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง…” 

คือถ้อยคำบรรทัดสุดท้ายในแถลงการณ์ 25 หน้า ที่เขียนขึ้นโดย คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี หมายเลขดำที่ 3428/2561 ที่รู้จักกันในนามคดี ‘5 ศพบันนังสตา’

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางดึกสงัดของวันที่ 11 มิถุนายน 2561 กลุ่มคนร้ายไม่ทราบจำนวนขี่รถจักรยานยนต์ 2 คันเข้าไปจอดหน้าบ้านหลังหนึ่งในตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ก่อนใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าใส่ เป็นเหตุให้ราษฎร 5 รายภายในบ้านเสียชีวิตในทันที แม้เบื้องต้นจะมีการคาดการณ์ว่าเกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังยืนยัน ไม่ตัดความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์นี้อาจกลายเป็นภัยความมั่นคง

3 วันให้หลัง ซึ่งตรงกับวันสุดท้ายของการถือศีลอด (14 มิถุนายน 2561) เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมดไปยัง ‘ศูนย์ซักถาม’ และกักตัวไว้เป็นเวลากว่า 35 วันติดต่อกัน ก่อนนำตัวฝากขังที่เรือนจำกลางยะลา

“ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมก็จะถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ และถามพี่ชายว่าโดนกระทำบ้างไหม พี่ชายบอกว่าโดน โดนทำร้าย แต่ตลอดช่วงที่อยู่ในศูนย์ซักถามที่ค่ายทหาร ร่างกายพี่ชายไม่มีรอยช้ำ จึงเพิ่งมาทราบเมื่อตอนที่ย้ายมาฝากควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถาม ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้ายะลา” น้องสาวของจำเลยรายหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ หลังผู้พิพากษาคณากรตัดสินให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

ชนวนของความพยายามที่จะยิงตัวเองตายครั้งแรกของผู้พิพากษาคณากรในห้องพิจารณาคดี ศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 คือคำสั่งใน ‘บันทึกลับ’ จากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของคณากร ให้แก้ร่างคำพิพากษา จากยกฟ้องเป็นประหารชีวิตจำเลย 3 คน และจำคุกอีก 2 คนที่เหลือ คณากรเดาได้ทันทีว่า นี่คือความพยายามที่จะแทรกแซงอำนาจศาล เขาจึงพยายามต่อต้านด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งนั่นรวมไปถึงการโพสต์แถลงการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว และพยายามที่จะปลิดชีพตนเองด้วย

จากนั้นไม่นานมีการออกมาชี้แจงว่า ‘การแทรกแซงอำนาจศาล’ ที่ว่านั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างคณากรกับอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 เท่านั้น และยังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนการรักษาวินัย กรณีไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กและเผยแพร่แถลงการณ์ของคณากร โดยลงมติให้เขาย้ายไปช่วยงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ชั่วคราว 

แต่สำหรับกรณีการแทรกแซงของอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 กลับไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ประกอบกับผลการพิจารณาศาลอุทธรณ์ จังหวัดยะลา ที่ออกมาว่าให้จำคุก 35 ปี 4 เดือน และจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่คณากรได้ตัดสินยกฟ้องไป ดังที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ความอัดอั้นตันใจเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมที่ประดังประเดเข้ามาในคราวเดียวนี้เองที่ทำให้คณากร อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้น ศาลจังหวัดยะลา ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองอีกครั้งในวันที่ 7 มีนาคม 2563 หรือวันนี้เมื่อ 3 ปีก่อน

น่าเศร้าที่ครั้งนี้เขาทำสำเร็จ

เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีหลังการจากไปของ คณากร เพียรชนะ The Momentum ชวนทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมตกตะกอน ‘ความทรงจำ’ ของเหตุแห่งความไม่อิสระภายใต้ระบบตุลาการไทย ซึ่งนำไปสู่การเลือกจบชีวิตของผู้พิพากษาคณากรในที่สุด

ผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ในความทรงจำของนักกฎหมายสามจังหวัด

“การยิงตัวเองครั้งแรกเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีที่ยะลา ส่วนผมอยู่ปัตตานี ท่านคณากรเอง ก่อนหน้าที่จะไปประจำที่ยะลาก็เคยประจำอยู่ที่ปัตตานีมาก่อน ผมมีโอกาสได้ทำคดีกับท่านอยู่บ้าง จึงรู้จักกันดี ความรู้สึกแรกหลังจากได้ยินข่าวคือทั้งตกใจและหดหู่ มีการโทรศัพท์พูดคุยกันในกลุ่มทนายว่ามีการยิงกันในบัลลังก์ ทีแรกก็นึกว่ามีใครเอาปืนเข้ามายิงผู้พิพากษา แต่เมื่อได้สอบถามจากพรรคพวกเพื่อนฝูง น้องๆ ทนายที่ยะลา จึงได้รู้ว่าเป็นการยิงตัวเอง

“จากที่ได้สัมผัสด้วยตัวเองผ่านการร่วมงานกับท่าน ท่านคณากรเป็นคนเถรตรง ยกตัวอย่างง่ายๆ คือหากเห็นพิรุธในตัวพยาน เช่น ระหว่างการเบิกความ พยานให้การกลับไปกลับมา ท่านก็จะเริ่มซักถามจับผิดทันที สไตล์การว่าความในบัลลังก์ คือแทบจะเหมือนเป็นทนายความคนหนึ่ง ในขณะที่ผู้พิพากษาคนอื่นๆ ส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้มงวดเท่า หรือเผลอปล่อยวางรายละเอียดเช่นนี้ไปง่ายๆ ในบางครั้ง

“เป็นคนมีบุคลิกนิ่งๆ เงียบขรึม ไม่ค่อยพูด ไม่สุงสิงกับใครมากนัก แม้กระทั่งกับบุคลากรในศาลด้วยกันเอง นอกจากนี้ยังเป็นคนมีหลักการในการทำงานสูง จึงไม่แปลกที่จะรู้สึกกดดันอย่างแรง เมื่อจำต้องตัดสินใจอะไรที่ฝืนธรรมชาติของตน สุดท้ายจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

“การตัดสินใจในครั้งนี้แสดงให้เห็นความเสียสละอย่างมาก สำหรับคนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับนั้น จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังคงรู้สึกเสียใจที่ท่านต้องเผชิญกับปัญหาแบบนี้โดยลำพัง และรู้สึกเสียดายที่ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีค่าในวงการยุติธรรมไปเช่นนี้”

มายาคติ ‘อาชญากรรมในชายแดนใต้ = ก่อการร้าย’

“หากจะให้เท้าความความผิดปกติของคดีนี้ ประเด็นแรกคือในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้กฎอัยการศึกและ พรก.ฉุกเฉินฯ ทำให้โดยมากนั้น พยานจะผ่านกระบวนการซักถามมาแล้ว หลักฐานในคดีส่วนใหญ่จึงเป็นบันทึกคำให้การที่มาจากการซักถามในค่ายทหาร ซึ่งเป็นสำนวนที่ต่างจากการสอบสวนของตำรวจที่ทำกันในโรงพักโดยสิ้นเชิง 

“หลังจากสืบพยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านคณากรพบว่ามีพิรุธหลายอย่าง จึงพิจารณาให้ยกฟ้องศาลชั้นต้น ซึ่งในระเบียบของศาล สำนวนและร่างคำพิพากษาทุกอย่างจะต้องถูกส่งไปให้อธิบดีผู้พากษาภาคตรวจสอบ ในส่วนของกระบวนการตรวจสอบของภาคครั้งนั้น ผมเองก็ไม่รู้รายละเอียดแน่ชัดว่ามีการแทรกแซงจริงหรือไม่ แต่ที่รู้แน่ๆ คือตัวท่านคณากรกำลังได้รับแรงกดดันอย่างมาก เนื่องจากต้องแก้สำนวน แก้ร่างอยู่หลายรอบ กว่าจะมาถึงเหตุการณ์ที่ท่านยิงตัวเองในบัลลังก์

“บทสนทนาในวงการทนายความและนักกฎหมายหลังจากเหตุการณ์นั้น มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กระบวนการซักถาม’ ในชั้นกฎหมายพิเศษ ซึ่งเรามองว่ามันทำให้กระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัด ‘เพี้ยน’ 

“ปกติแล้ว คดีหนึ่งๆ จะต้องเริ่มจากการสอบสวนหาตัวคนร้ายโดยตำรวจ เมื่อได้พยานหลักฐานแล้วถึงจะรวบรวมพยานหลักฐานนั้นมาแจ้งข้อกล่าวหา แล้วสรุปเป็นสำนวนส่งให้อัยการ แต่ทุกวันนี้ เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือทหารมักจะอ้างสิทธิการใช้กฎหมายพิเศษ ว่าเป็นไปเพื่อการระงับยับยั้งเหตุการณ์ความไม่สงบ แล้วเอาตัวผู้ต้องหาไปซักถามในค่ายทันที ซึ่งบางครั้งกระบวนการนี้อาจใช้เวลายาวนานเป็นเดือนๆ และหากอ้างอิงจากกรณีที่ผ่านมา พบว่าตลอดช่วงเวลาที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ภายในค่าย มักมีการบังคับขู่เข็ญ ตลอดจนการซ้อมทรมานเพื่อรีดข้อมูลหรือบังคับให้สารภาพ จนถึงขั้นเสียชีวิตในค่ายก็เคยมีมาแล้ว

“เอกสารทุกอย่างที่ทำขึ้นในชั้นการซักถามลักษณะนี้ จึงไม่ใช่การสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติ เมื่อเริ่มสืบสวนด้วยวิธีการที่ตรวจสอบไม่ได้เช่นนี้แล้ว กระบวนการยุติธรรมของคดีมันจึงเพี้ยนไปแล้วตั้งแต่เริ่มต้น หากผมตกอยู่ในที่นั่งเดียวกันกับท่านคณากรในฐานะผู้พิพากษา ผมเองก็คงรับไม่ได้เช่นกัน เพราะเราไม่รู้เลยว่าพยานหลักฐานและเอกสารทั้งหมดอาจถูกเสริมแต่งขึ้นมาหรือไม่ แต่ในเมื่อกฎหมายมันมีช่องอยู่ มันจึงทำได้ และทำกันมาเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องปกติสำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง 

“อย่างไรก็ตาม คดี ‘5 ศพบันนังสตา’ ของท่านคณากรไม่ถือเป็นคดีก่อการร้าย เป็นเพียงคดีฆาตกรรมธรรมดาเท่านั้น แต่กลับใช้กฎหมายพิเศษ เดี๋ยวนี้แม้แต่คดียาเสพติดก็ใช้กฎหมายพิเศษ สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหายหมด ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราสนทนากันหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อกังวลที่เกิดขึ้นในแวดวงนักกฎหมายในพื้นที่สามจังหวัด”

กระบวนการสร้าง ‘ผู้พิพากษา’ ภายใต้ระบบอุปถัมภ์

กระบวนการที่นักกฎหมายสักคนหนึ่ง จะเข้าสู่ระบบตุลาการไปนั่งตำแหน่งผู้พิพากษาได้นั้น มีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมวัฒนธรรม หรือวิถีปฏิบัติบางอย่างที่ทำให้บุคลากรในระบบไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่าง ‘อิสระ’ โดยแท้จริง

ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาหรือเกาหลีใต้ ผู้ที่ต้องการทำงานเป็นนักกฎหมายจะต้องจบปริญญาตรีสาขาใดสาขาหนึ่งมาก่อน จึงจะสามารถสมัครเข้าโรงเรียนกฎหมาย เรียนเอาวุฒิปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบันทิต (Juris Doctorate Degree) ให้ได้ก่อน เพื่อให้มีสิทธิสอบเนติบัณฑิต (Bar Examination) ซึ่งเป็นประตูบานแรกในการเข้ามาทำงานในกระบวนการยุติธรรม ยังไม่รวมถึงประสบการณ์ทำงานในฐานะทนายความที่มีใบอนุญาตอีกอย่างน้อย 10 ปี จึงจะมีโอกาสได้รับการพิจารณาให้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาได้

“แต่ของไทย หากอยากเป็นผู้พิพากษา ขอเพียงจบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ ได้เนติบัณฑิต สอบสนามใหญ่ผ่าน และ ‘เก็บคดี’ ตามได้ครบระเบียบจำนวน 20 คดี ก็สามารถเป็นผู้พิพากษาได้เลย 

“20 คดีอาจฟังดูไม่น้อย แต่ปัญหาคือในทางปฏิบัตินั้น แค่เราเข้าศาลไปว่าความ เอาแบบฟอร์มไปให้ผู้พิพากษาและอัยการช่วยเซ็นสักครั้ง ก็สามารถนับเป็น 1 คดีได้แล้ว โดยที่เราอาจจะไม่ต้องติดตามการพิจารณาคดีอย่างเจาะลึกทุกนัดไปจนจบคดี บางครั้งถึงแม้จะเก็บคดีครบจนมีสิทธิสอบผู้พิพากษาได้แล้ว ก็ยังไม่ถือว่ามีประสบการณ์มากพอในฐานะทนายความ เพราะไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงและข้อมูลเจาะลึกของแต่ละคดีจนแตกฉาน อีกทั้งยังอ่อนหัดมากในเรื่องของสำนวน การมองข้อเท็จจริง และการวางประเด็นในคดี อาจถือว่าพอเป็นทนายได้ แต่ยังห่างไกลกับคำว่า ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าความ’ เมื่อเข้าไปอยู่ในวงการพิพากษาแล้ว ก็ต้องไปคอยตามติวเตอร์ ไปนั่งเป็นคณะร่วมก่อน เพื่อค่อยๆ ฝึกการบันทึกและการทำสำนวนคดี

“เพราะกระบวนการสร้างหรือคัดกรองคนมันอ่อนเช่นนี้ วงการผู้พิพากษาจึงถูกหล่อหลอมให้ผู้อาวุโสน้อยเดินตามผู้อาวุโสมาก บางครั้งนักกฎหมายที่เข้ามาเป็นผู้พิพากษายังอายุน้อย ขาดประสบการณ์ และวุฒิภาวะอยู่มาก เมื่อเข้ามาก็ต้องอยู่ในสังคมที่มีความเป็นจารีตสูง ตัดขาดจากโลกภายนอก อยู่ในโลกของตัวเอง ไม่เปิดกว้างรับสังคม

“ผมจึงมองว่าผู้พิพากษาไทยส่วนมากนั้น มีเส้นทางอาชีพที่ทำให้ตัวเองถูกตัดขาดจากสังคมอยู่มาก โดยเฉพาะในแง่ของการมองโลก เขาเข้าสู่โลกของการทำงานมา ก็ได้เห็นแค่สำนวนบนหน้าเอกสาร พนักงานสอบสวนบันทึกไว้อย่างไร ก็มองรูปคดีไปตามนั้น ทั้งที่บางครั้งกระบวนการสอบสวนมันก็เพี้ยนได้ การที่จะพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้รอบด้าน จนรู้เท่าทันกระบวนการสอบสวนได้ มันต้องใช้ ‘เซนส์’ มาก ซึ่งเซนส์ก็มาจากประสบการณ์ว่าความอันยาวนานในฐานะทนายอีกนั่นแหละ แต่ในเมื่อระบบการสร้างผู้พิพากษาที่มีอยู่ตอนนี้ มันเอื้อให้ทนายเด็กๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์เข้าไปสอบผู้พิพากษาได้เลย ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นแบบที่เห็น” ทนายอับดุลกอฮาร์กล่าว

ความเป็นไปได้ในการปรับตัวของระบบตุลาการที่ ‘ตัดขาด’ จากสังคม

“ปัจจุบัน ไม่ว่าจะที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หรือในกรุงเทพฯ กระบวนการยุติธรรมในไทยต่างกำลังถูกท้าทายหลายประการ การเข้ามามีบทบาทของโลกโซเชียลฯ มีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เริ่มมีการตรวจสอบและเฝ้าสังเกต กล่าวได้ว่าในอนาคตอาจส่งผลให้ศาลเริ่มมีการปรับตัว

“แต่ในท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการการคัดเลือกคนมันยังไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอยู่ดี-พูดแบบบ้านๆ เลยคือยังไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไรต่อประชาชนเลย เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือในขณะที่นักการเมืองนั้น แน่นอนว่าจะต้องรับผิดชอบประชาชน เพราะเข้ามาทำงานโดยผ่านการเลือกตั้ง แต่ระบบการคัดเลือกคนเข้ามาในระบบตุลาการแทบไม่มีอะไรที่ยึดโยงกับสังคมเลย

“มองจากอีกมุมหนึ่ง หากยึดโยงมากไป ศาลก็อาจสูญเสียความยุติธรรมไป แต่ในมุมมองด้านความรับผิดชอบทางสังคม ในเมื่อการตัดสินคดีในศาลมันกระทบสิทธิเสรีภาพของคนโดยตรง เราจึงควรมีกลไกลอะไรที่สามารถจะมาถ่วงดุลตรงนี้ เช่น ระบบของสหรัฐฯ ซึ่งมีกระบวนคัดเลือกโดยผ่านสมาชิกวุฒิสภาและโครงสร้างอื่นๆ แม้จะประชาชนจะไม่ได้เลือกโดยตรง แต่มันมีกลไกที่จะช่วยให้คัดเลือกคนเข้าสู่ระบบโดยยึดโยงกับสังคมอยู่ แต่ของไทยไม่มีเลย 

“การผลักดันให้คนทั่วไปหันมาเรียนรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมถือเป็นโจทย์ที่ยากมาก แม้แต่สื่อเองก็ยังลำบากที่จะหาหนทางในการนำเสนอภาพกระบวนการยุติธรรมให้คนสามารถเข้าใจได้ มันจึงเกิดช่องว่างขึ้น เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ พอเกิดคดีความอะไร ชาวบ้านก็จะไม่อยากสนใจ เพราะเป็นเรื่องยุ่งยากไกลตัว และยิ่งสังคมเพิกเฉยเรื่องเหล่านี้มากเท่าไร ระบบที่มีปัญหาอย่างเห็นได้ชัดนี้ ก็จะยังคงดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะคนที่มองเห็นปัญหามีเพียงคนกลุ่มน้อยในวงการแคบๆ ซึ่งไม่มีแรงกำลังมากพอจะสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้โดยลำพัง”

ที่มา:

ไทยรัฐ. แถลงยิง 5 ศพบันนังสตา ทุกศพโดนที่หัว-ลำตัว คาดขัดแย้งส่วนตัว. https://www.thairath.co.th/news/local/south/1304962 

สุภชาติ เล็บนาค. มรณกรรมของ คณากร เพียรชนะ เมื่อ ‘ความอิสระ’ ของผู้พิพากษายังคงถูกตั้งคำถาม. https://themomentum.co/report-unanswerdeath/ 

BBC Thai. คณากร เพียรชนะ: 10 ข้อความในแถลงการณ์ 25 หน้า ที่สั่นสะเทือนระบบตุลาการไทย. https://www.bbc.com/thai/thailand-49943661

Thai PBS. คุมตัวผู้ต้องสงสัยยิงชาวบ้าน 5 ศพ อ.บันนังสตา ได้แล้ว. https://www.thaipbs.or.th/news/content/272772 

The Reporters. ครอบครัวจำเลยที่ยกฟ้อง ขอประกันตัว เผยระหว่างการควบคุมตัวถูกทำร้าย. https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/pfbid02ND31o7kUCruqjHo586QDzvYNAcSSrU9vGV5dwyfpts2BPKSA2nZbb7HZPc9SG5inl 

Tags: , , , , ,