“คนจีนเขาฉลาด พอมาอยู่อาศัยได้ก็เริ่มชักชวนเพื่อน ครอบครัวมาทำธุรกิจด้วยกัน เมื่อก่อนตึกตรงนี้ค่าเช่าไม่เท่าไร เดี๋ยวนี้ถ้าซื้อห้องหนึ่งก็มีราคา 10 ล้านเป็นอย่างต่ำ” คือเสียงจากคนไทยคนหนึ่งในพื้นที่ ‘ห้วยขวาง’ ทำเลทอง – ไชนาทาวน์แห่งใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ
จากริมถนนรัชดาภิเษกมองผ่านเข้าไปยังถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ร้านรวงสองข้างทางมีแต่ภาษาจีน ผสมผสานด้วยภาษาไทยฟอนต์แปลกๆ การสะกดคำที่ประดักประเดิด แน่นอนว่าเจ้าของร้านส่วนใหญ่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ และลูกค้าเกือบทั้งหมดก็มาจากแดนมังกร ไม่นับรวมธุรกิจเทาๆ ดำๆ หลังร้าน ซึ่งคนไทยไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เป็นที่รู้กันดีว่า ‘ห้วยขวาง’ เป็นแหล่งผลประโยชน์สำคัญ และสารพัดเรื่องแปลกๆ ไม่ว่าจะด่านตำรวจรีดไถนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะบ่อนการพนัน อาบอบนวด มักวนเวียนอยู่แถวนี้ เมื่อผนวกกับการมาของธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจมีหรือไม่มีการขออนุญาต และรัฐไม่มีทางตามทัน จากไชนาทาวน์อาจกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์มืดไปได้ในไม่ช้า และเมื่อพัวพันกับธุรกิจข้ามชาติ เรื่องก็จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น
The Momentum พาสำรวจ ‘ไชนาทาวน์’ ใหม่กลางกรุงเทพฯ ที่การมาถึงของทัวร์จีนเปลี่ยนถนนเส้นนี้ไปโดยสิ้นเชิง
ย้อนกลับไปก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เว็บไซต์ Trip.com ผู้นำด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมระหว่างประเทศเผยว่า นักท่องเที่ยวจีนเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับที่ 1 เนื่องจากประเทศไทยมีความสะดวกสบายครบครันในทุกรูปแบบ และที่สำคัญใช้เวลาเดินทางจากประเทศจีนไม่นานนัก ทำให้ประเทศไทยเป็นอีกหมุดหมายสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวของชาวจีนมาหลายสิบปี จนเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วทั้งโลกจนการท่องเที่ยวต้องซบเซาลง
กระทั่งในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ผ่อนคลายมาตรการจัดการโควิด-19 ลง โดยเปิดให้เดินทางไปยังต่างประเทศได้เป็นปกติ แน่นอนว่าหลายประเทศก็ยินดีและต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกันถ้วนหน้า ประเทศไทยก็เช่นกัน
ด้านสถาบันวิจัยการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีน (COTRI) ประเมินว่าในปี 2023 การท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวกลับมาราว 3 ใน 4 ของความคึกคักเดิมช่วงก่อนโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 115 ล้านเที่ยวบินในปีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแต่ละปีนักท่องเที่ยวจีนทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศเดินสะพัดเป็นจำนวนหลายล้านบาทต่อปี
เมื่อนึกถึงย่านที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมไป แน่นอนว่าต้องมี ‘เยาวราช’ ย่านเมืองเก่าใจกลางกรุง นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้วยังเป็นย่านอยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีนมานาน จนได้รับการขนานนามว่า ‘ไชนาทาวน์’ แต่ในปัจจุบัน นอกจากย่านเยาวราชแล้ว ยังมีสถานที่อีกมากมายที่เริ่มพลิกโฉมตกแต่งให้กลายเป็นเมืองจีนขนาดย่อมๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ
‘ย่านห้วยขวาง’ หรือบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ในปัจจุบันนับว่าไม่ต่างจากไชนาทาวน์ขนาดย่อมๆ คงไม่ผิดนัก เนื่องจากสองข้างทางเต็มไปด้วยร้านรวงที่ประดับประดาไปด้วยโคมไฟสีแดงอันโดดเด่น และป้ายร้านค้าที่มีตัวอักษรภาษาจีนอยู่มากมาย
“เมื่อก่อนชาวจีนที่มาตรงนี้เขามาเพื่อเรียนพิเศษเป็นส่วนใหญ่ ห่างจากนี้ไปไม่ไกลก็เป็นสถานฑูตจีนแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา เพราะตรงนี้เดินทางง่าย มีทั้งรถไฟฟ้าและรถเมล์ พอมีความรู้ก็เริ่มเห็นช่องทางทำมาหากิน เปิดร้านขายของนำเข้า-ส่งออกกันหลายร้าน ส่วนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่งจะมาไม่นานนี้เอง” ‘มาลี’ เจ้าของร้านขายของชำหัวมุมถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เล่าให้ฟังถึงที่มาของชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในย่านห้วยขวางแห่งนี้
ไม่ไกลจากถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเป็นสถานที่ตั้งของสถานทูตจีน บริเวณรัชดาซอย 3 นอกจากนี้ยังมีธนาคารเเห่งประเทศจีน เเละศูนย์จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (Duty Free) สำหรับคนจีนอีกด้วย จึงไม่แปลกที่ชาวจีนสนใจทำเลทองในบริเวณนี้
การเข้ามาของชาวจีนในย่านนี้ทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจในถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่ได้รับการศึกษาสูง เเละมีโอกาสทำงานในเมืองไทย พอเริ่มคุ้นเคยกับเมืองไทยก็หาทางต่อยอดทางธุรกิจ
“คนจีนเขาฉลาด พอมาอยู่อาศัยได้ก็เริ่มชักชวนเพื่อน ครอบครัวมาทำธุรกิจด้วยกัน เมื่อก่อนตึกตรงนี้ค่าเช่าไม่เท่าไร เดี๋ยวนี้ถ้าซื้อห้องหนึ่งก็มีราคา 10 ล้านเป็นอย่างต่ำ”
มาลีเล่าว่าการที่ชาวจีนเข้ามาค้าขายในย่านนี้ ทำให้ราคาค่าเช่าอาคารพาณิชย์สูงขึ้นเป็นเท่าตัว การพัฒนาทางเศรษฐกิจของคนจีนในย่านนี้ ทำให้ย่านนี้เป็นย่านที่มีเงินหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสพูดคุยกับหญิงสาวนักลงทุนชาวไทยที่พยายามติดต่อขอเช่าอาคารในบริเวณนี้ โดยจะเปิดเป็นร้านขายผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน เธอเล่าให้ฟังว่ารับผลไม้มาจากชาวสวนในจังหวัดจันทบุรี และจะนำมาขายในบริเวณนี้เพราะคนจีนชื่นชอบผลไม้ แต่ราคาค่าเช่าในพื้นที่ตรงนี้เป็นราคาที่สูงมาก
เป็นที่รู้กันดีว่า ชาวจีนนั้นมีฝีมือในการค้าขาย ทำให้ชุมชนชาวจีนย่อมมีตลาดอยู่เสมอ ในบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญก็เช่นกัน อาคารบ้านเรือนหลายหลังเริ่มได้รับการบูรณะเปลี่ยนเป็นห้างร้านที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน มีร้านค้าที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของชาวจีนเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารจีนเเละร้านขายของทั่วไป ส่วนชาวจีนที่ค้าขายส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เเละยังมีร้านค้า ร้านอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก โดยธุรกิจหลักของคนจีนในย่านนี้คือ ธุรกิจขนส่งสินค้า ร้านขายเครื่องสำอาง ร้านอาหารจีน ร้านหมอนยางพารา
‘หอม’ พนักงานร้านชาจีน เล่าให้ฟังว่าตนเพิ่งเริ่มทำงานที่ร้านชาจีนแห่งนี้ได้เพียงไม่กี่เดือน เพราะร้านแห่งนี้ยังเปิดมาได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น โดยหลายร้านก่อนหน้าโดนพิษเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 เล่นงาน ทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ และเปลี่ยนมือเจ้าของธุรกิจในที่สุด
ส่วนร้านชาดังกล่าวมีเจ้าของเป็นคนไทย เป็นนักธุรกิจที่มีอาชีพค้าขายสินค้าแลกเปลี่ยนกับประเทศจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงหันมาเปิดร้านขายชายอดนิยมของชาวกวางตุ้ง เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ชาวจีนที่นิยมการดื่มชาเพื่อการพักผ่อน
สังเกตได้ว่าเมนูชาและอาหารจะใช้ภาษาจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยหอมให้เหตุผลว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนเนื่องจากมีวัฒนธรรมที่ชื่นชอบการดื่มชา ส่วนคนไทยจะชอบดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเย็นๆ ที่ทำให้ชื่นใจมากกว่าชาสมุนไพร
ในบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ มีร้านค้าและร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 50 ร้าน ซึ่งการจะเปิดร้านอาหารได้นั้นย่อมต้องได้รับการตรวจสอบเรื่องสุขลักษณะอนามัยของสินค้า และมีใบอนุญาตการขายจากสำนักงานเขตห้วยขวางจึงจะถือว่าเป็นร้านที่ทำถูกต้องตามกฏหมาย หากร้านใดไม่มีก็จะต้องปิดทันที โดยจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบจากกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตห้วยขวางอยู่เสมอ
เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจเริ่มเปลี่ยนมือผู้เช่า ไปจนถึงเปิดบริการใหม่ และหลายร้านที่เปิดยังไม่ได้รับการตรวจสอบในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีการนำเข้ามาจากประเทศจีนทำให้ทางสำนักงานเขตห้วยขวางแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและคนไทยที่ซื้อสินค้าจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่นี้
นอกจากนี้ ที่จำเป็นต้องมีการดำเนินการตรวจสอบบ่อยครั้ง เนื่องจากในหลายพื้นที่ร้านอาหารหรือร้านขายสินค้าต่างประเทศมักมีการเปิดร้านเพื่อบังหน้าธุกิจสีเทา และการมาลงพื้นที่ตรวจสอบของสำนักงานเขตย่อมเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการตรวจตาสิ่งผิดกฎหมายไปพร้อมกัน
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งในการลงพื้นที่บริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ คือไรเดอร์ในชุดสีเหลืองที่มีโลโก้เป็นตัวอักษรจีน ซึ่งวิ่ง-รับ ส่งอาหารในบริเวณนี้ หลังการสอบถามพบว่าคือ GOKOO (โกคู) แพลตฟอร์มยอดนิยมสัญชาติจีนที่บริการฟู้ดเดลิเวอรี ซึ่งเปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อประมาณต้นปี 2564 ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 1 แสนราย มีร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการต่างๆ เข้าร่วมให้บริการบนแพลตฟอร์มมากมาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นในพื้นที่ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่
หนึ่งในไรเดอร์ดังกล่าวเล่าให้ฟังว่า เขาทำอาชีพไรเดอร์ให้กับโกคูมาระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งลูกค้าทั้งหมดล้วนเป็นชาวจีน น้อยมากที่จะเป็นคนไทย และส่วนใหญ่ก็วิ่งรับ-ส่งอาหารในบริเวณที่มีคนจีนอยู่เป็นหลัก เช่น ย่านรัชดาฯ ย่านห้วยขวาง ย่านเยาวราช และอื่นๆ โดยเฉพาะบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ซึ่งวันนี้ก็เป็นวิ่งมารับสินค้าที่ตรงนี้เป็นรอบที่ 4 แล้ว
“ก็เหมือนหลายที่พอเปลี่ยนกลายเป็นต้อนรับนักท่องเที่ยว เราคนในพื้นที่ก็เจอปัญหาเหมือนกัน จึงอยากฝากให้หน่วยงานหรือทางราชการมาตรวจสอบและลงพื้นที่ดูแลกันให้มากขึ้น” ‘อู๊ด’ หนึ่งในพนักงานรับจ้างรถสาธารณะบอกกับเรา โดยปัญหาที่เขาพบหลักมีด้วยกัน 4 ประการ ประกอบด้วย
1. เรื่องของความไม่ชัดเจนของร้านค้า
ร้านค้าและร้านอาหารส่วนใหญ่ในบริเวณนี้มักปิดป้ายหน้าร้านเป็นภาษาจีน ซึ่งพยายามมองไปภายในร้านพบว่าหลายครั้งไม่สามารถระบุได้ว่าร้านดังกล่าวขายสินค้าหรืออาหารแบบใด ซึ่งหลายครั้งคนในพื้นที่กังวลว่าอาจเป็น ‘ธุรกิจสีเทา’ ที่แฝงตัวมากับการประกอบกิจการร้านค้าและร้านอาหารจึงอยากให้หลายฝ่ายช่วยตรวจสอบ
2. เรื่องความสะอาด
ในช่วงตกเย็นมักเห็นหลายร้านจะทำความสะอาดโดยฉีดน้ำและนำน้ำดังกล่าวเทลงในคูสาธารณะทันที เขากังวลว่าหากในช่วงที่ฝนตกหนักจะทำให้ท่อน้ำเกิดการอุดตันจากเศษขยะและเศษอาหารที่ทิ้งลงไป จึงอยากให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้าหันมาดูแลในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ อยากฝากไปถึงไกด์ทัวร์ หากเป็นไปได้ช่วยแจงนักท่องเที่ยวชาวจีนให้ทิ้งขยะในบริเวณที่กำหนด เนื่องจากจะเป็นภาพที่ดูไม่ดี และทำให้ขยะไม่ได้รับการทิ้งถูกที่ โดยเฉพาะก้นบุหรี่และถุงพลาสติก
3. ปัญหาความปลอดภัย
เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบการเดินเพื่อจับจ่ายใช้สอย แต่ในบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ โดยเฉพาะช่วงเย็นมักเป็นช่วงที่การจราจรติดขัด จึงอยากให้นักท่องเที่ยวเดินบนไหล่ทางหรือทางเดินเท้ามากกว่าลงมาเดินบนถนน เพราะอาจเกิดอันตรายได้
4. ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ
เขาพบว่าหลายครั้งเจ้าของทัวร์หรือไกด์เป็นคนจีน และเจ้าของร้านอาหารและสินค้าที่เขาพานักท่องเที่ยวไปก็ดำเนินการโดยนักธุรกิจจีนเช่นกัน จึงตั้งคำถามว่าการที่นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวเมืองไทย แต่ใช้สินค้าและบริการจากประเทศจีนทั้งหมด แล้วประเทศไทยจะได้อะไรจากกรณีดังกล่าว เงินจากนักท่องเที่ยวจีนก็ไหลกลับไปสู่นักธุรกิจจีน
ดังนั้น อาจเห็นได้ว่า ‘โอกาสขยับขยายทางเศรษฐกิจ’ มักมาพร้อมกับ ‘ปัญหา’ หากทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมการรับมือที่รัดกุม เชื่อได้ว่าจะไม่ใช่เพียงย่าน ‘ไชนาทาวน์’ แห่งนี้ที่จะได้รับการขยับขยายทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพที่น่าลงทุนและเป็นทำเลทองสำหรับธุรกิจเช่นกัน
Tags: ห้วยขวาง, จีน