การพบกันระหว่าง ไช่อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) กับ เควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCarthy) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญอังกฤษถือเป็นผู้นำทางการเมืองอันดับที่ 3 รวมถึงได้พบกับสมาชิกสภาทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตอีกหลายคน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2023 แสดงสัญญะอะไรต่อการเมืองจีน ไต้หวัน สหรัฐฯ บ้าง?
อย่างแรก การพบกันครั้งนี้สร้างความไม่พอใจแก่จีนเป็นอย่างมาก ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ก็อยู่ในช่วงเวลาย่ำแย่ที่สุดไม่ต่างกัน
อย่างที่สอง การพบกันนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1979 ที่ผู้นำไต้หวันได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ บนดินแดนสหรัฐฯ
สำหรับผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวระหว่างจีนและไต้หวัน อาจสังเกตได้ว่าการเมืองในยุคที่ไช่อิงเหวินเป็นประธานาธิบดี และมีพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democrat Progressive Party: DPP) เป็นรัฐบาลนั้นเต็มไปด้วยความร้อนแรง จุดยืนของเธอกับพรรคยังคงเหมือนเดิม คือการแสดงตัวว่าไต้หวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่แยกตัวเป็นเอกราช มีระบบการเมืองการปกครอง สังคม วัฒนธรรม เป็นของตัวเอง ซึ่งท่าทีนี้สร้างความไม่พอใจให้กับจีนเสมอมา
ทางฝั่งจีนก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วไต้หวันพยายามแตกตัวออก แต่ส่งสัญญาณเตือนหลายรูปแบบทั้งการออกแถลงการณ์เตือนแบบสำบัดสำนวนเช่นวลี “ระวังอย่าเล่นกับไฟ เพราะไฟจะไหม้ตัวเอง” ไปจนถึงการเตือนตรงๆ อย่าง “ประกาศเอกราชเท่ากับประกาศสงคราม”
หรือการส่งเครื่องบินรบบินเฉี่ยวไปมาในน่านฟ้าของไต้หวัน การประกาศซ้อมรบ หรือแถลงการณ์ที่มีเนื้อหารุนแรงขึ้นจากเดิม เมื่อไหร่ไต้หวันแสดงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ การเตือนนั้นก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น
แต่คำถามคือ การยืนหยัดอย่างแข็งกร้าวของไต้หวันจะดำเนินไปถึงเมื่อไหร่?
อีกไม่นาน ไต้หวันจะเลือกตั้งใหญ่ในเดือนมกราคม 2024 คราวนี้ไช่อิงเหวินจะสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในวาระสุดท้าย ทำให้พรรค DPP ต้องหานักการเมืองคนใหม่ขึ้นมาเป็นตัวแทนท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี แข่งขันกับพรรคชาตินิยมจีน (Chinese Nationalist Party) หรือ พรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT) ที่มาแรงอย่างมากในการเลือกตั้งท้องถิ่นปีก่อน
ประณามหยามเหยียดและซ้อมรบครั้งใหญ่ ความกดดันจีน-ไต้หวัน เพิ่มขึ้นอีกครั้ง
การพบกันระหว่างไช่อิงเหวินกับเควิน แมคคาร์ธี ทำให้จีนออกมาเตือนซ้ำอีก และระบุว่าสหรัฐฯ กำลังสมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไต้หวันที่พยายามประกาศเอกราชจากจีน และไม่กี่ชั่วโมงหลังผู้นำไต้หวันพบประธานสภาสหรัฐฯ จีนสั่งยกระดับการลาดตระเวนทางทะเลต่อเนื่อง 3 วัน ถือเป็นกรณีพิเศษที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก และประกาศจะตรวจสอบเรือ ‘ทุกลำ’ ที่แล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน จนกระทรวงคมนาคมและการท่าเรือไต้หวัน ต้องออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกับการยกระดับนี้
วันที่ 6 เมษายน ชิวกั๋วเฉิง (Chiu Kuo-cheng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไต้หวัน ออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลตรวจพบเรือบรรทุกเครื่องบินรบจีน 3 ลำ แล่นห่างจากชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันประมาณ 370 กิโลเมตร พบเครื่องบินไอพ่น 1 ลำ กับเฮลิคอปเตอร์ต่อต้านเรือดำน้ำอีก 1 ลำ บินข้ามเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (Air defense identification zone: ADIZ) ที่ไต้หวันกำหนดไว้
รัฐมนตรีกลาโหมไต้หวันยังเสริมอีกว่า ตอนนี้สหรัฐฯ ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ยูเอสเอสนิมิตซ์ (USS Nimitz) ซึ่งแล่นอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันเช่นกัน หลังเรือลำดังกล่าวได้เทียบท่าอยู่ที่ปูซาน เกาหลีใต้ เมื่อช่วงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ท่าทีแข็งกร้าวของจีนส่งผลให้เวแดนท์ พาเทล (Vedan Patel) รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ขอให้จีนเลิกใช้กำลังทหาร ความสัมพันธ์ทางการทูต และการกีดกันทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันไต้หวัน
แม้หลายฝ่ายจะออกมาขอให้ประนีประนอม ทว่าวันที่ 8 เมษายน กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army: PLA) ประกาศซ้อมรบด้วย ‘กระสุนจริง’ เป็นเวลา 3 วันรอบเกาะไต้หวัน ทั้งบริเวณช่องแคบไต้หวัน ทางภาคเหนือ ใต้ และตะวันออก โดยการซ้อมรบครั้งนี้มีชื่อปฏิบัติการว่ายูไนเต็ดชาร์ปซอร์ด (United Sharp Sword) เกิดขึ้นหลังไช่อิงเหวินเดินทางกลับไต้หวัน
รัฐบาลไต้หวันระบุว่าตรวจพบเครื่องบินรบ 71 ลำ และเรือรบอีก 9 ลำ ล้ำเส้นเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังตรวจพบเรือรบหลายลำซ้อมยกพลขึ้นบกบริเวณอ่าวลั่วหยาง มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ที่ห่างจากหมู่เกาะหมาจู่ของไต้หวันเพียง 50 กิโลเมตร รวมถึงพบว่ากองทัพจีนได้ซ้อมยิงขีปนาวุธข้ามทวีปตงเฟิง-41 (DF-41) ถือเป็นครั้งแรกหลังจากปี 1996 ที่กองทัพจีนยิงขีปนาวุธตกในทะเลนอกชายฝั่งของไต้หวัน
รัฐบาลจีนระบุว่าการซ้อมรบนี้เกิดขึ้นเพราะความจำเป็น เพื่อเตือนไปยังกลุ่มผู้ฝักใฝ่แบ่งแยกดินแดนในไต้หวันให้ยุติการร่วมมือกับกองกำลังจากภายนอก และจะต้องฝึกซ้อมเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของกองทัพเพื่อปกป้องอธิปไตยของแผ่นดินจีน
ด้านกระทรวงกลาโหมไต้หวันยืนยันจะรับมือกับการซ้อมรบนี้อย่างจริงจัง จะยึดหลักการไม่เพิ่มความขัดแย้ง ไม่สร้างข้อพิพาท
อย่างไรก็ตาม ท่าทีไม่พอใจครั้งนี้ก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับตอนที่แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาสหรัฐฯ ในเวลานั้น เดินทางเยือนกรุงไทเปเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 เพราะหลังการมาเยือนในครั้งนั้น กองทัพจีนประกาศซ้อมรบนานเกือบหนึ่งสัปดาห์
วันที่ 12 เมษายน สถานการณ์ยังคงตึงเครียด โจเซฟ วู (Joseph Wu) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศไต้หวัน ถูกผู้สื่อข่าวถามความคิดเห็นว่าหรือการพบกันระหว่างไช่อิงเกวินกับแมคคาร์ธีอาจสร้างผลเสียมากกว่าผลดี เขาตอบกลับอย่างหนักแน่นว่าจีนจะไม่สามารถเป็นผู้กำหนดว่าไต้หวันจะเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตรกับใคร
ในวันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานตรงกันว่าบริษัทผลิตอาวุธที่เป็นคู่สัญญากับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กว่า 25 แห่ง เตรียมส่งตัวแทนบริษัทไปยังกรุงไทไปในเดือนพฤษภาคม เพื่อเจรจาหารือถึงการผลิตอาวุธ โดรน กระสุนปืน และการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหาร เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางทหาร ที่คาดเดาได้ทันทีว่าจะต้องสร้างความไม่พอใจให้กับจีนอีกเป็นแน่
ตอนนี้ถือได้ว่าความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ ดิ่งลงเหวไปเรื่อยๆ ตามรายงานของนักวิเคราะห์หลายรายที่มองว่าการประชุมครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนย่ำแย่ลง และเป็นช่วงเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 1979
‘เลือกตั้ง 2024’ ความน่าสนใจคือความเสี่ยงเปลี่ยนขั้วอำนาจ
ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ไต้หวันแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองจบลงเมื่อปี 1949 ตั้งรัฐบาลและปกครองตนเองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
แม้หลายยุคหลายสมัย ไต้หวันจะมีท่าทีประนีประนอมต่อจีน พอในยุคของไช่อิงเหวิน เธอยืนยันตั้งแต่ครั้งหาเสียงว่าไต้หวันเป็นประเทศ มีเอกราช มีสิทธิเสรีภาพในการปกครองตัวเองมาตั้งนานแล้ว จึงทำให้ทันทีที่เธอชนะการเลือกตั้ง จีนได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันทันที
ช่วงแรกที่ไช่อิงเหวินเป็นผู้นำ เธอค่อนข้างได้รับเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนจากนโยบายที่ทันสมัย ก่อนคะแนนเสียงจะเริ่มตกลงหลังประชาชนมองว่าในช่วงปลายของการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลยังรับมือกับปัญหาได้ไม่ดีพอ
คะแนนนิยมที่ลดลงถูกพิสูจน์ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเดือนพฤศจิกายน 2022 พรรค DPP พ่ายแพ้ให้กับพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างย่อยยับ โดยพรรคก๊กมินตั๋งได้รวบรวมคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 50 และในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีไทเป สามารถรวมคะแนนเสียงได้ขาดลอยถึงร้อยละ 61
เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้พรรค DPP พ่ายแพ้คือปัญหาการจัดการเรื่องโรคระบาด เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ปัญหาเงินเฟ้อ นโยบายทางการทูตบริเวณคาบสมุทรไต้หวันที่ยังคงเป็นที่ถกเถียง กอปรกับการหาเสียงที่ร้อนแรงของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่โจมตีการทำงานของรัฐบาลอย่างดุดัน ทำให้ประชาชนหันไปเลือกตัวแทนจากพรรคอื่นๆ บ้าง
ผลความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น บางคนถึงขั้นเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่พรรครัฐบาลสูญเสียความเชื่อมั่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จนทำให้ไช่อิงเหวินต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรค DPP เพื่อรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ 2024 ของพรรค DPP ดูจะยังคงเป็นเหมือนเดิม เพราะหลังจากได้พบกับประธานสภาสหรัฐฯ เธอให้สัมภาษณ์ว่าตอนนี้ตัวเธอและรัฐบาลกำลังทำทุกอย่างเพื่อรับประกันว่า วิถีชีวิต เสรีภาพ ประชาธิปไตยของไต้หวันจะยังคงได้รับการดูแลอย่างดี และประชาชนจะยังคงมีสิ่งเหล่านี้ต่อไป รัฐบาลจะพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงของชาติ โดยทำงานร่วมกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ รวมถึงสหรัฐฯ เพื่อเผชิญหน้ากับเผด็จการที่พยายามขยายอำนาจมายังไต้หวัน
สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคาดเดาเด็ดขาดไม่ได้ ทำให้สำนักข่าวหลายเจ้าและสถาบันวิจัยหลายแห่ง ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นชาวไต้หวันต่อการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ก่อนได้คำตอบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ ตัวตน และวัฒนธรรมของชาวไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ทำแบบสอบถามส่วนใหญ่ก็ตอบว่าอาจจะเลือกพรรค DPP เหมือนเดิม
แม้ส่วนใหญ่จะตอบว่าเลือกพรรครัฐบาลปัจจุบัน แต่ความวุ่นวายและการถูกจีนส่งสัญญาณเตือนบ่อยครั้ง ก็อาจสร้างความรู้สึกเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย จนเกิดความรู้สึกอยากมองหาพรรคการเมืองใหม่ที่ตอบโจทย์นี้ เช่น พรรคที่มีนโยบายประนีประนอมมากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงขั้นยอมจีนไปเสียทุกอย่าง เพื่อหวังว่าความวุ่นวายด้านการเมืองระหว่างประเทศจะสงบลงโดยเร็ว
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าเวลานี้พรรคของไช่อิงเหวินอาจกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากอีกครั้ง หากย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งท้องถิ่น 2022 จะเห็นว่าผู้เข้าชิงคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวแทนพรรค DPP ต่างนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีนมาหาเสียงไม่ต่างกัน เช่น ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง ประกาศว่าแนวคิดประชาธิปไตยและการปกป้องไต้หวันฝังอยู่ใน DNA ของเขา หรือ หวง ชาน ชาน (Huang Shan-shan) ผู้สมัครอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ก็ย้ำว่าประชาธิปไตยและเผด็จการไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้
การแสดงจุดยืนแบบนี้สะท้อนอะไร? สิ่งสำคัญที่สุดคือการแสดงให้เห็นว่านักการเมืองไต้หวันไม่ว่าจะฝ่ายไหน ต่างรู้แล้วว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไต้หวันมีมุมมองต่อจีนแบบใด พวกเขารู้ว่าคนไต้หวันเกินครึ่งภูมิใจในความเป็นชาติ และใช้จุดแข็งนั้นมาออกนโยบายทางการเมืองไม่ต่างจากที่พรรค DPP เคยทำและชนะเลือกตั้ง รวมถึงย้อนกลับมาโจมตีพรรค DPP ที่เป็นรัฐบาลมานานว่านโยบายด้านการรับมือกับจีนอาจไม่เวิร์คอย่างที่หลายคนคิด
ตอนนี้คู่แข่งเก่าของไช่อิงเหวินที่แพ้เลือกครั้งก่อนอย่าง เทอร์รี กัว (Terry Gou) ผู้ก่อตั้งฟ็อกซ์คอนน์ ซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของแอปเปิ้ล อิงค์ (Apple Inc) เพิ่งประกาศชิงตำแหน่งตัวแทนผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคก๊กมินตั๋งอีกครั้ง
สิ่งที่น่าสนใจคือเทอร์รี กัว ประกาศว่าวิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามกับจีน คือการลดความตึงเครียดระหว่างจีน และทำให้พรรค DPP พ้นจากการเป็นรัฐบาลโดยเร็วที่สุด
นั่นหมายความว่าหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของไช่อิงเหวิน โดยเฉพาะการโต้ตอบจีนอย่างแข็งกร้าว และการเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นกับสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหากพรรค DPP ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้อีกครั้ง ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ของเทอร์รี กัว ก็สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่น้อย
บางกระแสมองว่าหากเทียบกับความพ่ายแพ้ของไช่อิงเหวินในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปีก่อน ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ พรรคก๊กมินตั๋งอาจมีวิธีหาเสียงที่โดนใจประชาชนมากขึ้น เพื่อโกยคะแนนจากผู้คนที่เบื่อหน่ายกับความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ผู้คนอีกส่วนหนึ่งก็มองว่าประชาชนจำนวนมากยังชื่นชอบท่าทีของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีต่อจีน และเห็นด้วยกับการเพิ่มเวลาเกณฑ์ทหาร แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีฝ่ายไหนกล้าเทหมดหน้าตักแบบแน่ชัดว่าฝั่งของตัวเองจะได้รับชัยชนะแบบขาดลอย
แล้วแบบนี้ทิศทางการเมืองของไต้หวันหลังไช่อิงเหวินลงจากอำนาจจะเป็นอย่างไรต่อ? สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือการเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อไป จนถึงช่วงเวลาหาเสียง เห็นนโยบายที่มีต่อจีน เห็นแคนดิเดตที่ยืนยันแน่ชัดของพรรคการเมืองใหญ่ และที่สำคัญคือท่าทีของจีนที่มีต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
อ้างอิง
https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4858230
https://thediplomat.com/2023/01/the-international-effect-of-taiwans-local-elections/
https://edition.cnn.com/2023/04/11/politics/taiwan-foreign-minister-interview/index.html
Tags: Analysis, การเมืองต่างประเทศ, ไช่อิงเหวิน, Tsai Ing-wen, China, เลือกตั้งไต้หวัน, Politics, เลือกตั้งไต้หวัน 2024, ไต้หวัน, ความขัดแย้งจีน ไต้หวัน, Taiwan, Global Affairs, จีน, ข่าวต่างประเทศ