ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงิน ประจำไตรมาส 3/2566 ระบุว่า ไตรมาส 3 ของปี 2566 มียอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90.2% ของ GDP ขณะเดียวกัน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ออกมาประเมินว่าหนี้ครัวเรือนของไทยจะสูงขึ้นถึง 16.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 91.4% ของ GDP ภายในสิ้นปี 2567
ttb analytics ประเมินว่าภายในสิ้นปี 2567 หนี้ครัวเรือนของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 16.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 91.4% ของ GDP เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจเติบโตช้าและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของลูกหนี้ที่มีปัญหา ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ
ขณะเดียวกัน ยังวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงอยู่ในระดับเปราะบางสูง ไว้ 3 ปัจจัย ได้แก่
- เศรษฐกิจและรายได้ที่เติบโตช้า กล่าวคือแม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2567 จะฟื้นตัวดีขึ้น ผลจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัว แต่สัดส่วนของรายได้จากการส่งออกยังเป็นของกลุ่มธุรกิจใหญ่กว่า 90% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งขับเคลื่อนธุรกิจขนาดเล็กยังฟื้นตัวช้า ทำให้สถานะการเงินของผู้ประกอบการมีความเปราะบาง อาจกระทบต่อแรงงานกว่า 71% ของแรงงานทั้งประเทศ
- ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น กล่าวคืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้แนวโน้มที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น นโยบายพักชำระหนี้ของรัฐในช่วงวิกฤตได้ถูกนำกลับมาคิดทบต้น
- พฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี กล่าวคือ 1 ใน 3 ของการก่อหนี้ของลูกหนี้เป็นการก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ถือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Productive Loan) และมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น การขยายตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการก่อหนี้ผิดวัตถุประสงค์ และเสี่ยงก่อให้เกิดกับดักหนี้ที่ไม่สิ้นสุด
ปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรังของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
- ส่งผลให้เกิดการฉุดรั้งของการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะลูกหนี้ต้องนำเงินไปชำระหนี้แทนที่จะนำไปซื้อบริการหรือลงทุน
- ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน กล่าวคือหากลูกหนี้หลายรายไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาหนี้เสีย (Non-performing Loan: NPL) เป็นวงกว้าง ซึ่ง ณ ปัจจุบันสัดส่วนหนี้เสียในธนาคารพาณิชย์มีสูงถึง 1.52 แสนล้านบาท
- ส่งผลลุกลามก่อปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้และปัญหาอาชญากรรม
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว ttb เสนอว่า ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อและการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนให้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) เพื่อกระตุ้นให้ปรับวินัยทางการเงินให้ดีขึ้น
Tags: การเงิน, เศรษฐกิจไทย, หนี้ครัวเรือน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ดอกเบี้ย