อุณหภูมิเฉลี่ยโลกทำลายสถิติ ‘ร้อนที่สุด’ ในประวัติศาสตร์เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2023 ศูนย์คาดการณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาแถลงข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทำสถิติ ‘ร้อนที่สุด’ อยู่ที่ 17 องศาเซลเซียส นับว่าร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 1979 ทำลายสถิติร้อนที่สุดเดิม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2016

ขณะที่ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป (EU Copernicus Climate Change Service: C3S) ทวีตข้อความเช่นกันว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุด

โรเบิร์ต โรห์ด (Robert Rohde) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเบิร์กลีย์เอิร์ธ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่าจากนี้ โลกจะเผชิญหน้ากับอุณหภูมิที่สูงทำลายสถิติต่อเนื่องอีกเรื่อยๆ ในอีก 6 สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าอุณหภูมิที่สูงทำลายสถิติ คือ ‘อัตราเร่ง’ ที่อุณหภูมิจากหนาวสุดขั้วเปลี่ยนไปยังร้อนสุดขั้ว โดยโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกอุ่นไปถึงร้อน

ฟรีเดอริก ออตโต (Friederike Otto) นักวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศจากสถาบันแกรนแธมเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมแห่งสหราชอาณาจักร บอกว่า ขณะนี้ซีกโลกเหนือเพิ่งเริ่มต้นฤดูร้อน และเอลนีโญกำลังก่อตัวขึ้น หมายความว่าสถิติอุณหภูมิสูงขึ้นนั้นจะถูกทำลายต่อเนื่องไปอีกเรื่อยๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

สำหรับสภาพอากาศสุดขั้วที่หลายประเทศเผชิญในปีนี้ มีตั้งแต่รัฐเท็กซัสและรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อนเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนในเม็กซิโกมีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนสุดขั้วไปแล้ว 112 คน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม

ไม่เพียงเท่านั้น อินเดียและจีนล้วนเผชิญกับคลื่นความร้อน อุณหภูมิรายวันสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันหลายวันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ในสหราชอาณาจักรต้องเจอกับเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1884 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 15.8 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมซึ่งอยู่ที่ 16.7 องศาเซลเซียส อีกทั้งปัญหา ‘ไฟป่า’ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ล้วนเป็นผลพวงทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศ

ก่อนหน้านี้ ประเทศต่างๆ ให้คำมั่นในข้อตกลงปารีสว่า จะจำกัดอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และควรอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้ โลกกลับเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นกว่า 1.2 องศาเซลเซียส ขณะที่กิจกรรมเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งแปลได้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า อุณหภูมิอาจสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน หากยังไม่มีมาตรการจริงจังเพิ่มเติม

ที่มา

https://edition.cnn.com/2023/07/05/world/hottest-day-world-climate-el-nino-intl/index.html

https://edition.cnn.com/2023/07/05/world/wmo-el-nino-warmer-weather-climate-intl-hnk/index.html

Tags: , ,