ท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งของโลก เฮติเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกจับตามองในฐานะ ‘รัฐล้มเหลว’ (Failed States) ท่ามกลางความยุ่งเหยิงในกลุ่มประเทศทวีปอเมริกาใต้

เหล่านี้สะท้อนจากสถานการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกเลื่อนตั้งแต่ปี 2019 ตามมาด้วยปัญหาความมั่นคงจากแก๊งอันธพาลครองเมือง ส่งผลให้กลุ่มประเทศในแคริบเบียน (Caribbean Community: CARICOM) ซึ่งนำโดยเคนยา ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ หลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ไฟเขียวให้เปิดปฏิบัติการช่วยเหลือ แม้ว่าศาลเคนยาจะกีดกันก็ตาม

แต่ความร้ายแรงกว่านั้นคือการที่ จิมมี เชริซิเยร์ (Jimmy Chérizier) หรือที่รู้จักในฉายา ‘บาร์บีคิว’ (Barbique) หัวหน้าแก๊งอันธพาล G9 Family and Allies สุดเหี้ยมโหดประกาศข่มขู่ แอเรียล อองรี (Ariel Henry) นายกรัฐมนตรีและรักษาการณ์ประธานาธิบดีเฮติให้ลาออก ระหว่างอองรีกำลังปฏิบัติภารกิจนอกประเทศ ไม่เช่นนั้นสงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งประเทศ ก่อนที่เขาจะช่วยนักโทษเกือบ 4,000 ราย แหกคุกจากเรือนจำใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมสร้างกองโจรกลุ่มใหญ่เพื่อก่อความโกลาหลในประเทศ

“คนเฮติจะเป็นผู้กำหนดเองว่า ใครจะเป็นผู้ปกครองพวกเขา” เชริซิเยร์กล่าวในช่วงการบุกรุกเมืองปอร์โตแปรงซ์ (Port-au-Prince) ก่อนอาชญากรรายนี้จะย้ำว่า เขาไม่เห็นด้วยจากการแทรกแซงของต่างชาติในวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา

และแม้อองรีจะประกาศว่า ตนเองพร้อมลาออกเมื่อคืนวันที่ 13 มีนาคม 2024 หากการเลือกตั้งในประเทศเฮติเสร็จสิ้น ถึงกระนั้นวี่แววความสงบกลับยังไม่สู้ดี ซ้ำยังมีปัญหาอื่นรุมเร้า ดังที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เปิดเผยข้อมูลว่า ชาวเฮติ 4 ล้านคนกำลังเผชิญวิกฤตด้านความมั่นคงทางอาหาร ขณะที่ 1 ล้านคนกำลังหิวโหย สืบเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจและอาชญากรรมของประเทศซึ่งสั่งสมเรื่อยมา

เจาะเวลาหาอดีต: วิกฤตการเมืองจาก ‘ระบอบอาณานิคม’ สู่ ‘การลอบสังหารประธานาธิบดี’ และ ‘อันธพาลครองเมือง’ 

เฮติเป็นประเทศแห่งความอลหม่านทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วน นับตั้งแต่ยุคระบอบอาณานิคมภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา และแม้จะเกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในยุคร่วมสมัย ทว่าก็เกิดความวุ่นวายจากระบอบเผด็จการของ ฟรองซัวร์ ดูวาลิเยร์ (François Duvalier) อดีตประธานาธิบดีเฮติ ผู้เป็นต้นตำรับการสืบทอดอำนาจทางการเมืองในครอบครัว

สถานการณ์ความมั่นคงในเฮติเคยบานปลาย ถึงขั้นที่ครั้งหนึ่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ต้องเปิดปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (United Nations Peacekeeping) ด้วยภารกิจ ‘MINUSTAH’ ในปี 2004-2007 ที่เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว นับตั้งแต่วิกฤตโรคอหิวาตกโรคจากการทิ้งของเสียลงแม่น้ำ และการล่วงละเมิดทางเพศจากทหาร UN

แต่เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่การเมืองยุคใหม่ของเฮติ คือการลอบสังหาร โฌเวแนล โมอิส (Jovenel Moïse) ประธานาธิบดีในปี 2021 ด้วยการรัวยิงคาบ้านพัก 

ภายหลังการลอบสังหารดังกล่าวมีการเปิดเผยว่า กลุ่มลอบสังหารคือทหารรับจ้างชาวโคลัมเบีย 26 คน และชาวเฮติ-อเมริกัน 2 คน โดยสันนิษฐานว่า แรงจูงใจในการสังหารอาจเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องยาเสพติด

ย้อนกลับไป 2 ปีก่อนเกิดเหตุลอบสังหาร โมอิสประกาศระงับการเลือกตั้งในปี 2019 โดยใช้ข้ออ้างการประท้วงของประชาชนจากประเด็นคอร์รัปชัน และใช้พระราชกฤษฎีกาออกกฎหมายปกครองประเทศไปเรื่อยๆ ราวกับ ‘จอมเผด็จการ’ ในยุคก่อนอย่างไม่ต่างกัน

ทว่าผู้ที่ถูกรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อจากโมอิส คืออองรี นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักประสาทวิทยาดีกรีจบจากฝรั่งเศส ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของอดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่กี่วันก่อนการลอบสังหาร 

ก่อนหน้านี้ อองรีเริ่มไต่เต้าทางการเมืองจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวง ความมั่นคงภายในในยุคประธานาธิบดี มิเชล มาร์เทลลี (Michel Martelly)  

อย่างไรก็ตาม ตลอดเกือบ 8 เดือนที่อองรีดำรงตำแหน่ง เขาต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะประเด็นก่อการร้ายจากแก๊งอันธพาลรอบสารทิศ และปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้ามานาน 

แต่เรื่องที่หนักหนาสาหัสคือ ‘วิกฤตไร้ความชอบธรรม’ เพราะเขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยหลายคนมองว่าเขาเป็นผู้นำที่ผิดกฎหมายและ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ จากการขอความช่วยเหลือด้านความมั่นคงจากนานาชาติ เพื่อจัดการกับปัญหาความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังบิดพลิ้วคำพูดว่า จะให้ประเทศมีการเลือกตั้งแต่กลับถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

แต่หากจะกล่าวโทษอองรีเพียงอย่างเดียว อาจเป็นการตีตราที่รุนแรงเกินไปเสียหน่อย เพราะวิกฤตด้านความมั่นคงและปัญหาทางการเมืองในเฮติ แทบจะไม่สามารถ ‘แยกขาด’ ออกจากกัน และยากเกินกว่าจะแก้ไข เพราะความขัดแย้งทางการเมืองกลายเป็นช่องว่างสำคัญทำให้กลุ่มก่อการร้ายขึ้นมามีบทบาท

ดังเช่นการขึ้นมาของเชริซิเยร์ หัวหน้ากลุ่มก่อการร้าย G9 Family and Allies ผู้เคยเป็นตำรวจเก่า และประกาศตนเองว่า เขาไม่ใช่ขโมย โจร หรือผู้ร้ายข่มขืน 

แต่เขาคือ ‘นักสู้ของผู้อ่อนแอ’ ท่ามกลางโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยว และนักปฏิวัติต่อระบบไร้ความเท่าเทียม โดยมี ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) โทมัส ซานการา (Thomas Sankara) และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King) เป็นไอดอลในดวงใจ

ดูเหมือนกับว่า เขาคือโรบินฮู้ดแห่งเฮติหรือตัวร้ายในคราบนักบุญ ทว่าฉายาบาร์บีคิวของเขาไม่ได้มาเพราะโชค แม้จะอ้างว่า ชื่อดังกล่าวมาจากอาชีพของครอบครัวที่ขายไก่ทอดในวัยเยาว์ แต่วีรกรรมอันโหดเหี้ยมของเขาคือ ‘การเผา’ ทุกสิ่งทุกอย่าง  

เชริซิเยร์ถูกไล่ออกจากการเป็นตำรวจในปี 2018 หลังถูกกล่าวหาพัวพันในคดีอาชญากรรมในสลัมแห่งหนึ่งย่านลาซาลีน (La Saline) ที่ว่ากันว่า มีผู้เสียชีวิต 71 ราย เหยื่อหญิงสาวที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 7 ราย และบ้านเรือนไฟไหม้อีก 400 หลัง

“เขาคืออาชญากรในคราบนักธุรกิจ” 

หลุยส์ อองรี มารส์ (Louis-Henri Mars) ผู้อำนวยการกลุ่ม Lakou Lapè องค์กรสันติภาพในเฮติ อธิบายตัวตนอาชญากรรายนี้ผ่านเดอะการ์เดียน (The Guardian) โดยเล่าว่า ในปี 2020 เขาและองค์กรสันติภาพรายอื่นเดินทางไปพบเชริซิเยร์ เพื่อขอให้เขาหยุดโจมตีย่านเบลแอร์ (Bel Air) ในปอร์โตแปรงซ์ แต่ปรากฏว่า เดอะบาร์บีคิวยังระรานเผาบ้านประชาชนตาดำๆ และสนใจแค่ผลประโยชน์ของตนเองเพียงอย่างเดียว

บทสรุปหลังจากนี้: เฮติจะจบลงอย่างไร?

ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยกับการกลายเป็นสังคมบ้านป่าเมืองเถื่อน 

อนาคตของเฮติต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร?

อาจกล่าวได้ว่า เฮติกำลังยืนอยู่ตรงทางแยกระหว่าง ‘เดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย’ หรือ ‘ถอยหลังเป็นสังคมอนาธิปไตย’ โดยที่ไม่ได้มีแค่ปัจจัยทางการเมืองภายในเป็นตัวชี้ชะตากรรม แต่บทบาทของมหาอำนาจและโลกภายนอกยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ฟรองซัว ปิแอร์ หลุยส์ (Francois Pierre-Louis) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหานครนิวยอร์ก (City University of New York) แสดงความคิดเห็นผ่านสำนักข่าวเอพี (AP) ว่า สหรัฐฯ และกลุ่มนานาชาติไม่ปล่อยให้เฮติมีอำนาจตัดสินใจโดยตนเอง สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศที่มักถูกแทรกแซงจากโลกภายนอกเสมอ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มประชาสังคมภายในประเทศไม่เข้มแข็ง เพราะไม่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง

ด้าน โรเบิร์ต แฟตตอน (Robert Fatton) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเฮติ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ระบุว่า การแทรกแซงจากภายนอกไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น โดยยกตัวอย่างปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็นเมื่อปี 2004-2007 ว่า นำมาสู่หายนะสำคัญของชาติ แต่ยูเอ็นกลับไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไรเลย

ขณะที่นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) คาดเดาว่า ความช่วยเหลือจากภายนอกมีความเสี่ยงสูง หากคำนวณจำนวนกองกำลังจากต่างชาติ ได้แก่ ชาด, บาฮามาส, บังคลาเทศ, เบนิน และเคนยา ซึ่งรวมกันจำนวน 2,000 นาย อาจไม่เพียงพอปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายถึง 200 กลุ่ม

ทว่าสิ่งที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรควรทำ คือการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเฮติพัฒนากลยุทธ์ระยะยาวสำหรับการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม โดยใช้กลไกของ UNSC ซึ่งต้องเริ่มจากตอนนี้ หากจะทำให้สถาบันทางการเมืองและสังคมเฮติยั่งยืนในระยะยาว ด้วยกำลังคนและทรัพยากรทางการเงิน

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าการเมืองในเฮติจะมีบทสรุปอย่างไร แต่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า สถานการณ์นี้จะไม่มีใครเป็นฝ่ายได้เปรียบ-เสียเปรียบไปกว่ากัน หรือแย่กว่านั้นคือจบแบบ ‘No-Win Situation’

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2024/mar/10/haiti-gang-boss-kingpin-barbecue-jimmy-cherizier

https://www.aljazeera.com/news/2024/3/7/haiti-extends-state-of-emergency-as-violence-and-displacement-soar

https://www.forbes.com/sites/zacharyfolk/2024/03/11/who-are-the-g9-family-and-allies-armed-gang-alliance-terrorizes-haiti-after-jailbreak/?sh=69b79dda7bc7

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-68540753

https://www.aljazeera.com/news/2023/10/3/why-kenya-volunteered-to-lead-un-mission-to-haiti

https://thestandard.co/haiti-101-america-most-poorest-country/

https://www.dw.com/en/chaos-in-haiti-whats-causing-it-and-can-it-be-stopped/a-68505372

https://www.csmonitor.com/World/Americas/2021/0330/The-battle-for-democracy-goes-on-in-Haiti-as-Moise-gains-power

https://apnews.com/article/caribbean-united-nations-haiti-puerto-rico-a907efcd4a1b6f4c29bcc7a17f2b4900

Tags: , , , , , ,