1.

“ในสงคราม คุณรู้ว่าใครจะยิงคุณ ซึ่งผมรู้สึกแบบนั้นในเฮติ”

คำกล่าวของอดีตทหารผ่านศึกสหรัฐอเมริกา ที่กลับบ้านเกิดในเฮติ แล้วเห็นสิ่งที่ไม่คิดว่าเขาจะได้เห็นอีก ปัจจุบันนี้เฮติ ประเทศในดินแดนอเมริกากลาง เกาะใหญ่ที่อยู่ติดกับสาธารณรัฐโดมินิกัน กำลังเผชิญกับโรคระบาดที่ชื่อว่าอหิวาตกโรค เรียกแบบภาษาโบราณคือโรคห่า ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นอีกแล้วในยุคนี้

แต่ในเฮติ โรคห่ากลับแพร่ระบาดกลืนกินหลายชีวิต ทั้งที่การแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ยากอะไรเลย เพียงแค่ทำให้น้ำดื่มสะอาดเท่านั้น แต่ในเฮติ กลับเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ภายใต้ความผันผวนของการเมือง ความรุนแรงบนท้องถนนจากอันธพาลที่เป็นก๊กแก๊งสุดสยอง ความยากจน

เฮติจึงเหมือนบ้านป่าเมืองเถื่อน ฝันร้ายในชีวิตจริง ที่มีประชากรตัวเองเป็นผู้รับเคราะห์อย่างแสนสาหัส

ความวุ่นวายของประเทศนี้ อาจจะชี้นิ้วได้ไม่ยาก แต่หากมองให้ไกลไปกว่านั้น เพื่อนบ้านอย่างโดมินิกันกลับมีทุกอย่างพร้อมกว่าเฮติอย่างมาก ความแตกต่างเกิดขึ้นเพียงเพราะพรมแดนหรือ

บางทีสิ่งที่ควรย้อนมองให้ลึกและมองไปไกล ควรจะขยับเวลาท่องอดีตไปมากกว่านั้น เฮติ บ้านป่าเมืองเถื่อนในโลกปัจจุบันนี้ อาจเป็นผลพวงของบาดแผลจากยุคอาณานิคมก็เป็นได้

 

2.

มองย้อนอดีตไปไม่กี่ปี ความวุ่นวายของเฮติ เกิดขึ้นเมื่อปี 2021 คนร้ายที่เป็นทหารรับจ้างจากอเมริกาใต้ ได้บุกเข้าลอบฆ่าประธานาธิบดีโฌเวแนล โมอิส (Jovenel Moïse) ถึงในบ้านพักกลางเมืองหลวงกรุงปอร์โตแปรงซ์ เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของความผันผวนทั้งหมด

ที่จริงแล้วเฮติเป็นประเทศที่ความอลหม่านทางการเมืองสูงมาก เคยมีเผด็จการยึดอำนาจปกครองประเทศอย่างยาวนาน มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง มีผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร มีผู้นำที่กลับมาครองอำนาจต่อแล้วโดนชาติมหาอำนาจเขี่ยทิ้ง และล่าสุดก็คือมีประธานาธิบดีที่ถูกยิงตาย

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันชื่อว่า แอเรียล อองรี (Ariel Henry) ซึ่งยังรักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย ก็เพิ่งรอดจากการถูกลอบฆ่ามาได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ทางอองรีเองนั้น ก็เป็นผู้นำแบบที่สภาไม่ได้ให้การรับรอง ความมั่วๆ แบบนี้ สร้างความปั่นป่วนทางการเมืองอย่างมาก เพราะคนเฮติก็แบ่งออกเป็นสองฝ่าย กลุ่มแรกก็เชียร์อองรีในฐานะผู้นำของประเทศ อีกกลุ่มคือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับอองรี ค้านไม่ชอบเขา ซึ่งพอประเทศแบ่งเป็นแบบนี้ สถานการณ์ก็วุ่นวายทันที

เฮติมีปัญหาเรื่องแก๊งอันธพาลมานานหลายปีแล้ว พอการเมืองปั่นป่วน สุญญากาศทางอำนาจก็เกิดขึ้น ทำให้แก๊งอันธพาลได้ทีเข้ากุมอำนาจนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับอองรี และชนชั้นนำในเฮติที่อาศัยช่วงวุ่นวายขนส่งสินค้า สร้างรายได้งามในตลาดมืด

ทางตำรวจที่ควรจะทำหน้าที่จัดการพวกแก๊ง และจัดการสินค้าในตลาดมืดกลับปล่อยเกียร์ว่าง ไม่ทำอะไรเลย เพราะถูกมองว่าอยู่ฝ่ายรัฐบาล ที่สำคัญคือแก๊งอันธพาลพวกนี้ไม่ใช่เล่นๆ ไล่ยิงตำรวจไปหลายรายแล้วด้วย ดังนั้นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จึงถอดเครื่องแบบเป็นประชาชนอยู่เงียบๆ ปลอดภัยจะดีกว่า

ยิ่งเมื่อแก๊งอันธพาลเข้ากุมอำนาจในสลัมใหญ่สุดของเฮติ ซึ่งมีประชากรกว่า 3 แสนคน การกวาดล้างสงครามระหว่างแก๊งจึงเกิดขึ้นเป็นอาทิตย์ มีคนตายหลายร้อย สมาชิกแก๊งได้เผาบ้าน ผู้หญิงถูกข่มขืนเพื่อสร้างความเขย่าขวัญในความหฤโหดนี้ เรื่องสยดสยองทั้งการไล่ยิงไลฆ่าไล่ย่ำยี ทำให้คนหลายพันต้องออกมานอนริมถนน กลายเป็นผู้ลี้ภัยในแผ่นดินเมืองหลวงของตัวเอง

ความเลวร้ายยังไม่จบ เฮติมักจะซวยซ้ำซ้อนแบบนี้เสมอ เมื่ออองรีขึ้นราคาเชื้อเพลิง ทำให้คนเดือดร้อน เพราะมันสะเทือนการทำมาหากิน ในประเทศที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชน คนจึงเดือดดาลอย่างมาก ก่อการประท้วง จนใกล้เข้าสู่แดนวิปโยคอย่างมาก

มิหนำซ้ำศัตรูของอองรีก็ส่งสัญญาณให้แก๊งอันธพาลบุกยึดท่าเรือ ขวางการส่งเชื้อเพลิงเข้าประเทศ ซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์วิกฤตไปกว่าเดิม เพราะประเทศนี้ต้องพึ่งน้ำมันดีเซล เมื่อไม่มีเชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมันก็ไร้ค่า ระบบการจัดเก็บขยะในเมืองก็ระส่ำระสาย จากปกติที่จะเห็นถุงขยะกองอยู่ตามถนน คราวนี้ยิ่งอลหม่านกว่าเดิม

เมื่อปั๊มน้ำใช้ไม่ได้ ทำให้น้ำไม่เพียงพอ อีกทั้งทางการก็ส่งน้ำไปให้ชาวบ้านไม่ได้ เพราะอันธพาลขวาง ชาวบ้านก็ต้องกินน้ำตามมีตามเกิด นั่นทำให้โรคห่าที่เฮติเคยปราบและยุติการแพร่ระบาดมาได้หลายปี เมื่อไม่มีน้ำสะอาดให้คนดื่ม มันก็กลับมาอีก และทำให้คนตายป่วยจำนวนมาก เพราะแพทย์ก็เข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ เพราะโดนแก๊งระยำพวกนี้ขวาง

“พวกเขาขโมยแม้แต่รถฉุกเฉิน”

ชาวบ้านจำนวนมากก็ไม่อยากเสี่ยงไปหาหมอแม้จะป่วยแค่ไหนก็ตาม ไม่ใช่เพียงเพราะโรงพยาบาลมันไกลและมีน้อยเท่านั้น แต่เพราะการเดินมั่วๆ สั่วๆ อาจไปเจอแก๊งอันธพาลยิงทิ้ง หรือเป็นผู้หญิงก็ถูกข่มขืนได้ ตอนนี้ชาวเฮติต้องคอยดูแลกันเอง เพราะถ้าไม่มีใครทำ ตายหมู่กันหมดแน่ มีหญิงสาวคนหนึ่งต้องหนีออกจากบ้าน หลังเพื่อนบ้านกระซิบว่า หัวหน้าแก๊งอันธพาลจะมาข่มขืนเธอ

ช่างเป็นโลกที่โหดร้ายอย่างมาก บ้านป่าเมืองเถื่อนของจริง

อย่างไรก็ดี แม่บางคนก็ต้องยอมฝ่าความเสี่ยงพาลูกไปหาหมอ แม้จะเป็นช่วงกลางคืน ซึ่งในเฮติถือว่าอันตรายยิ่งกว่าป่าดงดิบเสียอีก หมอพยาบาลในโรงพยาบาลยังรู้กันเลยว่า ตอนกลางคืนไม่มีอะไรให้ตรวจ เพราะคนไม่กล้าออกบ้าน ดังนั้นงานตอนเช้าจะเยอะเป็นพิเศษ

การพาเด็กไปโรงพยาบาลหลังป่วยโรคท้องร่วงจากอหิวาตกโรค ก็สุดแสนลำบาก ประชาชนตาดำๆ ต้องเดินเลียบกำแพง หากไปเดินกลางถนน อาจโดนลูกปืนจากสงครามระหว่างแก๊งยิงเข้าใส่ได้ และการเดินชิดกำแพง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่โดนลูกหลง เพราะก็มีคนบาดเจ็บล้มตายไปเยอะ

ความหดหู่น่าสิ้นหวังแบบนี้ เป็นเพียงการย้อนเวลาแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น  แต่เอาเข้าจริงเฮติอาจเป็นประเทศที่ดีกว่านี้ หากไม่ถูกรังแกจากชาติมหาอำนาจที่สร้างบาดแผลในยุคอาณานิคมอย่างเจ็บปวด ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนไปเกือบ 300 ปีเลยทีเดียว แต่แผลนี้ยังคงสดอยู่เสมอ ไม่เคยจางหายไปไหน

 

3.

ในปี 1791 กลุ่มทาสในเฮติได้ลุกฮือล้มทหารฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งการก่อตั้งประเทศได้นั้น ถือว่าแจ๋วแล้ว แต่พวกเขายังเป็นสาธารณรัฐของทาสผิวดำอีกด้วย ซึ่งทหารฝรั่งเศสที่มาปราบก็รับบัญชาจากจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต แต่ก็ยังเอาชนะไม่ได้ด้วยอีกในปี 1804 ด้วย นั่นทำให้เฮติจึงเป็นประเทศอย่างภาคภูมิในเวทีระดับโลกทันที หาใช่เมืองขึ้นอาณานิคมดังเดิมอีกแล้ว

ในอดีตนั้น เฮติมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีไร่กาแฟ มีระบอบค้าขายทาสอย่างเป็นธุรกิจล่ำซำ แต่แม้จะจัดการขับไล่ฝรั่งเศสไปได้ พวกเขาก็ยังต้องเผชิญกับการกดขี่ เพราะแม้พวกเขาจะก่อกบฏล้มระบอบทาสในประเทศตัวเองได้สำเร็จ แต่การที่มีคนผิวดำปกครองประเทศ แล้วประกาศเอกราชปลดแอกอาณานิคมนั้น ทำเอาสหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยมากๆ 

สาเหตุนั้นเกิดจากวุฒิสมาชิกจากรัฐตอนใต้ที่ยังมีระบอบทาสอยู่ ไม่สนับสนุนเฮติ เพราะกลัวว่าหากทาสผิวดำในรัฐตอนใต้รู้ข่าว ก็จะลุกฮือล้มล้างระบอบทาสในอเมริกาไปด้วย

เฮติจึงลำบากเสียแล้ว เพราะไม่มีชาติมหาอำนาจไหนรับรองเอกราชของตัวเอง เพราะไม่อยากให้อาณานิคมเมืองขึ้นอื่นๆ เอาตามอย่าง ชนชาติเฮติก็รู้ดีว่า วันหนึ่งจะต้องถูกชำระแค้นแน่นอน แม้จะเตรียมตัวอย่างไรก็คงไม่พอ และในปี 1825 ฝรั่งเศสก็ได้ฤกษ์ขนกองเรือมหึมาแบบเลือดขึ้นหน้ามาเยือนอดีตอาณานิคม ก่อนจะยื่นคำขาดนิ่มๆ ให้เฮติจ่ายเงินให้ฝรั่งเศสเป็นค่าประกาศเอกราชด้วย

ทั้งนี้ คำขาดนั้นชัดเจนคือถ้าเฮติไม่ยอม ก็ให้กองเรือถล่มบุกประเทศนี้ในฐานะศัตรูไปเลย

รอบนี้ฝรั่งเศสไม่ได้แค่เรียกแค่นี้ พวกเขาเห็นว่าวงเงินที่ให้เฮติจ่ายนั้น มันเกินงบประมาณของอดีตอาณานิคมไปเยอะโข ชนิดขูดรีดกันทีเดียว ฝรั่งเศสจึงยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเฮติไปกู้เงินธนาคารของฝรั่งเศสมาจ่ายหนี้แทนได้ด้วย

เรียกได้ว่าฝรั่งเศสได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ได้เงินจากเฮติไม่พอ ยังได้กินดอกเบี้ยเงินกู้ที่เฮติต้อง(โดนบังคับ)กู้มาจ่ายค่าประกาศเอกราช ที่สำคัญเฮติเป็นประเทศเดียวในโลกใบนี้ ที่ลูกทาส จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับทายาทนายทาสด้วย!

ช่างเป็นอะไรที่บ้าบอมากๆ

เงินพวกนี้ไหลเข้ากระเป๋าชนชั้นนำ เชื้อพระวงศ์ในยุโรป ไม่เพียงเท่านั้น ฝรั่งเศสยังครอบงำทางเศรษฐกิจของเฮติเต็มรูปแบบ ทั้งการคุมเรื่องส่งออกเพาะปลูกเมล็ดกาแฟ การเก็บเงินกู้สบายๆ จนทำให้ธนาคารแห่งหนึ่งได้เงินทุนร่ำรวย จนเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการสร้างหอไอเฟลอีกด้วย

ดังนั้นทุกครั้งที่เห็นหอไอเฟล จงจำไว้ว่า มันคือมรดกเลือดที่คนเฮติในอดีตต้องจ่ายชดใช้อย่างมหาศาล นับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนไม่อาจเอาเงินมาใช้สร้างระบบสาธารณสุข สาธารณูปโภค ถนน มหาวิทยาลัย โรงเรียนได้เลย เพราะเงินเป็นจำนวนมากของงบประมาณต้องเจียดจ่ายค่าประกาศเอกราช และดอกเบี้ยเงินกู้

ที่สำคัญเหล่าชนชั้นนำเฮติที่ร่ำรวยก็ยอมให้เกิดเรื่องนี้ เพราะเงินกู้ที่เอามาจ่ายนั้น บางทีก็ถูกยัดเข้ากระเป๋าตัวเองด้วย เรียกได้ว่าฝรั่งเศสโกงแบบถูกกฎหมายไม่พอ ชนชั้นนำเฮติเองก็ยังทรยศประเทศอีกด้วย แถมการตั้งธนาคารแห่งชาติ ก็ยังอยู่ในอำนาจฝรั่งเศส เรียกได้ว่าการชดใช้เงินหมด ก็ใช้เวลาหลายสิบปี

แต่วิกฤตยังไม่หมดเท่านี้ เพราะอเมริกาเห็นฝรั่งเศสสนุกมือกับเฮติแบบนี้ จึงร่วมย่ำยีด้วย

 

4.

เหล่านายธนาคารอเมริกาเห็นฝรั่งเศสกอบโกยผลประโยชน์แบบกินยาวของเฮติก็อยากร่วมแจมด้วย พวกเขาเริ่มล็อบบี้รัฐบาลให้ครองอำนาจนำในเฮติแทนฝรั่งเศส จนทำเนียบขาวและสภาส่งนาวิกโยธินไปยึดครองเฮติไว้ในปี 1914 ในฐานะปฏิบัติการทหาร อ้างว่าเพื่อสร้างเสถียรภาพในเฮติ และสกัดกั้นภัยเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนฝรั่งเศสนั้นติดพันสงคราม ก็ไม่ซีเรียสกับอเมริกาเท่าไหร เพราะกินนิ่ม อิ่มมาหลายปีแล้ว

จากฝรั่งเศส ก็ถึงคิวอเมริกาก็มาย่ำยีเฮติต่อ ก่อนจะถอนทหารไปในปี 1934 นับเป็นปฏิบัติการทหารยึดครองที่ยาวนานสุดของสหรัฐ แต่พวกเขายังมีบทบาททางการเงินและระบบเศรษฐกิจของเฮติอีกกว่า 13 ปี

อเมริกามาคราวนี้ ได้ส่งตัวแทนเข้าไปในธนาคารแห่งชาติ และให้กู้เงินจากแบงก์อเมริกามาใช้จ่ายงบประมาณ เรียกได้ว่ารอกินดอกเบี้ยนิ่มๆ เหมือนฝรั่งเศสอีกแล้ว แต่โหดกว่า นั่นก็เพราะ นาวิกโยธินอเมริกาได้บังคับเกณฑ์ชาวบ้านไปทำงานสร้างถนน เพื่อขนส่งเมล็ดกาแฟ โดยให้ค่าแรงแสนกระจอก ใครต่อต้านลุกฮือ ประท้วงก็ยิงทิ้งนับพันคน ที่สำคัญอเมริกาสั่งให้เฮติแก้รัฐธรรมนูญให้ต่างชาติถือครองที่ดินได้ แน่นอนว่านักการเมืองต่อให้ขายชาติยังไง ก็ไม่โง่ให้ตัวเองยกมือผ่านกฎหมายนี้หรอก

ดังนั้นสหรัฐฯ จึงยุบสภาทิ้ง เลิกรัฐธรรมนูญและเขียนใหม่ บัญญัติว่าต่างชาติต้องถือครองที่ดินในเฮติได้

ฝรั่งเศสว่าแย่แล้ว อเมริกาเลวร้ายกว่าเดิม เฮติสะบักสะบอมอย่างมาก เรียกได้ว่าเกือบ 300 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเจอแต่เรื่องเลวร้ายสุดๆ ผลของมันก็คือ เฮติถูกปราบถูกทำลาย มีแต่ความปั่นป่วนอลหม่าน ช่วงการเมืองนิ่งๆ ก็มีเพียงไม่กี่ปี ซึ่งมองจากประวัติศาสตร์ระยะยาว ก็จะเห็นว่ามันมีผลกระทบจนถึงปัจจุบันด้วย

ที่ผ่านมามีผู้นำเฮติที่มาจากการเลือกตั้ง พยายามเรียกร้องเงินค่าประกาศเอกราชคืนจากฝรั่งเศส ผลก็คืออยู่ดีๆ ก็มีกบฏเกิดขึ้นในเฮติ จนผู้นำต้องหนีออกนอกประเทศและสละอำนาจ ตามคำแนะนำของฝรั่งเศสและอเมริกา โดยพวกเขายืนยันว่าอะไรมันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ซึ่งมหาอำนาจได้ปลอบใจแบบข่มขู่ว่า

“เรื่องอดีตให้เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์เถอะ”

 

5.

ทั้งหมดนี้คือความเลวร้ายที่เฮติเผชิญหน้ามาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ มีเอกราช จนถึงทุกวันนี้บ้านป่าเมืองเถื่อนนี้ก็ยังน่ากลัว และดูไม่น่าฟื้นโดยเร็ว สิ่งที่น่าเศร้าและความสยดสยองในประเทศนี้จะยังคงหลอกหลอนไปอีกนาน ไม่น่าจะเห็นทางออกในเร็ววันนี้แน่

นี่จึงถือเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมาก เฮติประเทศที่ควรจะเจริญก้าวหน้ากว่านี้ กลับลงเอยแสนตรองตรม ประวัติศาสตร์บาดแผล จึงไม่ใช่เรื่องของอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อปัจจุบันด้วย ไม่ว่าจะจากใครก็ตาม การชำระมันจึงเป็นการเผชิญหน้าความจริง และค้นพบสาเหตุความเลวร้ายของประเทศตัวเองอีกด้วย

ความโหดร้ายจากอดีต ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีประชาชนเป็นผู้รับผลกระทบเต็มๆ ไร้ซึ่งทางออกในอนาคต หากจะสรุปสถานการณ์เฮติได้ในประโยคเดียวนั้น ก็คงต้องยกคำพูดจากตัวแทนของสหประชาชาติที่บอกไว้ว่า

“นี่ไม่ใช่วิกฤติทางมนุษยธรรมแล้ว …มันเลวร้ายกว่านั้นมาก”

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. https://www.nytimes.com/2022/11/19/world/americas/haiti-cholera-gang-violence.html?campaign_id=9&emc=edit_nn_20221127&instance_id=78653&nl=the-morning&regi_id=133553334&segment_id=114327&te=1&user_id=9f4172e6f598f64f625d347bf52e765c
  2. https://www.nytimes.com/2022/05/20/world/americas/haiti-history-colonized-france.html
  3. https://www.nytimes.com/2022/05/20/world/french-banks-haiti-cic.html
  4. https://www.nytimes.com/2022/05/20/world/haiti-wall-street-us-banks.html
Tags: , , , ,