สืบเนื่องจากงาน ‘HACK’ งบประกันสังคม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 นำโดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, วรภพ วิริยะโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน, สหัสวัต คุ้มคง สส.จังหวัดชลบุรี พรรคประชาชน และรักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาฯ พร้อมด้วยประชาชนที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบงบประมาณ ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลด้านการบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม เพื่อเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ
ภายหลังการตรวจสอบของภาคประชาชนพบว่า สำนักงานประกันสังคมตั้งงบประมาณในการจัดทำปฏิทินประกันสังคมเพื่อการประชาสัมพันธ์ในแต่ละปีระหว่าง 50-70 ล้านบาท ดังนี้
– ปี 2559 ผลิตปฏิทินโดยใช้วิธีเลือกผู้รับผิดชอบในการจัดทำแบบกรณี ‘พิเศษ’ กล่าวคือ มีการจ้างผลิตผ่านหน่วยงานของรัฐ โดยชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ชนะราคาที่ 75.91 ล้านบาท
– ปี 2560 ผลิตปฏิทินโดยใช้วิธีเลือกผู้รับผิดชอบในการจัดทำแบบกรณี ‘พิเศษ’ เช่นเดียวกันกับปี 2559 ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ชนะราคาที่ 76 ล้านบาท
– ปี 2562 ผลิตปฏิทินโดยใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) โดย บริษัท ยูไนเต็ด โปรดักชั่น เพรส จำกัด เป็นผู้ชนะในการประกวดราคาที่ 53.45 ล้านบาท
– ปี 2564 ผลิตปฏิทินโดยใช้วิธีเลือกผู้รับผิดชอบในการจัดทำแบบ ‘เฉพาะเจาะจง’ โดยชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด กลับมาชนะราคาที่ 54.31 ล้านบาท
– ปี 2565 ผลิตปฏิทินด้วยวิธีแบบคัดเลือก โดยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นผู้ชนะราคาที่ 54.98 ล้านบาท
– ปี 2566-2567 สำนักงานประกันสังคมยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
รวมระยะ 8 ปีที่ผ่านมา (2559-2565) สำนักงานประกันสังคมใช้งบประมาณไปกับการประชาสัมพันธ์หน่วยงานด้วยปฏิทินราว 450 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนตามการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานประกันสังคม (TOR) แบ่งได้ 2 ราคาตามประเภท โดยปฏิทินประเภทตั้งโต๊ะมีต้นทุนการผลิตราว 40 บาท ส่วนปฏิทินประเภทแขวนมีต้นทุนการผลิตราว 20 บาท
ทั้งนี้รักชนกซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการผลิตปฏิทินให้ความเห็นว่า ปฏิทินประเภทแขวนของสำนักงานประกันสังคมที่มีการออกแบบโดยเน้นรูปภาพบุคคลบนปฏิทินให้มีขนาดใหญ่กว่าข้อมูลวัน เดือน ปี ในปฏิทินเป็นการออกแบบเพื่อประหยัดต้นทุน ดังนั้นต้นทุนการผลิตต่อเล่มอาจอยู่ในหลักสิบบาทเท่านั้น
ภาคประชาชนยังตรวจสอบเส้นทางของปฏิทินที่ทำการผลิตเสร็จสิ้น ซึ่งจะถูกส่งต่อไปยังสภาแรงงาน เพื่อรับผิดชอบในการแจกจ่ายให้กับผู้ประกันตนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามพบว่า ปฏิทินของสำนักงานประกันสังคมจำนวนหนึ่งถูกประกาศขายบนแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ในหลากหลายราคา จึงมีความเป็นไปได้ว่า เจ้าหน้าที่ส่วนกลางอาจนำปฏิทินไปขายต่อ
สำหรับงบประมาณในการผลิตปฏิทินเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานประกันสังคมที่มีอยู่ 336 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.3 ของงบประมาณทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 5,303 ล้านบาท ซึ่งภาคประชาชนชี้ว่า ในองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีการใช้งบประมาณ เพื่อการประชาสัมพันธ์ที่ไม่นับรวมการทำการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 0.5-2.5 ต่อรายได้ ในกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานของรัฐ การใช้งบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์จะอยู่ที่ร้อยละ 0.1-1.2 เท่านั้น จึงแปลได้ว่า สำนักงานประกันสังคมให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์มากพอสมควร
ชลิต รัษฐปานะ บอร์ดประกันสังคม ระบุว่า นอกเหนือจากปฏิทิน สำนักงานประกันสังคมยังมีการประชาสัมพันธ์ทั้งในรูปแบบแผ่นพับ สั่งจัดทำเสื้อผ้า หมวก กระทั่งจัดพิมพ์วารสาร เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ประกันตน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ของการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวเป็นอย่างไร
Tags: SSO Conect, ‘HACK’ งบประกันสังคม, ภาษี, สำนักงานประกันสังคม, ประกันสังคม, เงินผู้สูงอายุ, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, คณะก้าวหน้า, สวัสดิการถ้วนหน้า, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี, รักชนก ศรีนอก, พรรคประชาชน, SSO+