วันที่ 8 กุมภาพันธ์​ที่ผ่านมา กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (MIO) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (TACDB) ได้จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบ 7 วันหลังรัฐประหารพม่า เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการเกิดรัฐประหาร ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับพรรคเอ็นแอลดี และนางอองซานซูจี

โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านพม่า อาทิ นฤมล ทับจุมพล กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า, อรรวี แตงมีแสง เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Natty in Myanmar, อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสุภัตรา ภูมิประภาส จากกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอาท์

The Momentum ได้สรุปใจความสำคัญของแต่ละประเด็นไว้ ดังนี้

กองทัพไม่ยอมรับว่า ‘เอ็นแอลดี’ ได้รับความนิยมมากขึ้น

นฤมล ทับจุมพล กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ระบุว่า เหตุผลที่ทางกองทัพพม่ากล่าวหาว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก เพราะกองทัพต้องการกดดันคณะกรรมการเลือกตั้ง และต้องการที่จะตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งใหม่ โดยข้อหาที่กองทัพกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่ ‘สกปรก’ มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1. การที่พรรคเอ็นแอลดีถ่ายรูปคู่กับรูปนายพล ออง ซาน (บิดาของอองซานซูจี และบิดาแห่งพม่าในปัจจุบัน) เพราะนายพล ออง ซาน ไม่ใช่สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี 2. คณะกรรมการเลือกตั้งมีปัญหาในการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งกองทัพมองว่าไม่สุจริต แต่คนที่สังเกตการณ์ในพม่าขณะนั้นมองว่าไม่ได้เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้งเท่าที่กองทัพวิจารณ์ ด้านข้อหาที่ อองซานซูจี โดนคือ ข้อหานำเข้าวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับการอนุญาต ไม่ผ่านการจดทะเบียนโดยกองทัพ ทั้งที่เป็นอุปกรณ์ความมั่นคงที่ต้องได้รับการอนุญาต ซึ่งเหตุผลนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเลือกตั้ง

ดังนั้น สาเหตุหลักของการทำรัฐประหารมาจากการที่พรรคเอ็นแอลดีได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และอองซานซูจีเก่งในเรื่องการจัดการ แม้ว่าจะมีเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหลายข้อที่ไม่สามารถทำได้ แต่อองซานซูจีกลับหาทางทำได้ เช่น รัฐบาลพลเรือนไม่ได้คุมกระทรวงกลาโหม ไม่ได้คุมกิจการชายแดน ไม่ได้คุมกระทรวงมหาดไทย แต่ในแง่เศรษฐกิจ ในแง่สาธารณสุข อองซานซูจี ได้อนุญาตให้ผู้ว่าการรัฐสามารถตัดสินใจกำหนดนโยบาย และโครงการเศรษฐกิจได้เอง แม้แต่เป็นรัฐชาติพันธุ์ ก็สามารถกำหนดนโยบายเองได้ 

ทั้งหมดนี้ ทำให้กองทัพรู้สึกว่า แม้กองทัพจะคุมด้านความมั่นคง แต่เศรษฐกิจที่อยู่ในพื้นที่ความมั่นคงยังเป็นของเอ็นแอลดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอาสาสมัครพรรคเอ็นแอลดี ที่เข้าไปช่วยเรื่องโควิด-19 จากแต่เดิมที่กองทัพมักมีบทบาทเป็นพระเอก คอยแก้ปัญหาเรื่องภัยพิบัติน้ำท่วม แผ่นดินไหว แต่ตอนนี้กลับมีอาสาสมัครไปทำแทน

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า พม่าช่วงหลังมักจะเห็นภาพผู้นำอองซานซูจีกับกองทัพเดินไปด้วยกัน ร่วมมือกัน แต่การเมืองมีความก้าวหน้าในแบบของตัวเองตลอดเวลา สิ่งที่คนพม่ารู้มาตลอด คือการที่ทหารควบคุมการเมืองภายในประเทศเมียนมา แต่เมื่อพรรคเอ็นแอลดีเข้ามามีบทบาท จึงเกิดการแย่งชิงอำนาจภายในกัน ส่งผลให้กองทัพค่อยๆ สูญเสียอำนาจการควบคุมทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพยอมไม่ได้  นี่จึงเป็นเงื่อนไขหลักที่ทำให้กองทัพต้องทำรัฐประหาร และต้องทำตอนนี้ เพราะสูญเสียอำนาจของการจัดการ

ขณะที่ สุภัตรา ภูมิประภาส ตัวแทนจากกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอาท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กองทัพสูญเสียอำนาจมาจากการที่กองทัพประเมินรัฐบาลเอ็นแอลดีต่ำไป เพราะการที่รัฐบาลของอองซานซูจี เข้ามาบริหารประเทศอย่างเต็มที่ ส่งผลให้มีความนิยมมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กองทัพคิดว่าคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคเอ็นแอลดีน่าจะน้อยลง เพราะมีหลายฝ่ายที่ไม่พอใจในเรื่องโรฮีนจา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ แต่พรรคเอ็นแอลดีกลับชนะการเลือกตั้ง แล้วการที่กองทัพจะยอมให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่ออีก 5 ปี เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ เพราะรัฐบาลพลเรือนก็ต้องหยั่งรากด้านความมั่นคงมากกว่าเดิม จึงไม่มีทางอื่นเลยต้องเลือกรัฐประหาร

พลังโซเชียลมีเดีย ‘ปลุกม็อบ’ 

นฤมลกล่าวว่า ช่วงปี ค.ศ. 1988 คนพม่าก็ออกมาชุมนุมประท้วงเช่นเดียวกับในตอนนี้ แต่หากถามว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย สนใจไหม เขาไม่สนใจ สิ่งที่กองทัพให้ความสนใจคือนักธุรกิจ ภายหลังการทำรัฐประหาร กองทัพได้เชิญเหล่าพวกนักธุรกิจมานั่งคุย เหมือนการแถลงนโยบายเศรษฐกิจว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งขณะนี้คนที่ออกมาส่วนมากเป็นพวกคนชนชั้นกลาง เพราะไม่อยากกลับไปอยู่ชีวิตแบบเดิมหลังจากที่ลืมตาอ้าปากได้ไม่นาน

อรรวี แตงมีแสง เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Natty in Myanmar กล่าวเสริมว่า คนพม่ารุ่นปัจจุบัน ไม่อยากกลับไปมีชีวิตยากลำบากแบบที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยเจอ เพราะตอนนี้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น จึงไม่อยากกลับไปอยู่ในจุดที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอีกแล้ว

“ตอนนี้คนที่ออกมาประท้วงไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ แต่ยังมีคนรุ่นเก่าด้วย เพราะไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ต้องมาเจอในแบบที่เขาเคยเจอ ตอนนี้คนที่ออกมาประท้วงคือมีทุกรุ่น ทุกอาชีพ แม้กระทั่งลูกเขย นายพลตานฉ่วย ก็ออกมาชูสามนิ้ว” 

ด้านอรรคณัฐ แสดงความคิดเห็นว่า  สิ่งที่เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองในพม่าไปอย่างชัดเจนคือ ‘โซเชียลมีเดีย’ ที่สร้างการมีส่วนร่วม ให้สามารถแชร์รูป แชร์คลิป และไลฟ์สดเหตุการณ์แบบ Real Time ได้ทันที จนกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองแบบใหม่  

หวั่นการชุมนุมประท้วง จบลงด้วยเหตุ ‘นองเลือด’ 

อรรคณัฐกล่าวว่า ขณะนี้มีอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกคือ การที่ประชาคมโลกพยายามกดดันประเทศเมียนมา ซึ่งก็ต้องให้ความหวังไว้กับการกดดัน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าทหารพม่าจะไม่สนใจ 

“แต่ประเด็นที่น่าจับตามองคือ ปฏิกิริยาของประชาชนว่า มีอะไรใหม่ๆ ที่ออกมาสร้างแรงเสียดทานทางธุรกิจ และทางโครงสร้างไหม เพราะพวกนักธุรกิจสามารถเปลี่ยนข้างได้เสมอ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เดินสายเรียกคนเข้าพบ เพื่อสอบถามว่านักธุรกิจคิดอย่างไร เพราะก็มีนักธุรกิจหลายคนที่ชอบการเปิดประเทศ” 

นฤมล กล่าวว่า ภาพของการต่อสู้ได้เปลี่ยนไปแล้ว นี่คือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลถึงตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และคนพม่าแห่กันซื้อคนซิม 2Fly จากไทย เพื่อเปิดใช้งานโรมมิงในประเทศ โดยส่วนตัวคิดว่าคราวนี้ ถ้าทหารจะอยู่ต่อ ก็อยู่ได้ไม่ง่าย แต่เขาอาจจะคิดสูตรเหมือนรัฐบาลไทยก็ได้ เช่น ตุลาการภิวัฒน์ การยุบพรรค บัตรเขย่ง นี่อาจเป็นสูตรที่อาจจะเจอ และการต่อสู้ยังไม่จบเร็วๆ นี้แน่นอน ขึ้นอยู่ว่าแต่ละฝ่ายใครจะยืดเยื้อทนได้นานกว่ากัน ฝ่ายที่อยู่ในอำนาจรัฐก็คงต้องรีบจัดการองคาพยพที่ให้เร็วที่สุด ส่วนฝ่ายต่อต้านไม่มีอาวุธก็ต้องดูว่าเขาจะดึงกลุ่มอื่นเข้ามากดดันได้มากแค่ไหน

“เมื่อทหารตัดสินทำรัฐประหาร นั่นแปลว่ากองทัพคิดมาดีแล้ว ไม่มีทางยอมออกไปง่ายๆ ส่วนตัวจึงมองโลกในแง่ร้าย ไม่คิดว่าทหารจะไปในเร็วๆ นี้ ที่น่ากังวลมากที่สุดคือ อาจจบด้วยการปราบปราบแบบรุนแรง” นฤมลทิ้งท้าย

Tags: , , ,